ไฟเขียวต่างชาติลงทุนส.ค.64 จำนวน 24 ราย นำเงินเข้า 908 ล้าน จ้างงาน 636 คน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2564

ไฟเขียวต่างชาติลงทุนส.ค.64 จำนวน 24 ราย นำเงินเข้า 908 ล้าน จ้างงาน 636 คน

img

คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ไฟเขียวต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเดือนส.ค.64 จำนวน 24 ราย นำเงินเข้ามาลงทุน 908 ล้าน จ้างงานคนไทย 636 คน และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ไทยยังไม่มีความชำนาญเพียบ ทั้งนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ระบบรถไฟความเร็วสูง การขนย้ายติดตั้งแท่นหลุมปิโตรเลียม ความรู้การใช้โดรน
         
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า เดือนส.ค.2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 24 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากสิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 908 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 636 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย
         
สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการประยุกต์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electronic Vehicle) องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบรถไฟความเร็วสูงเทคนิคการเดินรถไฟความเร็วสูง องค์ความรู้เกี่ยวกับการขนย้ายและติดตั้งแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม และองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) เป็นต้น
         
ทั้งนี้ ธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ 1.ธุรกิจนายหน้า ค้าปลีก ค้าส่งสินค้าสำหรับใช้ในอุตสาหกรรม จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีเงินลงทุนจำนวน 144 ล้านบาท ได้แก่ การทำกิจการนายหน้าเพื่อจำหน่ายสินค้าประเภทซิลิโคน (Silicones) โลหะผสมพิเศษ (Specialty foundry alloys) วัสดุคาร์บอนผสมเพื่องานอุตสาหกรรม (Carbon materials) ซิลิคอนและไมโครซิลิกา (Silicon materials and Microsilica) เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การค้าปลีกเครื่องทดสอบกำลังไฟและทดสอบความปลอดภัยทางไฟฟ้าสำหรับแบตเตอรี่ของยานพาหนะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าส่งโช๊คอัพรถจักรยานยนต์ และชิ้นส่วนของโช๊คอัพรถจักรยานยนต์

2.ธุรกิจบริการโดยเป็นคู่สัญญากับเอกชน จำนวน 3 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และอิตาลี มีเงินลงทุนจำนวน 244 ล้านบาท ได้แก่ บริการบริหารจัดการและให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ (Operation-Maintenance) และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ (Commercial Operation) ภายใต้โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ระหว่างสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา บริการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และติดตั้งแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม (Wellhead Platforms) รวมถึงการเชื่อมต่อท่อลำเลียงใต้ทะเล (Associated Pipes and Tie-In) และเชื่อมต่อการทำงานกับแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม

3.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 12 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มีเงินลงทุนทั้งสิ้นจำนวน 458 ล้านบาท เช่น บริการสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกัน บริการให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่งสินค้าประเภทอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน (Drone) ที่ใช้เพื่อการเกษตร และบริการที่เกี่ยวเนื่อง บริการชำระเงินภายใต้การกำกับประเภทการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์  บริการรับชำระและโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
         
4.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ จำนวน 6 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น มีเงินลงทุนจำนวน 62 ล้านบาท เช่น บริการสินเชื่อเพื่อสวัสดิการพนักงาน (Welfare Loans) ของบริษัทในเครือในประเทศไทย บริการบริหารจัดการเนื้อหาสารสนเทศดิจิทัล และทำการตลาดและส่งเสริมการขายเนื้อหาสารสนเทศดิจิทัล บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ เป็นต้น
         
ตั้งแต่เดือนม.ค.-ส.ค.2564 นักลงทุนต่างชาติได้รับอนุญาตแล้ว 132 ราย เงินลงทุน 9,383 ล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น ธุรกิจบริการเป็นที่ปรึกษา บริหารจัดการ และให้บริการเดินรถและซ่อมแซมบำรุงรักษารถไฟความเร็วสูง ภายใต้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินในประเทศไทย ธุรกิจบริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งฯ ระบบชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง และระบบควบคุมการจัดการการจราจร ภายใต้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม วางระบบและทดสอบเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับโครงการศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าอัจฉริยะระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการวิจัย พัฒนา และทดสอบชิ้นส่วนของเครื่องทำความร้อน ระบายอากาศ และปรับอากาศสำหรับยานยนต์ ธุรกิจค้าส่ง และให้คำปรึกษาแนะนำการใช้งาน การบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจบริการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านประกันภัย บริการเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center: IBC) ให้แก่บริษัทในเครือในต่างประเทศ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad