อาเซียนเผยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ-แผนงานเศรษฐกิจคืบ เตรียมชงรัฐมนตรี ก.ย.นี้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2564

อาเซียนเผยแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ-แผนงานเศรษฐกิจคืบ เตรียมชงรัฐมนตรี ก.ย.นี้

img

เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ติดตามผลการทำงาน เผยมีความคืบหน้าทุกด้าน ทั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 การปฏิบัติตามแผนงานด้านเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจดิจิทัล ระบุยังได้มีการเร่งรัดให้สมาชิกเร่งผลักดันความตกลง RCEP ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วด้วย เตรียมชงทั้งหมดให้รัฐมนตรีพิจารณาในเดือน ก.ย.นี้
         
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ครั้งที่ 3/52 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 2-4 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการดำเนินงานสำคัญของอาเซียน โดยเฉพาะการเร่งฟื้นเศรษฐกิจภูมิภาคจากการระบาดของโควิด-19 การเตรียมการสำหรับประชุมร่วมกับประเทศนอกภูมิภาค ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สหรัฐฯ แคนาดา อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์ และการเตรียมเสนอผลการทำงานในรอบ 1 ปี ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ในเดือนก.ย.2564 ที่จะถึงนี้
         
ทั้งนี้ ที่ประชุม SEOM ได้ข้อสรุปที่สำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะการดำเนินงานตามแผนงานด้านเศรษฐกิจสำคัญประจำปี 2564 (Priority Economic Deliverables) 13 ประเด็น ซึ่งบรูไนในฐานะประธานอาเซียน ผลักดันภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการฟื้นฟู ด้านการเป็นดิจิทัล และด้านความยั่งยืน โดยเรื่องที่มีความคืบหน้าอย่างมาก เช่น การจัดทำเครื่องมือประเมินประสิทธิภาพของมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศสมาชิก (NTM Toolkit) การจัดทำร่างกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Facilitation Framework) และการจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวอาเซียนหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นต้น รวมทั้งประเด็นที่นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ ซึ่งใกล้ดำเนินการแล้วเสร็จเช่นกัน โดยเฉพาะการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ของอาเซียนเพื่อรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) 
        
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เร่งรัดให้ทุกประเทศ เร่งดำเนินการให้ความตกลงที่ลงนามไปแล้ว มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันให้มากขึ้น และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคหลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่น ความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
         
สำหรับแนวทางการเสริมสร้างเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ฟื้นจากผลกระทบของโควิด–19 และการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสอดรับกับกระแสโลก ที่ประชุมได้หารือกำหนดแนวทางส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในอนาคต การผลักดันแผนงานระยะสั้น กลาง และยาว เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคให้มีความแข็งแกร่ง และการฟื้นฟูภูมิภาคจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานของกรอบการฟื้นฟูของอาเซียน และการเร่งหาข้อสรุปในการพิจารณาขยายบัญชีรายการสินค้าจำเป็น (essential goods) ที่ไม่ใช้ข้อจำกัดการส่งออกระหว่างกัน ให้เสร็จก่อนการประชุม AEM เพื่อมุ่งรักษาความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันให้เข้มแข็งช่วงการระบาดของโควิด-19
         
ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 94,623.83 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล มูลค่า 16,284.74 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปอาเซียน มูลค่า 55,454.28 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 39,169.54 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการค้าระหว่างกันในช่วง 6 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 54,765.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 15.26% โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 31,652.03 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 23,113.68 ล้านเหรียญสหรัฐ คู่ค้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad