“พาณิชย์”ชี้เป้าส่งออกข้าวไทยเจาะตลาดอิตาลี หลังพบมีโอกาสสูงหลายชนิด - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564

“พาณิชย์”ชี้เป้าส่งออกข้าวไทยเจาะตลาดอิตาลี หลังพบมีโอกาสสูงหลายชนิด

img

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าส่งออกข้าวไทยเจาะตลาดอิตาลี หลังพบมีโอกาสสูง ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ใช้นวัตกรรม แนะต้องติดฉลากเป็นภาษาอิตาเลียน แสดงคุณค่าทางโภชนาการของข้าว และคุณประโยชน์ต่อร่างกาย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ด้านการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่ได้มอบหมายให้เร่งสำรวจโอกาสในการทำตลาดส่งออกให้กับสินค้าต่าง ๆ ของไทย โดยล่าสุดได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ณ กรุงมิลาน อิตาลี ถึงโอกาสในการขยายตลาดการส่งออกข้าวไทยเข้าสู่ตลาดอิตาลี หลังจากที่ได้ทำการสำรวจตลาด พบว่า เศรษฐกิจการค้ากำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้มีความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น และไทยยังได้ลดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป จึงเป็นประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในตลาดอิตาลีและยุโรปมากขึ้น

ปัจจุบันอิตาลีเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยในยุโรป โดยในปี 2558–2563 ไทยส่งออกสินค้าข้าวไปยังตลาดอิตาลีได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้าวที่ส่งออกมากที่สุด คือ ข้าวหอมมะลิ 100% รองลงมา ได้แก่ ข้าวขาว 100% และข้าวกล้องหอมมะลิ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการปรับราคาค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2563 รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าข้าวไทยไปยังอิตาลี โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย) ไทยส่งออกข้าวไปอิตาลีมีมูลค่า 19.23 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับโอกาสของข้าวไทย ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้บริโภคชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในอิตาลี โดยปี 2563 มีสูงถึง 1,067,281 คน เพิ่มขึ้น 0.65% โดยข้าวที่มีโอกาส ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายอยู่แล้ว และควรผลักดันการส่งออกข้าวชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวหอม ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ และข้าวหัก เป็นต้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าและปริมาณการส่งออกข้าวไทยมายังตลาดอิตาลี และยังมีโอกาสเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวอิตาลีที่แพ้สารกลูเตนในแป้งสาลี และหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์จากข้าวเพิ่มขึ้น เช่น แป้งข้าวเจ้า พาสต้าจากแป้ง และขนมปัง จึงเป็นโอกาสสำหรับผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยด้วย        

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจขยายการส่งออกข้าวไทยมายังตลาดอิตาลี นอกเหนือจากคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ผู้ประกอบการไทยควรคำนึงและให้ความสำคัญในด้านระเบียบการนำเข้าของสหภาพยุโรป รวมถึงการติดฉลากสินค้าต้องเป็นภาษาท้องถิ่นอิตาเลียน โดยต้องแสดงคุณค่าทางโภชนาการของข้าวอย่างครบถ้วนและคุณประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
         
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกข้าวไทย กรมฯ ได้มอบหมายให้ทูตพาณิชย์ที่มิลาน จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวไทยในอิตาลีอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและสร้างการรับรู้ข้าวไทยให้แก่ผู้บริโภคอิตาลี รวมถึงเพื่อให้ผู้บริโภคอิตาลีเลือกรับประทานข้าวไทยมากขึ้น และดำเนินการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าออนไลน์ (Online Business Matching) สินค้าข้าว เพื่อเร่งดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายตามวิสัยทัศน์ “การตลาดนำการผลิต” และเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายช่องทางการตลาดมายังอิตาลีผ่านช่องทางออนไลน์

น.ส.อนงค์นารถ มหาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมิลาน อิตาลี กล่าวว่า ปัจจุบันอิตาลีเป็นผู้ผลิตข้าวอันดับหนึ่งของยุโรป และอันดับ 27 ของโลก มีสัดส่วนการผลิตกว่า 52% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในยุโรป มีผลผลิตเฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี เป็นการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ 40% และ 60% เพื่อส่งออก และมีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์บาสมาติ และข้าวที่ผ่านการขัดสีบางส่วน

โดยข้าวที่นิยมบริโภคมี 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวชนิดเมล็ดกลม มีการบริโภค 59,297 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 13.42% ของการบริโภคข้าวทั้งหมดภายในประเทศ นิยมนำมาไปใช้สำหรับทำของหวาน ซูชิ และซุปมิเนสโตรเน่ ข้าวชนิดเมล็ดกลาง นิยมทำเมนูข้าวปั้นทอด ซุปมิเนสโตรเน่ และข้าวอบชีส ข้าวชนิดเมล็ดยาว A นิยมทำเมนูข้าวรีซอตโต้ สลัดข้าว ข้าวอบชีส ข้าวยัดไส้ผัก และข้าวปั้นทอด โดยข้าวชนิดเมล็ดกลางและข้าวชนิดยาว A มีการบริโภคมากที่สุดในอิตาลีถึง 256,980 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 58.16% และข้าวชนิดเมล็ดยาว B มีการบริโภค 125,573 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 28.42% ซึ่งในนี้ รวมข้าวที่นำเข้า เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวบาสมาติ ข้าว Venere และข้าวกล้องหอมมะลิ เป็นต้น โดยนิยมใช้ทำเมนูสลัดข้าวและเครื่องเคียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad