ถอดบทเรียนนอกตำรา กับการสร้างฐานเรียนรู้การจัดการขยะในโรงเรียน ให้เยาวชนสัมผัสประสบการณ์จริง มุ่งสู่ “ชุมชน LIKE(ไร้) ขยะ” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2564

ถอดบทเรียนนอกตำรา กับการสร้างฐานเรียนรู้การจัดการขยะในโรงเรียน ให้เยาวชนสัมผัสประสบการณ์จริง มุ่งสู่ “ชุมชน LIKE(ไร้) ขยะ”

 ถอดบทเรียนนอกตำรา กับการสร้างฐานเรียนรู้การจัดการขยะในโรงเรียน

ให้เยาวชนสัมผัสประสบการณ์จริง มุ่งสู่ “ชุมชน LIKE(ไร้) ขยะ”

           “ขยะ...ไม่ใช่ขยะ หากได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง” คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลย เพราะวัสดุที่เราใช้แล้วหลายชนิดสามารถกลายเป็นทรัพยากรอันมีค่าด้วยการหมุนเวียนกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ รวมถึงยังช่วยสร้างรายได้อีกด้วยอย่างที่เรียกกันว่า เงินทองจากกองขยะ นั่นเอง

มาติดตามการถอดบทเรียนนอกตำราจากองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่อง Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม อย่าง “เอสซีจี เคมิคอลส์” ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุพลาสติก และผู้ริเริ่มโครงการ“ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” โดยได้ขับเคลื่อนโมเดลการจัดการขยะในชุมชน ด้วยการนำแนวทาง “บ-ว-ร” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน มาเชื่อมต่อกับ “ธนาคารขยะ” ในชุมชน ทำให้เกิดการบูรณาการทั้งระบบ และได้นำร่องที่ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ตั้งแต่ต้นปี 2562

การขับเคลื่อนผ่านกระบวนการ บ้าน - วัด – โรงเรียน - ธนาคารขยะ นั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างความรู้ความเข้าใจและการวางรากฐานการจัดการขยะภายในชุมชนอย่างบูรณาการ รวมไปถึงการส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรม “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กลุ่มเยาวชน” ที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ด้วยเหตุนี้เอง เอสซีจี เคมิคอลส์ จึงได้ร่วมกับเครือข่ายการศึกษาจัดทำชุดความรู้เรื่องคุณค่าของทรัพยากร และการจัดการขยะในโรงเรียน ซึ่งได้ผ่านกระบวนทดสอบ ทดลอง และปรับปรุง จนกระทั่งได้ขยายผลไปสู่โรงเรียนต่าง ๆ  

ทำจริง รู้จริง ผ่านฐานเรียนรู้ฯ

นางสาวน้ำทิพย์ สำเภาประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารแบรนด์และกิจการเพื่อสังคม เอสซีจี เคมิคอลส์กล่าวว่า “การปลูกฝังทัศนคติเรื่องการใช้ทรัพยากร และการจัดการขยะที่ถูกต้องให้กับเยาวชน ถือเป็นการวางรากฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับสังคม โดยมุ่งให้เยาวชนมีพฤติกรรม “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”และนำการเรียนรู้จากโรงเรียนไปสู่ครอบครัวและชุมชน โดยเบื้องต้น ทีมงานจากเอสซีจี เคมิคอลส์ จะทำงานร่วมกับทางโรงเรียน เพื่อประเมินปัญหาด้านขยะที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน จากนั้นจึงนำมาออกแบบการเรียนรู้สิ่งที่เรากังวลใจมากที่สุด คือจะทำอย่างไรให้เด็ก ๆ สนใจ ไม่เบื่อหน่าย และคำตอบที่ได้ก็คือ ต้องทำให้เรื่องการจัดการขยะ เป็นเรื่องสนุกที่ให้สาระ ให้เด็ก ๆ สัมผัสได้จริง ในที่สุดก็มาลงตัวที่ การสร้างฐานเรียนรู้การจัดการขยะ ให้เด็กๆ ได้ลงมือทำจริง เรียนรู้เรื่องนี้ทุกวันผ่านประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง เช่น ฐานถุงนมกู้โลก ฐานโรงอาหารรักษ์โลก เป็นต้น โดยในปีนี้ เรามีแผนขับเคลื่อนการจัดการขยะในโรงเรียนกว่า 10 แห่ง พร้อมทั้งได้ส่งมอบฐานเรียนรู้ฯ ให้แก่โรงเรียนนำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านมาบตาพุด โรงเรียนวัดชากลูกหญ้า และโรงเรียนวัดมาบชลูด โดยจะขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ๆ หลังจากที่โรงเรียนสามารถเปิดสอนได้ตามปกติ”

เรียนรู้จากปัญหา ศึกษาจากของจริง

นางสาววไลลักษณ์ จินต์หิรัณย์กุล ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ CSR เอสซีจี เคมิคอลส์ หนึ่งในทีมงานผู้ขับเคลื่อนโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ กล่าวถึงการจัดการขยะในโรงเรียนว่า “ทีมงานได้พบคุณครู และเด็ก ๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องวัสดุชนิดต่าง ๆ และทำให้เห็นถึงคุณค่าของวัสดุที่ใช้แล้ว เช่น ถุงนมโรงเรียน สามารถนำไปรีไซเคิลได้ หากได้รับการจัดการที่ถูกต้อง เมื่อเข้าใจถึงประโยชน์และเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เด็กๆ จะเกิดทัศนคติใหม่ว่า ขยะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป โดยเราได้ร่วมกับโรงเรียนวิเคราะห์ปัญหา เรียนรู้ประเภทขยะในโรงเรียน พร้อมใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ และประสบการณ์การทำงานกับเครือข่ายต่าง ๆ มาหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ขยะแต่ละประเภทได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีระบบติดตามผลและพัฒนาต่อยอดเพื่อให้การปฏิบัติเกิดขึ้นได้จริงอย่างยั่งยืน”

สำหรับฐานเรียนรู้การจัดการขยะในโรงเรียน เช่นฐานถุงนมกู้โลก เรียนรู้การจัดการขยะถุงนม ซึ่งมีปริมาณมากในแต่ละวัน โดยถุงนมเป็นพลาสติกประเภทLLDPE สามารถรีไซเคิล และนำไปผลิตเป็นของใช้ในโรงเรียนได้ เช่น เก้าอี้ กระถางต้นไม้ โดยเด็ก ๆ จะผลัดเวรกัน ตัด ล้าง ตาก และเก็บถุงนม ส่วนน้ำล้างถุงนมนำไปรดแปลงผัก ฐานโรงอาหารรักษ์โลก สร้างความตระหนักเรื่องขยะเศษอาหาร รณรงค์การรับประทานให้หมดฐานกรีนโคน ถังหมัก รักษ์โลก เปลี่ยนขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ย ฐานน้ำหมักชีวภาพจากขยะใบไม้ นำขยะใบไม้มาหมักทำสารปรับปรุงดิน ฐานปุ๋ยไม่กลับกอง จัดการขยะใบไม้ กิ่งไม้ ซึ่งมีปริมาณมากในโรงเรียน โดยนำมาทำเป็นปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้จะมาดูแลต้นไม้ในบริเวณโรงเรียนและวัดต่อไป เป็นต้น

การจัดการวัสดุใช้แล้วอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรให้กับโลกแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็ก ๆ และทำให้มีรายได้พิเศษเพื่อนำไปสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ในโรงเรียนอีกด้วย

“ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนทิ้งถุงนมทั้งหมด โดยทางเทศบาลนำไปกำจัด แต่เมื่อได้รับความรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนจากเอสซีจี เคมิคอลส์  และได้รับคำแนะนำว่า พลาสติกใช้แล้วแทบทุกชนิดสามารถนำไปรีไซเคิล และสร้างประโยชน์ใหม่ได้ เช่น ถุงนมสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นเก้าอี้พลาสติก หรือเป็นของใช้อื่น ๆ ได้  ส่วนขวดและแก้วน้ำพลาสติก สามารถขายให้กับธนาคารขยะชุมชน ขยะประเภทอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น ใบไม้ ก็ทำเป็นปุ๋ย ทำให้รู้ว่าขยะไม่ได้จบที่การทิ้ง ยิ่งพอได้เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิลจากถุงนมมาใช้ที่โรงเรียน เด็ก ๆ ก็ตื่นเต้น เพราะสิ่งที่คุณครูเคยพูด สิ่งที่เขาลงแรงจัดการขยะนั้นได้ผลเป็นรูปธรรม เห็นเป็นเก้าอี้ได้จริง ส่วนขวดและแก้วพลาสติก เด็ก ๆ จะเก็บรวบรวมแล้วขายเป็นรายได้ของห้องเรียน เวลามีกิจกรรมของนักเรียน เช่น งานปีใหม่ ก็จะนำเงินจากการขายขยะที่เขาเคยเห็นว่าไร้ราคามาใช้ทำกิจกรรม ไม่ต้องควักกระเป๋าของผู้ปกครอง” นายสนอง เพ็ชรฉกรรจ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดชากลูกหญ้า กล่าว

เด็กรู้แล้ว บอกต่อผู้ใหญ่ที่บ้าน

นายสนอง เพ็ชรฉกรรจ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดชากลูกหญ้า กล่าวว่า “ฐานเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ จากเอสซีจี เคมิคอลส์ ช่วยปลูกจิตสำนึกเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะให้กับนักเรียนได้เป็นอย่างดีเมื่อเด็ก ๆ ออกไปใช้ชีวิตในชุมชน ก็จะนำนิสัยนี้ติดตัวไป ช่วยบอกต่อพ่อแม่ว่าขยะนั้นสามารถเพิ่มรายได้และมีมูลค่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือระหว่าง โรงเรียน ภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้นี้สามารถเป็นแบบอย่างให้แก่โรงเรียนอื่น ๆ ได้อีกด้วย”

ความรู้นอกตำราอย่างเรื่องการจัดการขยะนี้ เรียกได้ว่าสำคัญไม่แพ้ความรู้ในห้องเรียนเลยทีเดียว เป็นการเรียนรู้จากการลงมือทำจนเกิดประสบการณ์จริง สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างความตระหนักรู้ว่า ทุก ๆ คน มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งโมเดล “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” สามารถเกิดขึ้นได้จริงในทุกพื้นที่ เพียงเริ่มต้นจากหน่วยเล็ก ๆ อย่างครอบครัวและโรงเรียน ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สวยงามอย่างยั่งยืนตลอดไป

ผู้สนใจสามารถติติดตามข่าวสารอื่นๆ ของเอสซีจีได้ที่ https://scgnewschannel.com / Facebook:scgnewschannel / Twitter: @scgnewschannelหรือ Line@: @scgnewschannel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad