ไทย-เยอรมนี ชูความสำเร็จ พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไทย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ไทย-เยอรมนี ชูความสำเร็จ พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไทย

 

(รูปนี้ถูกถ่ายก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุด)

 ไทย-เยอรมนี ชูความสำเร็จ พัฒนามาตรฐานความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไทย

กรุงเทพฯ / 5 สิงหาคม 2564  – สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมพยาบาลโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ชมรมเครือข่ายพยาบาลผู้ให้สารน้ำแห่งประเทศไทย บริษัทบี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมนำเสนอผลสำเร็จของการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ภายใต้การดำเนินโครงการ “การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย” ในการประชุมสรุปผลการดำเนินโครงการ โดยโครงการฯ ได้พัฒนาคู่มือและแนวทางด้านความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์รวม 998 คน

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปี โครงการฯ ได้เสริมสร้างศักยภาพด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านการอบรมใน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) การทำความสะอาดมือของบุคลากรทางการแพทย์ 2) การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำอย่างปลอดภัย 3) การให้ยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งอย่างปลอดภัย และ 4) การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาลในด้านมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน และส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนด้านนโยบายความปลอดภัยจากผู้บริหาร โดยโรงพยาบาลนำร่อง 14 แห่ง จากจำนวนโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 17 แห่ง ได้นำนโยบายลงสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินโครงการและกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในด้านต่างๆ ในโรงพยาบาล

(รูปนี้ถูกถ่ายก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุด)

นอกเหนือจากการฝึกอบรม โครงการฯ ยังได้พัฒนาคู่มือและแนวทางปฏิบัติ เพื่อเป็นมาตรฐานหรือแนวทางอ้างอิงเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากเข็มตำและการสัมผัสสารคัดหลั่งจากการให้สารน้ำทางหลอดดำ ข้อเสนอแนะและแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการให้ยาเคมีบำบัด และคู่มือวิธีประเมินการทำความสะอาดมือของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งคู่มือและแนวทางปฏิบัติเหล่านี้จะถูกนำไปใช้อบรมและถ่ายทอดสู่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป

เกอร์มัน มูลเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการของ GIZ กล่าวว่า “GIZ มีความยินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่โครงการฯ ได้มีส่วนช่วยพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย เราไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ขึ้นในช่วงที่ดำเนินโครงการอยู่ แต่ก็ถือว่าโครงการมาถูกเวลา เพราะเราได้จัดฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านการล้างมือแก่บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 200 กว่าคน ครอบคลุมโรงพยาบาลกว่า 70 แห่งไปก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดแล้ว ซึ่งหวังว่าความรู้ที่ได้ถ่ายทอดไปนั้นจะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้และป้องกันตัวเองจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ทางหนึ่ง นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้พัฒนาศักยภาพให้บุคลากรทางการแพทย์จำนวน 93 คนให้พร้อมสู่การเป็นผู้ฝึกอบรมต้นแบบที่จะสามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานให้กับเพื่อนร่วมงานและเครือข่ายของตนเองได้ด้วย เราหวังว่าองค์ความรู้เหล่านี้ที่โครงการฯ ได้พัฒนาขึ้นจะถูกถ่ายทอดต่อไปและช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และ GIZ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยในอนาคต”

“บริษัท บี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงมุ่งมั่นที่จะปกป้องและพัฒนาความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการเป็น Solution Partner ในการพัฒนาคุณภาพของบริการทางการแพทย์ รวมทั้งแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญและการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ต่อไป จากที่บี. บราวน์ได้ดำเนินงานมาเป็นระยะเวลา 32 ปีแล้วในประเทศไทย ด้วยการเป็นพันธมิตรที่ดีของประเทศและพร้อมที่จะเป็นทูตการแพทย์ระหว่างประเทศเยอรมนีและประเทศไทย เรามีความยินดีในความสำเร็จของโครงการฯ ที่ได้ช่วยลดต้นทุนให้กับโรงพยาบาลพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพของความปลอดภัยและสร้างการบริการด้านสุขภาพที่ยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย นอกจากนี้แล้วบริษัท บี. บราวน์ ยังร่วมกับ GIZ และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)  สนับสนุนความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยการมอบเจลล้างมือแอลกอฮอล์จำนวน 157,500 ขวด ให้แก่โรงพยาบาล 62 แห่ง ในพื้นที่สีแดง เมื่อเดือนพฤษภาคมและเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รวมทั้งพัฒนาหลักสูตรออนไลน์เรื่องการล้างมือ และเผยแพร่ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และสุพรรณบุรี” สายัณห์ รอย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริม

(รูปนี้ถูกถ่ายก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุด)

พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ รองผู้อำนวยการ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) กล่าวเสริมว่า “สำหรับความยั่งยืนและการขยายผลจากความสำเร็จของโครงการนั้น สรพ. มีระบบในการรายงานอุบัติการณ์ต่างๆ เป็นระบบการรายงานและเรียนรู้อุบัติการณ์ความเสี่ยงทางคลินิกและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ของประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงการรายงานเรื่องการล้างมือของบุคลากรทางการแพทย์ และการรายงานอุบัติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้สารน้ำหรือยาเคมีบำบัดทางหลอดเลือดดำด้วย โดยมีโรงพยาบาลกว่า 700 แห่งทั่วประเทศรายงานเข้าระบบนี้ และสรพ.ยังเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข (Personnel Safety) ด้านการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งกำหนดให้เป็นมาตรฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อความปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันพบว่าบุคลากรมีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดการติดเชื้อจากการแพร่ผ่านละอองฝอย (droplet transmission) ของเชื้อโควิด-19 ขณะปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น สิ่งที่ควรจะผลักดันในความร่วมมือต่อไปในอนาคต คือ ความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 (Personnel Safety in COVID-19 situation) และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงและความร่วมมือจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต”

(รูปนี้ถูกถ่ายก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุด)

นางจินตนารักษ์ สมสกุลชัย หัวหน้าหอผู้ป่วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ได้รับการอบรมเรื่องความปลอดภัยในการให้ยาเคมีบำบัด กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการฯ ว่า “จากการอบรม ทำให้ได้รับทักษะความรู้จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ รวมทั้งองค์ความรู้ที่เป็นสากลซึ่งนำมาปรับใช้กับบริบทการทำงานในประเทศไทย อีกทั้งการที่โครงการฯ ได้เชิญผู้บริหารให้เข้ามารับฟังและมีส่วนร่วม ทำให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญและบุคลากรทางการพยาบาลก็ได้รับการสนับสนุนชุดอุปกรณ์ป้องกันในการบริหารยาเคมีบำบัดครบถ้วนตามมาตรฐาน ทำให้เกิดความปลอดภัย บุคลากรมีความมั่นใจในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การมีมาตรฐานแนวทางตามหลักสากลให้บุคลากรปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน จะช่วยให้โรงพยาบาลมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ส่งผลให้ผู้ป่วยและบุคลากรมีความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (Patient and Personnel Safety: 2P Safety) ด้วย”

เกี่ยวกับโครงการ

โครงการการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพทางการแพทย์ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางสาธารณสุข และลดความเสี่ยงในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยมีสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมพยาบาลโรคมะเร็งแห่งประเทศไทย ชมรมเครือข่ายพยาบาลผู้ให้สารน้ำแห่งประเทศไทย บริษัทบี. บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมดำเนินงานหลัก ภายใต้การได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) และบริษัทบี. บราวน์ เมลซุงเกน เอจี โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 – เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad