“พาณิชย์”วิเคราะห์ส่งออกสินค้า 4 กลุ่ม พร้อมชี้เป้าเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

“พาณิชย์”วิเคราะห์ส่งออกสินค้า 4 กลุ่ม พร้อมชี้เป้าเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

img

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) วิเคราะห์ความสามารถในการส่งออกสินค้าไทย 4 กลุ่ม พบหลายสินค้ายังมีโอกาสขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ชี้กลุ่มเติบโต ต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขัน กลุ่มสวนกระแส ต้องระวัง กลุ่มเสียโอกาส ต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสฟื้นฟูความสามารถ และกลุ่มเฝ้าระวัง ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ตลาดสีเขียว เพื่อให้ไทยยังแข่งขันได้ต่อไป  
         
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์ความสามารถในการส่งออกของไทยรายกลุ่มสินค้าจำนวน 4 กลุ่ม เพื่อสนับสนุนนโยบายเร่งรัดผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสสูงจากความต้องการในตลาดโลกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยพบว่ามีสินค้าหลายรายการที่มีโอกาสเติบโต เมื่อเทียบกับตลาดโลก และยังได้มีการจัดทำข้อเสนอแนะกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนการส่งออกในแต่ละกลุ่มด้วย
         
โดยสินค้ากลุ่มแรกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี คือ กลุ่มเติบโต (โลกขยายตัว และไทยขยายตัว) ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีเครื่องประดับและทองคำ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อาหารปรุงแต่ง ผักและผลไม้ปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ เป็นต้น ถือเป็นกลุ่มที่ไทยควรยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ไทยได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบ ทักษะแรงงาน และตลาดขยายตัวดี
         
กลุ่มสวนกระแส (โลกหดตัว แต่ไทยขยายตัว) ได้แก่ อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ นาฬิกา ผ้าถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ ปุ๋ย ดีบุกและของที่ทำด้วยดีบุก รถไฟหรือรถรางและส่วนประกอบ เยื่อไม้ ยาสูบ เป็นต้น เป็นสินค้าที่เติบโตท่ามกลางความเสี่ยง การขยายตัวของไทยในสินค้ากลุ่มนี้อาจจะไม่ยั่งยืน เนื่องจากทิศทางความต้องการในตลาดโลกชะลอลง
         

กลุ่มเสียโอกาส (โลกขยายตัว แต่ไทยหดตัว) ได้แก่ ธัญพืช เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก น้ำตาล ผักและผลไม้ปรุงแต่ง ปลาและสัตว์น้ำ พืชผักที่บริโภคได้ เป็นต้น เป็นสินค้ากลุ่มที่ท้าทาย ที่ไทยควรจะปรับกลยุทธ์เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ฟื้นฟูความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันเข้าสู่ตลาดที่มีโอกาสเติบโต
         
กลุ่มเฝ้าระวัง (โลกหดตัว และไทยหดตัว) ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เส้นใยสั้นประดิษฐ์ เกลือ รองเท้า หนังดิบ (นอกจากหนังเฟอร์) และหนังฟอก เป็นต้น เป็นกลุ่มที่การค้าในตลาดโลกชะลอลงกว่าในอดีต จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกที่สำคัญ เช่น การดิสรัปชันของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลก พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน กระแสเศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น จึงควรติดตามสถานการณ์และวางแนวทางปรับตัว โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูง เพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ภาคการส่งออก
         
ทั้งนี้ หากจะสรุปให้ชัด พบว่า สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการส่งออกและเติบโตตามความต้องการของโลก และคาดว่าจะเติบโตได้อีกหลังยุคโควิด-19 เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อาหารปรุงแต่ง เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ อาหารสัตว์ ของปรุงแต่งจากธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เป็นต้น
         
“การส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ มีตัวเลขการส่งออกในช่วง 8 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) ยืนยันว่าเป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันและมีทิศทางเติบโตสอดคล้องกับความต้องการของโลก โดยเครื่องจักรและส่วนประกอบ เพิ่ม 18.8% ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 39.3% พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เพิ่ม 33.4% ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เพิ่ม 61.7% ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เพิ่ม 30.6% อาหารปรุงแต่ง เพิ่ม 4.9% เครื่องสำอางและเอสเซนเชียลออยล์ เพิ่ม 2.1% อาหารสัตว์ เพิ่ม 19.4% ของปรุงแต่งจากธัญพืช เพิ่ม 3.7% และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เพิ่ม 38.0%”นายรณรงค์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad