แผลไฟไหม้ รักษาไว หายเร็วขึ้น - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564

แผลไฟไหม้ รักษาไว หายเร็วขึ้น


แผลไฟไหม้ รักษาไว หายเร็วขึ้น 

 หากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดแล้วเกิดบาดแผลรุนแรงในระดับที่ต้องส่งโรงพยาบาล การปฐมพยาบาลเพื่อดูแลแผลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นแผลไฟไหม้ (Burn) แผลน้ำร้อนลวก แผลไฟช็อต แผลฟ้าผ่า แผลจากสารเคมี คือสิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยาบาดแผลให้ดีขึ้นและพร้อมสำหรับการรักษาอย่างถูกวิธีกับแพทย์เฉพาะทางต่อไป 

ศ.นพ. พรพรหม เมืองแมน ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุแผลไหม้ ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกเป็นบาดแผลที่พบได้บ่อย บาดแผลจะมีความเจ็บปวดมาก หากบาดแผลลึกและกว้าง การรักษาจะใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และอาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นแผลหดรั้งตลอดจนเกิดการพิการได้ และหากบาดแผลมีบริเวณกว้าง ควรพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง โดยสามารถแบ่งอาการออกได้หลายระดับ แบบแรกคือ การแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามความลึก ได้แก่ 1) First Degree Burn เป็นการบาดเจ็บในชั้นหนังกำพร้า บาดแผลเจ็บไม่มาก และมักจะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ โดยไม่มีแผลเป็น เช่น บาดแผลจากการถูกแสงแดดเป็นเวลานาน (Sun Burn) หรือ ผิวหนังสัมผัสกับของร้อน มีเพียงแดงและอาการแสบ แต่ยังไม่มีการถลอกของผิวหนัง2) Superficial Second Degree Burn เป็นการบาดเจ็บในชั้นหนังแท้ส่วนที่อยู่ตื้น ๆ บาดแผลประเภทนี้จะเจ็บมาก บางครั้งพองเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ถ้ารักษาอย่างถูกต้องมักจะหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์ โดยบาดแผลประเภทนี้มักไม่ค่อยเป็นแผลเป็น 3) Deep Second Degree Burn เป็นการบาดเจ็บในชั้นหนังแท้ส่วนลึก บาดแผลประเภทนี้จะเจ็บมากเช่นกัน จะแยกกับบาดแผลประเภทที่ 2 ได้ยาก การรักษาใช้เวลานานมากขึ้น บางครั้งมีแผลเป็นเกิดขึ้นได้ 4) Third Degree Burn เป็นบาดแผลที่ทำลายผิวหนังทุกชั้นจนหมด จะไม่เจ็บมาก เพราะเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดจะถูกทำลายไปด้วย บาดแผลจะมีสีค่อนข้างซีด บางครั้งจะมีเนื้อตายแข็ง ๆ คลุมแผลอยู่ การรักษาจะยุ่งยากมากขึ้น จำเป็นต้องเลาะเนื้อตายออก และต้องทำการผ่าตัดเอาผิวหนังมาปลูกถ่าย (Skin Grafting) ยกเว้นบาดแผลขนาดเล็กมาก อาจทำแผลจนหายเองได้ แต่มักจะมีแผลเป็นแผลหดรั้งตามมา นอกจากนี้ มีการแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามขนาดของแผล จะนิยมบอกขนาดของแผลใหญ่เป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวของร่างกาย (Body Surface Area) โดยขนาด 1 ฝ่ามือของผู้ป่วยรวมนิ้วมือทั้ง 5 นิ้ว วัดจากปลายนิ้วลงมาถึงระดับข้อมือ  จะมีขนาดประมาณ 1% ของพื้นที่ผิวร่างกาย หรือแบ่งตาม Rules of Nines สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ เช่น แขนแต่ละข้างจะมีพื้นที่ผิวประมาณ 9% ของพื้นที่ผิวร่างกาย ขาแต่ละข้างจะมีพื้นที่ผิวประมาณ 18% ของพื้นที่ผิวร่างกาย เป็นต้น 

หากได้รับบาดเจ็บเกิดแผลไหม้บนผิวหนังควรได้รับการดูแลเบื้องต้นทันทีเพื่อลดอาการบาดเจ็บ สามารถแบ่งตามเหตุที่ทำให้เกิดการไหม้ คือ 1) การดูแลแผลไฟไหม้และแผลน้ำร้อนลวก ควรออกจากความร้อนให้เร็วที่สุด แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติเท่านั้นเพื่อลดความร้อน เลี่ยงน้ำเย็นและน้ำแข็ง ปิดแผลด้วยผ้าสะอาด นำส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากเนื้อเยื่อที่โดนความร้อนเซลล์จะตายจึงต้องลดความร้อนให้เร็วที่สุดภายใน 15 นาทีแรก เพราะยิ่งลดความร้อนได้เร็วก็จะช่วยลดความเสียหายกับเนื้อเยื่อได้ 2) แผลไฟฟ้าช็อตและฟ้าผ่า ควรนำผู้ป่วยออกจากไฟฟ้าให้เร็วที่สุด โดยใช้วัสดุที่ไม่นำกระแสไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง ไม้ ห้ามใช้มือจับผู้ที่ถูกไฟช็อตโดยตรง พยายามหาทางตัดวงจรไฟฟ้าในบริเวณที่เกิดเหตุทันที ตรวจเช็กความผิดปกติของผู้ป่วย การเต้นของหัวใจ สิ่งแปลกปลอมที่ตกค้างในปาก การบาดเจ็บหรือบาดแผลอื่น ๆ เช่นที่ศีรษะหรือกระดูกต่าง ๆ เพราะการโดนไฟฟ้าช็อตยิ่งนานยิ่งอันตราย จะส่งผลให้เนื้อเยื่อเสียหายมากขึ้น โดยความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณกระแสไฟฟ้า หากได้รับกระแสไฟฟ้าเกิน 500 โวลต์ กล้ามเนื้ออาจสลายได้ แม้แผลด้านนอกจะเล็ก แต่ด้านในเนื้อเยื่อจะถูกทำลาย ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที  3) แผลจากสารเคมี หากสารเคมีเป็นฝุ่น ผง ให้ใช้แปรงปัดสารเคมีออกให้ไวที่สุด ห้ามเป่า ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออก หากเป็นแบบเหลวหรือเป็นน้ำเบื้องต้นควรล้างด้วยน้ำเปล่าบริเวณที่โดนสารให้มากและเร็วที่สุด ไม่ว่าจะโดนสารเคมีที่เป็นกรดหรือเบสให้ล้างด้วยน้ำเปล่า ใช้ผ้าสะอาดปิดแผลแบบไม่แน่นมาก หากเป็นแขนหรือขาให้ยกส่วนนั้นให้สูงกว่าลำตัวป้องกันไม่ให้เกิดอาการบวม และนำส่งโรงพยาบาลทันทีหากโดนสารเคมีรุนแรงจะเป็นอันตรายมาก ส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู 

ผู้ป่วยที่มีบาดแผลไหม้ที่กินพื้นที่ในบริเวณกว้างมากกว่า 20% ของพื้นที่ผิวของร่างกาย จะมีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยทั่วไปความกว้างของบาดแผลจะต้องได้รับการดูแลในสภาพทั่วไปให้ดี โดยทีมแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ต้องมีขั้นตอนในการป้องกันการเกิดบาดแผลติดเชื้อ เพราะถ้ามีแผลติดเชื้อที่เป็นแผลลึก มีการผ่าตัดเนื้อตายออกด้วยวิธีการที่ถูกต้อง โดยเก็บเนื้อดีไว้ให้มากที่สุด เพื่อลดการติดเชื้อของบาดแผลและลดการปลูกถ่ายผิวหนัง จะต้องมีการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากการบวมของเนื้อเยื่อ แพทย์จะเร่งทำหัตถการช่วยลดความดันในระหว่างโพรงกล้ามเนื้อให้ทันท่วงที เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนในการสูญเสียแขน ขา มือหรือเท้า จากการเกิดภาวะหดรัดของบาดแผล นอกจากนี้ก็มีการให้สารอาหารที่มีลักษณะกระตุ้นภูมิต้านทานและมีโปรตีนสูง จะทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น สามารถทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น และลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้  

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผ่าตัดที่จะทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้นและลดการเกิดแผลเป็นแผลหดรั้ง โดยเทคนิคการผ่าตัดด้วยแรงดันน้ำ คือ มีการฉีดน้ำผ่านเครื่องมือพิเศษด้วยความเร็วสูง จะสามารถผ่าตัดเอาเนื้อตายออกได้ ลดการปลูกถ่ายผิวหนัง ซึ่งการปลูกถ่ายผิวหนังที่มีแผลลึกมากจะไม่มีทางหายเองได้ ในปัจจุบันจะมีการนำอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้เรียกว่า Meek Micrograft สามารถปิดแผลบริเวณกว้างให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เทคนิคการผ่าตัดเอาเนื้อตายของแผลออกมีความสำคัญมากที่สุด จะต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างมาก ปัจจุบันวัสดุปิดแผลมีความสำคัญ สามารถเร่งการหายของบาดแผลได้ แผ่นปิดแผลบางชนิดจะมีสารเงิน มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้ นอกจากนี้การรักษาที่ทันสมัยจะมีการรักษาแผลเป็นที่เร็วยิ่งขึ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad