สตาร์ทอัพไทยคว้า SEED AWARD เอาชนะผู้สมัครกว่า 1,000 รายจากทั่วโลก ด้วยการแก้ปัญหาขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่น - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สตาร์ทอัพไทยคว้า SEED AWARD เอาชนะผู้สมัครกว่า 1,000 รายจากทั่วโลก ด้วยการแก้ปัญหาขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่น

สตาร์ทอัพไทย Moreloop ซึ่งช่วยแก้ปัญหาขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยการนำผ้าค้างสต็อกมาใช้ประโยชน์ ได้รับรางวัล SEED Low Carbon Awards (SEED Awards) โดย SEED องค์กรซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระดับโลก ซึ่งประกอบด้วย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ  (UNDP) และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)

Moreloop ก่อตั้งในปี 2561 โดยนายอมรพล หุวะนันทน์ และนางสาวธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ เพื่อลดการทิ้งผ้าส่วนเกินที่เหลือจากการผลิต ด้วยการนำไปขายให้แก่นักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นหรือเอสเอ็มอี เพื่อแปลงสภาพเป็นสินค้าเพื่อขายให้กับองค์กรธุรกิจรายใหญ่ ในปี 2564 Moreloop ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 317,001 กิโลกรัม จากการแปลงสภาพผ้า 60,000 หลา ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 180,000 ชิ้น นอกจากนี้ ร้อยละ 70 ของผู้บริหาร Moreloop เป็นผู้หญิง ซึ่งทำธุรกิจร่วมกับบริษัทคู่ค้าที่ส่วนใหญ่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหาร กล่าวได้ว่า Moreloop เป็นธุรกิจที่ส่งเสริมศักยภาพของสตรี ทั้งนี้ การสนับสนุนจาก SEED จะช่วยให้ Moreloop สามารถทดสอบการขายสินค้าที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ของตนเองบนตลาดออนไลน์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาค

ผู้ประกอบการไทยอีก 4 รายที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจาก SEED Awards ได้แก่

  • Happy Grocers ส่งเสริมวิธีทำการเกษตรแบบยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ (Organic) เกษตรแบบยั่งยืน (Permaculture) การเก็บพืชผักมาแค่พอบริโภค (foraging) การทำฟาร์มแนวดิ่ง และการทำฟาร์มโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
  • Carenation สร้างสรรค์พวงหรีดกระดาษและพวงหรีดดิจิทัล บริการออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับงานศพเพื่อสนับสนุนชุมชนและสังคมไทย
  • Find Folk บริการครบวงจรเพื่อการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน
  • GooGreens แพลตฟอร์มบริหารจัดการขยะที่ช่วยให้คนทั่วไปนำขยะมาขายและแลกคะแนนสะสมเป็นเงินสดหรือบัตรของขวัญ

Rita Schwarzelühr-Sutter รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของ SEED Low Carbon Awards กล่าวว่า “ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมและรายย่อย มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีผู้ประกอบจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ดังนั้น รางวัล SEED Awards ที่ได้รับคือเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี โดยจะมอบเครื่องมือเพื่อพัฒนาธุรกิจ  ความรู้ และเครือข่ายที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพที่ก่อตั้งธุรกิจสามารถขยายผลลัพธ์เพื่อสร้างผลสำเร็จต่อชุมชนและสังคมในวงกว้างได้อย่างเต็มความสามารถ”

ระหว่างพิธีมอบรางวัลซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ ณ เวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) SEED จะนำเสนอผลวิจัย ‘Green Recovery Snapshot’ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาล ผู้บริจาค และผู้ให้บริการทางการเงินมุ่งเน้นให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ MSME เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 เนื่องจาก MSME มีส่วนในการสร้างงานราว 7 ใน 10 ตำแหน่งในตลาดแรงงานของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในขณะที่กลุ่ม MSME ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมยังก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมผ่านผลิตภัณฑ์และบริการตลอดการดำเนินธุรกิจโดยรวม ทำให้ MSME มีบทบาทอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

ผู้ได้รับรางวัล SEED Awards จะได้รับเงินทุนสนับสนุน 10,000 – 15,000 ยูโร (ประมาณ 382,000 – 573,000 บาท) และจะได้รับบริการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวเป็นเวลาสูงสุดหนึ่งปีเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม SEED Accelerator อันเลื่องชื่อ และเพื่อสอดคล้องกับหลักการในการ “มอบรางวัลแก่ผู้เป็นเลิศ และสนับสนุนผู้เข้ารอบ” รองชนะเลิศทั้ง 39 คนจะได้เข้าร่วมอบรมในโปรแกรม SEED Catalyser เพื่อช่วยปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ และพัฒนาความพร้อมด้านการลงทุน

Rainer Agster ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ SEED กล่าวเสริมว่า “ผลงานที่เข้าร่วมชิงรางวัล SEED Award ในปีนี้มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก และขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะทั้ง 9 ราย และรองชนะเลิศอีก 39 ราย SEED หวังว่าสตาร์ทอัพที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการสนับสนุนจาก SEED Awards จะเป็นแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้กับสตาร์ทอัพในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ในปีนี้ เราได้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพ 48 ราย ผ่านโปรแกรม SEED Awards และหลายร้อยรายภายใต้โปรแกรมอื่นๆ ของ SEED อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอีกหลายพันรายซึ่งทำหน้าที่ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ดี ซึ่งสามารถส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าเมื่อได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม  ดังนั้นเราจึงอยากให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีบทบาททางการเงินพิจารณาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น และเริ่มจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้”

คุณศุภพิมพ์ วัณโณภาศ ผู้ประสานงานของ SEED ในประเทศไทย กล่าวว่า “Moreloop แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการรายย่อยมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย ด้วยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการสร้างตลาดสำหรับสิ่งทอส่วนเกิน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดการฝังกลบขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างตลาดที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้นด้วยการทำงานร่วมกับธุรกิจที่บริหารงานโดยสตรี SEED รู้สึกภูมิใจที่ได้ให้การสนับสนุน Moreloop ตลอดจนผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากประเทศไทย ได้แก่ Happy Grocers Carenation Find Folk Co. และ GooGreens เพื่อแสดงให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยรายอื่น ๆ ได้เห็นว่าธุรกิจคาร์บอนต่ำสามารถสร้างทั้งผลกำไรและความยั่งยืนไปพร้อม ๆ กัน”

สำหรับรางวัล SEED Awards ประจำปี 2564 สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมชิงรางวัลร้อยละ 69 มีอายุระหว่าง 18-35 ปี และร้อยละ 52 เป็นสตาร์อัพที่บริหารงานโดยผู้หญิง นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2548 SEED Awards ได้มอบรางวัลแก่ผู้ประกอบการมาแล้วทั้งสิ้น 311 ราย ใน 40 ประเทศ และมอบเงินทุนสนับสนุนรวมทั้งหมดกว่า 1 ล้านยูโร ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมชนะรางวัล SEED Awards แต่ละรายมีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉลี่ย 7,300 ตัน ผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่า 9,399 กิโลวัตต์ และทำให้เกิดการจ้างงานจำนวน 28.4 งาน โดยร้อยละ 32 เป็นแรงงานในกลุ่มผู้ด้วยโอกาสทางเศรษฐกิจ

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ชนะและรองชนะเลิศ อ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของ SEED

เกี่ยวกับ SEED Award

SEED Awards for Entrepreneurship in Sustainable Development (SEED Awards) ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขยายธุรกิจผ่านการให้ทุน คำแนะนำด้านกลยุทธ์ การเข้าถึงนักลงทุน และการสร้างโปรไฟล์ทั่วโลก รางวัล SEED Low Carbon Awards ประจำปี 2564 ในประเทศกานา อินเดีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ ไทย และยูกันดา ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติและความปลอดภัยนิวเคลียร์ของเยอรมัน (BMU) ภายใต้ International Climate Initiative (IKI) และรางวัล SEED Climate Adaptation ประจำปี 2564 ในประเทศมาลาวี แซมเบีย บอตสวานา ได้รับการสนับสนุนจาก รัฐบาลแคว้นเฟลมิช (Government of Flanders)

เกี่ยวกับ SEED

SEED เป็นความร่วมมือระดับโลกในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเศรษฐกิจสีเขียว

SEED ก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ในการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2545 ณ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก SEED เชื่อว่าผู้ประกอบการเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

โครงการสนับสนุนผู้ประกอบการของ SEED ในทวีปเอเชียและแอฟริกาสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก และกำลังเติบโตโดยให้การสนับสนุนด้านธุรกิจและการเสริมสร้างศักยภาพ ด้วยโปรแกรมระบบนิเวศของบริษัทที่มุ่งเน้นเครื่องมือด้านนโยบาย การเงิน และความร่วมมือที่เพิ่มผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของการเป็นผู้ประกอบการ

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.seed.uno

Twitter | LinkedIn | Facebook  | Instagram

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad