“พาณิชย์”โชว์ผลงานประกันรายได้ปี 2 ช่วยเกษตรกร 7.87 ล้านครัวเรือน มีเงินใช้จ่าย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

“พาณิชย์”โชว์ผลงานประกันรายได้ปี 2 ช่วยเกษตรกร 7.87 ล้านครัวเรือน มีเงินใช้จ่าย

img

“พาณิชย์”โชว์ผลงานประกันรายได้ปี 2 ช่วยเกษตรกร 7.87 ล้านครัวเรือนทั้งประเทศ ได้รับเงินชดเชยส่วนต่างแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการปี 3 คณะกรรมการที่ดูแลพืช 4 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว รอเสนอเข้า ครม. พิจารณา เหลือแค่ปาล์มน้ำมัน ที่รอเข้า กนป. ก่อนชง ครม.ต่อไป  
         
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินหน้าตามนโยบายประกันรายได้ตามที่ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยดำเนินการโครงการปี 2 ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการผลักดันเพื่อเดินหน้าโครงการปี 3 ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการนโยบายสินค้าเกษตรพืช 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา ได้เห็นชอบหลักการโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนาน ปี 2564/65 ในเบื้องต้นแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา เหลือในส่วนของปาล์มน้ำมัน ที่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาเห็นชอบ ก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
         
สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันรายได้และมาตรการคู่ขนาน ปี 2563/64 หรือโครงการปี 2 มีเกษตรกรที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการทั้ง 5 สินค้า รวม 7.87 ล้านครัวเรือน วงเงินประกันรายได้ 5 สินค้า รวม 75,166.70 ล้านบาท มีการโอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว 6.964 ล้านครัวเรือน รวมเป็นเงิน 60,041.95 ล้านบาท คิดเป็น 79.88% ของโครงการ ซึ่งได้รับการตอบรับจากเกษตรกรเป็นอย่างดี มีความพึ่งพอใจ เพราะมีรายได้และมีเงินทุนหมุนเวียน
         
นางมัลลิกากล่าวว่า การประกันรายได้ข้าวในปีที่ 2 กำหนดราคาประกันรายได้ คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน (ครัวเรือนละ 14 ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน (ครัวเรือนละ 16 ตัน) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน (ครัวเรือนละ 25 ตัน) ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตัน (ครัวเรือนละ 30 ตัน) ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาทต่อตัน (ครัวเรือนละ 16 ตัน) มีเกษตรกรเข้าร่วม 4.686 ล้านครัวเรือน วงเงิน 49,509.81 ล้านบาท ได้ประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิงครบแล้ว 30 งวด และโอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 4.688 ล้านครัวเรือน จำนวน 48,177.32 ล้านบาท คิดเป็น 97.31% โดยมีการจ่ายชดเชยสูงสุดให้เกษตรกรข้าวหอมมะลิ  42,830.62 บาทต่อครัวเรือน ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 41,680.96 บาทต่อครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้า 36,670.80 บาทต่อครัวเรือน ข้าวปทุมธานี 26,674.00 บาทต่อครัวเรือน และข้าวเหนียว 33,349.44 บาทต่อครัวเรือน


นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 

มันสำปะหลัง กำหนดราคาประกัน 2.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไม่เกิน 100 ตันต่อครัวเรือน จ่ายทุกวันที่ 1 ของเดือน จ่ายไปแล้ว 10 งวด จากจำนวน 12 งวด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 0.524 ล้านครัวเรือน วงเงิน 9,570.97 ล้านบาท โดยโอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 0.484 ล้านครัวเรือน จำนวน 3,084.13 ล้านบาท คิดเป็น 32.22% ซึ่งมีการจ่ายชดเชยสูงสุดให้เกษตรกร 28,000 บาทต่อครัวเรือน
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดราคาประกัน 8.50 บาทต่อกก. ไม่เกิน 30 ไร่ต่อครัวเรือน จ่ายเงินชดเชยทุกวันที่ 20 ของเดือน จ่ายไปแล้ว 10 งวด จากจำนวน 12 งวด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 0.452 ล้านครัวเรือน วงเงิน 1,867.92 ล้านบาท ยโอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 0.338 ล้านครัวเรือน จำนวน 1,233.51 ล้านบาท คิดเป็น 66.04% ซึ่งมีการจ่ายชดเชยสูงสุดให้เกษตรกร 9,625.50 บาทต่อครัวเรือน
         
ปาล์มน้ำมัน กำหนดราคาประกัน 4.00 บาทต่อกก. ไม่เกิน 25 ไร่ต่อครัวเรือน อายุ 3 ปีขึ้นไป จ่ายเงินชดเชยทุกวันที่ 15 ของเดือน ประกาศราคาอ้างอิงแล้วจำนวน 8 งวด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 0.370 ล้านครัวเรือน วงเงิน 4,500.00 ล้านบาท แต่ราคาตลาดอ้างอิงงวดที่ 1–8 สูงกว่าราคาเป้าหมาย กก.ละ 4 บาท จึงไม่มีการจ่ายชดเชย
         
ยางพารา ซึ่งฝ่ายเลขา คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดราคาประกัน ไม่เกิน 25 ไร่ อายุ 7 ปีขึ้นไป สำหรับยางดิบ (ปริมาณ 20 กก.ต่อไร่ต่อเดือน) 60 บาทต่อกก. น้ำยางสด (DRC 100%) (ปริมาณ 20 กก.ต่อไร่ต่อเดือน) 57 บาทต่อกก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) (ปริมาณ 40 กก.ต่อไร่ต่อเดือน) 23 บาทต่อกก. มีการจ่ายชดเชยทุกเดือน ครบแล้วทั้ง 6 งวด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.83 ล้านราย วงเงิน 10,042.82 ล้านบาท โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 1.454 ล้านราย จำนวน 7,546.994 ล้านบาท คิดเป็น 77.66% มีการจ่ายชดเชยสูงสุดให้เกษตรกรยางแผ่นดิบ 3,610.00 บาทต่อราย น้ำยางสด (DRC 100%) 14,770.00 บาทต่อราย และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 13,400.00 บาทต่อราย
         
ทั้งนี้ ความคืบหน้าในส่วนของโครงการประกันรายได้ปี 3 นั้น โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค.2564 ได้เห็นชอบโครงการ โดยให้คงหลักการเดิม วงเงิน 89,306.39 ล้านบาท , โครงการประกันรายได้มันสำปะหลัง มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการทันสำปะหลัง (นบมส.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2564 ให้คงหลักการเดิม วงเงิน 6,811.28 ล้านบาท , โครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564 ให้คงหลักการเดิม วงเงิน 1,863.51 ล้านบาท , โครงการประกันรายได้ยางพารา มติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 เห็นชอบในหลักการเดิม วงเงิน 10,065.68 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้ปาล์มน้ำมัน มติคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2564 ให้คงหลักการเดิม วงเงิน 7,660 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad