เอสซีจีขานรับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ เร่งพัฒนานวัตกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนตามแนวทาง ESG - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เอสซีจีขานรับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ เร่งพัฒนานวัตกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนตามแนวทาง ESG

 เอสซีจีขานรับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ  เร่งพัฒนานวัตกรรมสีเขียวอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนตามแนวทาง ESG     

โลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงมากมายในช่วงเกือบ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา หน้าตาของโลกที่พวกเรารู้จักเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนน่าตกใจเพราะสิ่งแวดล้อมถูกทำลายมากขึ้น สวนทางกับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เติบโต ปัญหาภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ (Climate Emergency) ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติในขณะนี้


เพราะคนทุกคนได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า บ่อยครั้งที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักเนื่องจากภัยธรรมชาติหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

Christian Aid องค์กรไม่แสวงผลกำไรจากอังกฤษเคยออกมาเตือนว่าระดับน้ำทะเลที่สูงมากขึ้นจากภาวะโลกร้อนซึ่งจะเห็นชัดได้มากขึ้นตั้งแต่ปี 2045 อาจทำให้เมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกรวมทั้งกรุงเทพมหานครของประเทศไทยเสี่ยงจมใต้ทะเลได้หากไม่ช่วยกันสกัดกั้นและบรรเทาปัญหาโลกร้อนให้ดีกว่านี้ ซึ่งองค์การสหประชาชาติให้ข้อมูลว่าทุก 1 องศาเซลเซียสที่โลกร้อนขึ้นจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 100 ล้านคนและในปี 2050 ประชากรโลกจะต้องสูดอากาศที่ไม่มีคุณภาพที่ดีเพียงพอเข้าร่างกายสูงถึง 75% ต่อวัน ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เราเคยเจอมา

 


ปัญหาโลกร้อนจึงถือเป็นเรื่องใหญ่และด่วนที่สุด ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องขยับตัว

ทั่วโลกประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ หรือ Climate Emergency เพื่อเรียกร้องให้ทุกคนร่วมมือแก้ไขปัญหาของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังตั้งแต่ปลายปี 2016 และเมื่อสิ้นปี 2020 ที่ผ่านมา มีรัฐบาลท้องถิ่นกว่า 1,800 แห่งจาก 33 ประเทศพร้อมใจผลักดันทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนให้ร่วมมือกันก่อนที่จะสายจนเกินไป โดยดำเนินการตาม พันธกิจเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูปัญหาโลกร้อนจับต้องได้มากขึ้นและมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ผลักดันโดยสหประชาชาติมาเป็นแนวทางสำคัญ เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ส่งเสริมวัฒนธรรมบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนที่นอกจากจะบริหารงานอย่างโปร่งใส จัดการความเสี่ยงได้ดีแล้วยังต้องดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวหรือ ESG (Environmental, Social and Governance) อีกด้วย

“การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องรีบจัดการและให้ความสำคัญ เอสซีจีจึงตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเดินหน้าสู่องค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 เพื่อสนับสนุนการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวลและแหล่งพลังงานทดแทน ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้สูงขึ้น และเร่งวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมสินค้า บริการ และโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่าในทุกกลุ่มธุรกิจ พร้อมนำมาตรการด้านเศรษฐศาสตร์กำหนดราคาคาร์บอนภายในองค์กร (Internal Carbon Pricing) มาสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนในโครงการที่มีส่วนช่วยลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งฟื้นฟูพื้นที่ป่าผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่โรงงานกว่า 660 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ” นี่คือความตั้งใจของเอสซีจีที่ ‘ธนวงษ์ อารีรัชชกุล’ ประธานร่วมคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวถึงการขับเคลื่อนธุรกิจของเอสซีจีต่อจากนี้ไปสู่แนวทาง ESG อย่างมุ่งมั่น โดยเฉพาะการรับมือกับภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศอย่างเต็มที่



เห็นได้ชัดจากการมุ่งพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การรณรงค์การจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง และการใช้เทคโนโลยีรีไซเคิลเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ อาทิ การพัฒนาและเปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์ของยูนิลีเวอร์จากพลาสติกชนิด HDPE เป็นพลาสติก HDPE รีไซเคิล (rHDPE) ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ โดยใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin – PCR) ภายใต้แบรนด์ เอสซีจี กรีน พอลิเมอร์ (SCG Green PolymerTM) เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม 

เทคโนโลยีรีไซเคิลพลาสติก Advanced Recycling Process ซึ่งเป็นนวัตกรรมรีไซเคิลขั้นสูงที่เปลี่ยนพลาสติกที่ใช้แล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี ด้วยกระบวนการที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำมาใช้ผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการสะสมของปริมาณขยะพลาสติกในประเทศมีที่มากถึง 2 ล้านตันต่อปีได้ และเมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมาได้มีการตั้งโรงงานทดสอบการผลิต หรือ Demonstration Plant แห่งแรกในประเทศไทยที่จังหวัดระยอง มีกำลังการผลิต 4,000 ตันต่อปีและมีแนวโน้มขยายการผลิตมากขึ้นในอนาคต ถือเป็นแนวคิดที่ครบทั้งกระบวนการตลอดห่วงโซ่คุณค่า สอดคล้องกับทิศทาง “ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน” ที่นำแนวคิด SDGs และ ESG มาเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ธุรกิจ โดยมีกลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืนอย่างที่ตั้งใจ



ในส่วนของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ธุรกิจ เคมิคอลส์ เอสซีจี ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตรวมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Supervisory) ทางด้านการจัดการพลังงาน มาช่วยวิเคราะห์ตัวแปรสำคัญในกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อเสริมความสามารถให้หน่วยการผลิตเห็นโอกาสลดการใช้พลังงานและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา

นอกจากนี้ การเปลี่ยนวิถีการใช้พลังงานของมนุษย์จากการเผาผลาญเชื้อเพลิงแบบเดิมมาเป็นพลังงานสะอาด เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยแก้วิกฤตสภาพอากาศได้ ซึ่ง SCG ส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยพัฒนาเป็นนวัตกรรมโซลูชันที่ครอบคลุมในทุกมิติ แม้แต่บนผืนน้ำก็สามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ เมื่อกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมพลาสติกได้พัฒนา SCG Floating Solar Solutions ทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงสำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขึ้นเป็นรายแรกของประเทศไทย เพื่อแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าที่นำไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจทั้งภาคอุตสาหรกรรมและภาคการเกษตรได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุน บริหารจัดการพื้นที่ผิวน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างโอกาสทางธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ขณะที่กลุ่มธุรกิจซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่มีความเชี่ยวชาญระบบโซลาร์บนหลังคาตัวจริงก็พัฒนา SCG Solar Roof Solutions สำหรับติดตั้งบนหลังคาบ้าน อาคารและโรงงาน เหมาะสำหรับเจ้าของบ้านหรือผู้ประกอบการที่ต้องการลดรายจ่ายค่าไฟฟ้า ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นนวัตกรรมที่คุ้มค่ากับการลงทุนและยังใช้ประโยชน์พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอย่างเหลือเฟือ

ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์อย่าง SCGP ก็ตระหนักถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การซื้อสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้งานบรรจุภัณฑ์และการขนส่งเติบโตอย่างก้าวกระโดด จึงคิดค้นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยที่ยังใช้งานได้สะดวก มีประสิทธิภาพสูง นั่นคือ R-1 บรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์แบบอ่อนที่ทำจากฟิล์มประกบติดกันหลายชั้นโดยใช้วัสดุชนิดเดียวกัน แต่ละชั้นทำหน้าที่แตกต่างกันเช่น การพิมพ์ กันความชื้น ป้องกันแรงกระแทก ทำให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างสมบูรณ์ โดยเป็นที่ยอมรับของภาคการผลิตและนำไปใช้ในบรรจุภัณฑ์ของอาหารและผลิตภัณฑ์ชั้นนำหลากหลายแบรนด์



นอกจากการปรับตัวในระดับองค์กรแล้ว เอสซีจียังริเริ่มโครงการเกษตรปลอดการเผา หรือ Zero Burn เพื่อรับซื้อผลผลิตเหลือทิ้งจากเกษตรกรทั้งฟางข้าว ใบอ้อย และซังข้าวโพด เพื่อนำมาอัดแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลขนาดเล็กแต่มีความหนาแน่นสูง สามารถขนส่งในจำนวนมากเพื่อใช้เป็นพลังงานในหม้อเผาของโรงงานปูนซีเมนต์ ซึ่งโครงการนี้ช่วยลดการเผาไร่ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่เป็นภัยต่อสุขภาพ รวมทั้งยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนไปพร้อมกับการแก้ปัญหาโลกร้อนที่ทำได้จริงและทำได้ทันที

นี่เป็นเรื่องเล่าบางส่วนของสิ่งที่เอสซีจีได้เร่งปรับตัวเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาจากภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศที่ท้าทายมากขึ้นทุกวัน เชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนในการร่วมกันดูแลโลกใบนี้และนำไปสู่บริบทใหม่ของโลกธุรกิจที่ต้องใส่ใจต่อหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน เร่งคิดเพื่อทำสิ่งใหม่ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและรักษาสมดุลของโลกใบนี้ไปด้วยกัน

ติดตามรายละเอียดนวัตกรรมสินค้าและบริการของ SCG ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและร่วมดูแลโลกจากวิกฤตสภาพอากาศได้ที่ :https://www.scg.com/climate-emergency

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad