ACT ค้านตั้ง ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ขึ้นผู้ตรวจการอัยการ เหตุต้องคดีอาญาเมาแล้วขับรถชนผู้อื่นแล้วหนี หวั่นสร้างมลทิน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ACT ค้านตั้ง ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ขึ้นผู้ตรวจการอัยการ เหตุต้องคดีอาญาเมาแล้วขับรถชนผู้อื่นแล้วหนี หวั่นสร้างมลทิน

 


ACT  ค้านตั้ง ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ขึ้นผู้ตรวจการอัยการ เหตุต้องคดีอาญาเมาแล้วขับรถชนผู้อื่นแล้วหนี หวั่นสร้างมลทิน  กลายเป็นเสาหลักปักขี้เลน กระทบศรัทธาต่อองค์กร และกระบวนการยุติธรรม  

เมื่อวันที่ 13 .. 2564 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เผยแพร่เอกสารแสดงความคิดเห็นกรณี การแต่งตั้งอัยการระดับสูง โดยเฉพาะกรณีที่อัยการสูงสุด ได้มีหนังสือถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งมติการประชุมคณะกรรมการอัยการว่า เห็นชอบในการเลื่อนนายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรีขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการอัยการ ตั้งแต่ 1 ต.ค.63  เป็นต้นไป  โดยเนื้อหาในเอกสารระบุ ดังนี้

ฤ จะเป็นเสาหลักปักขี้เลน”

เป็นเรื่องอันตรายและน่าเศร้าสลดมากต่ออนาคตของบ้านเมือง หากสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ดำรงอยู่เป็นเสาหลักความยุติธรรมที่มั่นคงยืนหยัดให้ประชาชน แต่กลับโอนเอนเป็นเสาหลักปักขี้เลนเพราะพวกพ้องและผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงหลักการและเกียรติยศ จากกรณีการผลักดันแต่งตั้งอัยการระดับสูงขึ้นเป็น “ผู้ตรวจการอัยการ” ทั้งๆ ที่ถูกดำเนินคดีอาญาเพราะขับรถยนต์ในขณะมึนเมาแล้วชนผู้อื่น แต่เรื่องการแต่งตั้งยังไม่แล้วเสร็จเพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ล่าสุดเมื่อ 2 สิงหาคม 2564 อัยการสูงสุดได้มีจดหมายถึงเลขาธิการ ครม.   ให้กราบบังคมทูลฯ อีกครั้ง โดยให้การแต่งตั้ง มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เงื่อนไขนี้จะส่งผลให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น “รองอัยการสูงสุด” ในเดือนกันยายนนี้

ความโปร่งใสที่ไม่เป็นธรรม คือ ความกล้าที่หยามเกียรติยิ่งกว่า!

เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2562 อัยการระดับสูงท่านนี้ได้ขับรถยนต์ในขณะมึนเมาเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์และไม่หยุดลงมาช่วยเหลือ แต่มีชาวบ้านขับรถติดตามไปทัน ตำรวจตั้งข้อหาขับขี่รถขณะเมาสุราหรือของมึนเมาเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายแก่กายจิตใจ ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน ขับรถเฉี่ยวชนแล้วหลบหนี และกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี ยื่นฟ้องเฉพาะความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา โดยสั่งไม่ฟ้องข้อหาชนเเล้วหนี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 จึงทำความเห็นแย้ง   แต่อัยการสูงสุดชี้ขาดยืนตามอัยการจังหวัด จำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญาและให้คุมประพฤติ 1 ปีโดยต้องไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง (ยังไม่มีข้อมูลว่ากรณีนี้ได้รับประโยชน์จาก พรฎ. พระราชทานอภัยโทษฯ เมื่อ 28 กรกฎาคม 2564 ด้วยหรือไม่) อัยการไม่ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ขณะที่ทางผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มีความเห็นแย้งให้ยื่นอุทธรณ์คดีขอให้ลงโทษสถานหนัก สุดท้ายอัยการสูงสุดชี้ขาดไม่อุทธรณ์คดีจึงยุติ

         

เลือกปฏิบัติ หรือ ยุติธรรมคุณธรรม อยู่ที่ไหน?

ผลจากคดีที่ฟ้องร้อง อัยการท่านนี้ยังถูกลงโทษทางวินัยให้ว่ากล่าวตักเตือน ซึ่งฟังดูธรรมดามากที่ทำผิดแล้วโดนว่ากล่าวตักเตือน แต่มันเบามากเมื่อเทียบกับกรณีอัยการเมาแล้วกร่างให้ตำรวจพาไปร้านลาบ เมื่อปี 2560 กรณีนี้ไม่มีความผิดอาญาไม่ได้ถูกศาลพิพากษา ต้องถูกลงโทษไม่เลื่อนตำแหน่งนาน 2 ปี เพราะถือว่าทำผิดวินัยฐานกระทำการที่อาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ค. 2553 มาตรา 64 ประกอบมาตรา 74

อย่างนี้ ยึดหลักเท่าเทียมหรือเลือกปฏิบัติ!

ทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้เกี่ยวอะไรหรือไม่กับการที่อัยการอาวุโสท่านนี้เป็นหนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบกรณีอดีตรองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีบอสกระทิงแดง  

รัฐธรรมนูญมาตรา 76 และแผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ วางหลักให้การแต่งตั้งข้าราชการยุคใหม่ต้องยึดถือหลักระบบคุณธรรม หากองค์กรใดฝืนแต่งตั้งบุคคลที่มีมลทินมัวหมองเป็นผู้บริหารระดับสูง ย่อมเท่ากับสร้างบรรทัดฐานขึ้นมาใหม่ แล้วสังคมจะยอมรับและศรัทธาผู้บริหารและองค์กรนั้นได้อย่างไร

จึงเกิดคำถามว่า ผู้ใหญ่ในสำนักงานอัยการสูงสุดกำลังคิดอะไร มีเบื้องหลังหรือไม่และต้องถามอัยการทั่วประเทศว่า ท่านพร้อมแล้วที่จะเห็นภาพและบอกกับสังคมว่า คนที่ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมความประพฤติเพราะข้อหาเมาแล้วขับรถชนผู้อื่นแล้วหนีคือ … ผู้บังคับบัญชาของท่าน! ท่านพร้อมแล้วใช่ไหมที่จะบอกกับทุกคนว่า  ความผิดเช่นนี้สำหรับผู้ใหญ่ถือเป็นความผิดเล็กน้อย แต่หากเกิดขึ้นกับคนทั่วไปจะตัดสินว่าโทษมหันต์น่าอับอาย

เมื่อเสาหลักปักอยู่ในขี้เลน … สังคมจะพึ่งพาเสาได้หรือ?

อัยการ” คือเสาหลักในการปกป้องผลประโยชน์ของแผ่นดิน เป็นที่พึ่งพิงของประชาชนเมื่อเกิดคดีความ        จึงต้องชัดเจนในความถูกต้องตรงไปตรงมา ต้องประพฤติตนด้วยมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมขั้นสูง ยิ่งผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจสั่งการเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน ยิ่งต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อให้เกิดการยอมรับศรัทธาต่อการปฏิบัติหน้าที่และวิชาชีพ

ทุกวันนี้คอร์รัปชันในภาครัฐไม่ลดลง เพราะการเห็นแก่พวกพ้องในทางที่ผิด คอยช่วยเหลือและอุปถัมภ์เกื้อกูลกัน ถ้าเป็นการกระทำของคนในองค์กรอัยการและศาล ความเสื่อมเกียรติเสียศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นจะทำลายความเชื่อมั่ของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมของชาติ

อัยการจึงต้องเป็นหลักชัยแห่งความหวังที่ตั้งมั่นบนฐานความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม เมื่อสามารถกลืนศักดิ์ศรีแห่งสถาบันได้ ก็ไม่ต่างจากเสาหลักปักขี้เลนที่ไม่นานก็อาจจะล้มจมหายไปในขี้เลน … เราจะยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad