ถอดบทเรียนเหตุการณ์รื้อถอนอาคารถล่ม โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ถอดบทเรียนเหตุการณ์รื้อถอนอาคารถล่ม โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย


ถอดบทเรียนเหตุการณ์รื้อถอนอาคารถล่ม

โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย  เปิดเผยว่า จากรณีเมื่อวันที่ 12ต.ค.64 เกิดเหตุอาคารอพารต์เมนต์เก่า สูง 6 ชั้นย่านประชาชื่นถล่มลงมาระหว่างรื้อถอนอาคาร ทับคนงานมีผู้ได้รับบาดเจ็บ  เหตุอาคารถล่มขณะทำการรื้อถอนเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีตเช่น เหตุการณ์ตึกสูง 8 ชั้นบริเวณซอยสุขุมวิท 87 เกิดถล่มลงมาระหว่างรื้อถอน ในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2559 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายและสูญหาย 2 ราย ในปัจจุบันพบว่ามีการรื้อถอนอาคารเก่าหลายแห่ง ซึ่งงานรื้อถอนอาคารเก่าเป็นงานที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะหากรื้อถอนไม่ถูกวิธีหรือไม่ตรงตามขั้นตอนแล้วก็อาจทำให้อาคารถล่มลงมาได้ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวอยู่เนืองๆ 

สำหรับสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้อาคาร 6 ชั้นที่ประชาชื่นถล่มนั้น คงต้องผลรอการวิเคราะห์และการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามงานรื้อถอนอาคารเป็นงานที่อันตรายและมีความเสี่ยงสูง ในแง่วิศวกรรมนั้น งานรื้อถอนจัดว่าเป็นงานวิศวกรรมควบคุมที่ต้องมีลำดับขั้นตอนในรื้ออาคารเพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยหลักสำคัญของวิศวกรรมการรื้อถอนนั้น จะต้องทำขั้นตอนที่ตรงข้ามกับการก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ จะทำข้ามขั้นตอนไม่ได้ เช่น การก่อสร้างอาคารใหม่จะต้องทำจากล่างขึ้นบนไปทีละชั้น เริ่มจากชั้นที่ 1 ไปชั้นที่ 2 ไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน การรื้อถอนก็ต้องทำในทิศตรงกันข้าม เช่น ต้องเริ่มรื้อจากชั้นบนก่อนแล้วค่อยๆ ไล่ลงมาจนถึงชั้นล่างสุด

หากผู้รื้อถอนไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่จงใจไม่ทำตามขั้นตอนเพื่อต้องการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน เช่น รื้อถอนโดยทำลายเสาชั้นล่างๆเพื่อมุ่งหวังให้อาคารถล่มลงมาทั้งหลัง ก็ถือว่าเป็นการข้ามขั้นตอนของการรื้อถอน ซึ่งเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง เพราะไม่สามารถกำหนดทิศทางของการล้มคว่ำของอาคารได้ ผู้รื้อถอนที่ไม่เข้าใจหลักวิศวกรรมหรือมักง่ายเช่นนี้ก็อาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมได้



เนื่องจากงานรื้อถอนเป็นงานอันตราย ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายมากำกับดูแล อย่างน้อยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และ พ.ร.บ.วิศวกร โดย พ.ร.บ. ควบคุมอาคารปี 2522 กำหนดให้การรื้อถอนอาคารเป็นงานที่ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนจะเริ่มดำเนินการ และ พ.ร.บ.วิศวกร ปี 2542 และกฎกระทรวงกำหนดสาขาวิชาชีพวิศวกรรมและวิชาชีพวิศวกรรมปี 2550 กำหนดว่างานรื้อถอนอาคาร ที่มีความสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป เข้าข่ายเป็นวิศวกรรมควบคุมซึ่งต้องมีวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกรมาควบคุมการรื้อถอน นอกจากนี้ การรื้อถอนที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมจะต้องมีแบบ รายละเอียด ตลอดจนการคำนวณลำดับขั้นตอนการรื้อถอน ที่ลงนามโดยวิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตระดับสามัญวิศวกรขึ้นไป เนื่องจากเป็นอาคารที่มีความสูง 6 ชั้น

ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะต้องตรวจสอบว่าการรื้อถอนดังกล่าวมีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ ในส่วนการตรวจสอบการทำงานของวิศวกรนั้น สภาวิศวกรมีอำนาจตรวจสอบและดำเนินการในเรื่องนี้ ว่ามีวิศวกรเข้าไปกำกับดูแลการรื้อถอนหรือไม่ และวิศวกรที่มีหน้าที่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักวิชาการและหลักทางวิศวกรรมอย่างถูกต้องหรือไม่ หากตรวจพบว่าวิศวกรไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาการ ก็อาจเข้าข่ายประพฤติผิดจรรยาบรรณ อาจทำให้วิศวกรผู้นั้นต้องได้รับโทษทางจรรยาบรรณ ถึงขั้นถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพได้

ทั้งนี้ การรื้อถอนอาคารในบริเวณชุมชนหนาแน่น ก็อาจเกิดอันตรายต่อประชาชนได้ ดังนั้นหากประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงอาคารที่ทำการรื้อถอน ก็ต้องให้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ พยายามหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้บริเวณดังกล่าว และหากพบสิ่งไม่ปกติ เช่น มีการใช้รถขุดเจาะตัดเสาในชั้นล่าง หรือไม่รื้อถอนจากชั้นบนลงมาตามลำดับ ก็อาจแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad