ส่งออกเม.ย.พุ่งต่อ บวก 13.09% โตสูงสุดรอบ 3 ปี รวม 4 เดือนเพิ่มเกินเป้า 4.78% - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ส่งออกเม.ย.พุ่งต่อ บวก 13.09% โตสูงสุดรอบ 3 ปี รวม 4 เดือนเพิ่มเกินเป้า 4.78%

img

ส่งออกเม.ย.ทำได้ดีต่อเนื่อง มูลค่า 21,429.27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 13.09% เติบโตสูงสุดในรอบ 36 เดือน ส่วนยอดรวม 4 เดือน เพิ่ม 4.78% เผยทั้งสินค้าและตลาดมีการขยายตัวชัดเจน หลังเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้นตัว “จุรินทร์”ยังใจแข็ง ไม่ปรับเป้าส่งออก ขอทำงานร่วมเอกชนลุยเพิ่มยอดให้ได้มากที่สุดต่อ พร้อมสั่งลุยเจรจาเปิดตลาดรัสเซีย ตะวันออกกลาง เร่งทำเอฟทีเอ มินิเอฟทีเอ
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.2564 มีมูลค่า 21,429.27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.09% เป็นการขยายตัวเติบโตสูงสุดในรอบ 36 เดือน นับจากเม.ย.2561 และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกที่เป็นภาคการผลิตจริงจะขยายตัวได้สูงถึง 25.70% และการนำเข้ามีมูลค่า 21,246.79 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.79% เกินดุลการค้ามูลค่า 182.48 ล้านเหรียญสหรัฐ
           
ส่วนการส่งออกรวม 4 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 85,577.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.78% ซึ่งเติบโตเกินไปกว่าเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 4% แล้ว และหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัยออก การส่งออกจะเพิ่มขึ้นถึง 11.58% และการนำเข้ามีมูลค่า 84,879.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.85% เกินดุลการค้ามูลค่า 698.14 ล้านเหรียญสหรัฐ
         
สำหรับสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ผักและผลไม้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง สินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และสินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ)
         
ทางด้านตลาดส่งออก ขยายตัวสูงเกือบทุกตลาด และหลายตลาดขยายตัวในระดับสูง สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการค้าโลก รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามความคืบหน้าในการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประเทศคู่ค้า และแรงสนับสนุนจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยตลาดหลักเพิ่ม 15.8% ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เพิ่ม 9% , 2.7% และ 52.5% ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 18.8% เช่น จีน เพิ่ม 21.9% เอเชียใต้ เพิ่ม 149.9% และ CLMV เพิ่ม 44.3% แต่อาเซียน 5 ประเทศ ลด 4.4% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 47.8% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 39.1% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 82.3% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 25.3% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 50.1% และตะวันออกกลาง เพิ่ม 65.7%
         
นายภูสิตกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะเห็นภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเกือบทุกหมวดสินค้า การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่เริ่มฟื้นตัวตามราคาส่งออก และความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สูงขึ้น แผนการกระจายวัคซีนโควิด-19 ที่มีความหลากหลาย เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นด้านการผลิตและการบริโภค และกระทรวงพาณิชย์ยังมีกิจกรรมสนับสนุนการส่งอออก เช่น การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายออนไลน์ การเร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออก และการยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสินค้าของไทย
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกขณะนี้ถือว่าดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะปี 2564 ตัวเลขเดือนม.ค.2564 เป็นบวก เดือนมี.ค.2564 บวกถึง 8.47% และเม.ย.2564 บวกอีก 13.09% เป็นการบวกสูงสุดในรอบ 3 ปี ทั้งหมดนี้ เกิดจากความร่วมมือในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ทำให้ปัญหาอุปสรรคหลายอย่างที่ขัดข้องสามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการเปิดด่านเร่งรัดการค้าชายแดน การแก้ปัญหาส่งออกบริเวณด่านเวียดนามกับจีน การแก้ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการผลักดันให้เรือขนาดใหญ่ 400 เมตรเข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง

ส่วนการปรับเป้าหมายการส่งออกที่ตั้งไว้ที่ 4% ในปี 2564 ยังไม่จำเป็นต้องปรับเป้า แต่ได้มอบนโยบายการทำงานไปแล้ว จะต้องจับมือกับภาคเอกชน และทำตัวเลขให้ได้เกินเป้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จนสุดความสามารถ และได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศ จับมือภาคเอกชนเร่งเปิดตลาดใหม่ เช่น รัสเซีย และตะวันออกกลาง รวมทั้งเร่งทำเอฟทีเอกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สหราชอาณาจักร (ยูเค) และประเทศอื่นๆ รวมทั้งเร่งรัดมินิเอฟทีเอกับมณฑลไห่หนานของจีน รัฐเตลังกานาของอินเดีย และพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

“ขณะนี้การส่งออก ถือเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จะเรียกว่าเป็นพระเอกก็ได้ เพราะเป็นเครื่องยนต์เดียวที่มีผลเป็นรูปธรรมที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจะมีผลในการทำให้จีดีพีของไทยในปี 2564 เป็นบวกได้”นายจุรินทร์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad