ม.มหิดล คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรียนแล็บจำลองเสมือนจริง (Simulation Lab) ลดการใช้สัตว์ทดลอง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2564

ม.มหิดล คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรียนแล็บจำลองเสมือนจริง (Simulation Lab) ลดการใช้สัตว์ทดลอง

อ่านแล้ว 116 ครั้ง   
 
ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2564  

ม.มหิดล คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เรียนแล็บจำลองเสมือนจริง (Simulation Lab) ลดการใช้สัตว์ทดลอง


วันที่ 24 เมษายน ของทุกปี ตรงกับ ’วันสัตว์ทดลองโลก’ (World Day for Laboratory Animals) ซึ่งก่อตั้งโดย National Anti-Vivisection Society แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นองค์กรที่รณรงค์ต่อต้านการใช้สัตว์ทดลองระดับโลก 

อาจารย์ ดร. นายแพทย์กิตติพงศ์ ไพบูลย์สุขวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรมและบริการวิชาการ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) กล่าวในฐานะคณะกรรมการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าเนื่องจากในการทำวิจัยทางคลินิกที่ได้มาตรฐานจำเป็นต้องใช้สัตว์ทดลองในการทดสอบ ก่อนนำไปใช้กับมนุษย์ ซึ่งการใช้สัตว์ทดลองนั้นจะต้องเป็นไปตามหลัก 3R คือ Reduction ใช้สัตว์ทดลองแต่เท่าที่จำเป็น Refinement ใช้สัตว์ทดลองอย่างมีเมตตาธรรม และ Replacement ให้พยายามใช้วิธีการอื่นแทนการใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งหากเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ นอกจากจะได้ผลการวิจัยที่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้เกิดความเชื่อมั่น และปลอดภัยอีกด้วย

การเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ห้องปฏิบัติการจำลองเสมือนจริง (Simulation Lab) หรือ ’Sim Lab’ เป็นแนวทางที่สามารถลดการใช้สัตว์ทดลองได้เช่นกัน โดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มใช้การเรียนการสอนแบบ Sim Lab ที่ภาควิชาสรีรวิทยา โดย รองศาสตราจารย์บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา ผู้บุกเบิกด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศของคณะฯ ได้คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการเรียนการสอนแบบ Sim Lab สำหรับสอนนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ของคณะฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เพื่อศึกษาสรีรวิทยาการหดตัวของกล้ามเนื้อน่องกบ และการเคลื่อนไหวของลำไส้ของกระต่ายตอบสนองต่อยาชนิดต่างๆ และได้พัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมมาอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อการเรียนการสอนของภาควิชาฯ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์

รองศาสตราจารย์บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล เล่าว่า สมัยก่อนที่ยังไม่มี Sim Lab นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจะต้องเรียนวิชาปฏิบัติการจากการใช้สัตว์ทดลองจริง โดยต้องใช้เวลามากพอสมควรในการเตรียมสัตว์ทดลองและเตรียมเครื่องมือที่จะใช้ในการทดลอง อีกทั้งชั่วโมงในการทดลองมีจำกัดในแต่ละคาบการเรียน ทำให้บางครั้งทำการทดลองไม่ทัน ตนจึงได้คิดพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองการทดลองแทนการปฏิบัติการจริง โดยนักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ในทุกสถานที่และทุกเวลา สามารถลดอุปสรรคจากข้อจำกัดทางจริยธรรม และต่อยอดเพื่อเป็นต้นแบบให้นำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนแบบ Sim Lab สำหรับห้องปฏิบัติการอื่นๆ ได้อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงวรวรรณ กิจผาติ หัวหน้าภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางภาควิชาฯ มีนโยบายหลักในการจัดการเรียนการสอนเป็น ’Student Center’ ที่เน้นให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ Sim Lab ดังกล่าวจะมีการประเมินเพื่อปรับปรุงโปรแกรมและรูปแบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลประเมินความพึงพอใจ และความรู้ความเข้าใจของผู้เรียน พบว่าผู้เรีบนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 86 ซึ่งเคล็ดลับการเรียนการสอนแบบ Sim Lab อยู่ที่การมีวินัยของผู้เรียนที่ต้องศึกษาและทบทวนเนื้อหามาก่อน รวมทั้งเรียนรู้การใช้โปรแกรมและทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังเป็นความท้าทายสำหรับผู้สอนที่จะต้องปรับวิธีการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ไม่แตกต่างจากการใช้สัตว์ทดลองจริง ซึ่งทำให้สามารถลดจำนวนการใช้สัตว์ทดลองได้และลดระยะเวลาในการเรียนรู้ลงหากท่านใดที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาเพื่อเป็นแนวทางได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/labphysio

ขอบคุณข้อมูลจากงานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป 
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad