ส่งออกมี.ค.64 พุ่ง 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ส่งออกมี.ค.64 พุ่ง 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

img

ส่งออกมี.ค.64 พุ่ง 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ส่งออกมี.ค.64 มูลค่า 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่ม 8.47% สูงสุดในรอบ 28 เดือน เผยหลายสินค้าทำสถิติส่งออกสูงสุด ทั้งรถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และหลายตัวฟื้นต่อเนื่อง ตลาดส่งออกก็เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด คาดแนวโน้มยังดี หลังเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าฟื้น มั่นใจเป้าปีนี้ 4% ได้แน่ ส่วนจะปรับเป้าใหม่หรือไม่ รอ “จุรินทร์” เคาะ
         
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนมี.ค.2564 มีมูลค่า 24,222.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกที่ทำมูลค่าได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัว 8.47% เป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 28 เดือนนับจากเดือนพ.ย.2561 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 23,511.65 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 14.12% เกินดุลการค้า 710.80 ล้านเหรียญสหรัฐ และภาพรวมการส่งออกไตรมาสแรกของปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 64,148.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.27 การนำเข้า มีมูลค่า 63,632.37 เพิ่มขึ้น 9.37% เกินดุลการค้า 515.66 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย การส่งออกเดือนมี.ค.2564 ขยายตัวถึง 11.97% สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) และไตรมาสแรกปี 2564 การส่งออกเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และอาวุธออก ขยายตัวที่ 7.61%
         
โดยในเดือนมี.ค.2564 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกเพิ่มขึ้น 8.5% หลายรายการที่ส่งออกได้ดีขึ้น และทำมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 3,040 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 43.1% ผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 50.6% เม็ดพลาสติก มูลค่า 1,013.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 52.9% และยังมีสิค้าที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เพิ่ม 34.8% เคมีภัณฑ์ เพิ่ม 27% ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ทอคำ ลด 81.5% อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ (เครื่องบินโดยสาร) ลด 96.9% ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ ลด 94.1% ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ลด 15.5%   
         
ส่วนสินค้าเกษตร ส่งออกเพิ่มขึ้น 6.5% สินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น ยางพารา เพิ่ม 109.2 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 59.2% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 41.4% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เพิ่ม 5.8% สินค้าที่หดตัว เช่น น้ำตาลทราย ลด 60.6% ข้าว ลด 40.5% ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ลด 20.3% สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ ลด 16.7% 
       

ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ และสินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
         
ด้านตลาดส่งออก มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด สะท้อนการค้าโลกฟื้นตัว โดยตลาดหลัก เพิ่ม 12.3% จากการเพิ่มขึ้นของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป 7.2% , 4.6% และ 32% ตามลำดับ ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 7.6% เช่น จีน เพิ่ม 35.4% เอเชียใต้ เพิ่ม 24.3% CLMV เพิ่ม 2% แต่อาเซียน 5 ประเทศ ลด 2.4% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 12% เช่น ทวีปออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา และทวีปแอฟริกา เพิ่ม 16.9% , 11.9% และ 11.2% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS เพิ่ม 2.1% แต่ตะวันออกกลาง ลด 0.5%
         
นายภูสิตกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกยังคงมีทิศทางขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น กองทุนการเงินระหว่างระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2564 ว่าจะขยายตัว 6.0% จากเดิม 5.5% เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของสหรัฐฯ และการเร่งแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก และยังคาดว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยจะปรับตัวดีขึ้น เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 6.4% จีน เพิ่ม 8.4% ญี่ปุ่น เพิ่ม 3.3% และประเทศในทวีปยุโรป เพิ่ม 4.4% ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ระดับ 55.0 สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ช่วยสนับสนุนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน
         
“สนค.ประเมินการส่งออกยังดีอยู่ จะเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ต้องติดตามดู แต่เท่าที่ประเมิน น่าจะเป็นบวกได้ต่อเนื่อง และตัวเลขทั้งปี น่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 4% เพราะถ้าส่งออกได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 19,624 ล้านเหรียญสหรัฐ จะโต 4% ถ้าเฉลี่ย 20,134 ล้านเหรียญ จะโต 6% และ 20,391 ล้านเหรียญสหรัฐ จะโต 7% แต่จะปรับเป้าส่งออกหรือไม่ ต้องเป็นระดับนโยบาย ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะหารือร่วมกับภาคเอกชน และทูตพาณิชย์ เพื่อประเมินก่อน แล้วนำมาประมวลผลอีกทีว่าจะปรับเป็นเท่าไร อย่างไร แต่ถ้าดูหลายๆ หน่วยงาน ตอนนี้ แบงก์ชาติและสภาพัฒน์ ก็ได้มีการปรับเป้าหมายการส่งออกแล้ว”นายภูสิตกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad