“พาณิชย์”เปิดผลศึกษาเพิ่มศักยภาพสินค้า 4 กลุ่ม พร้อมชงข้อเสนอแนะยกระดับอุตฯ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565

“พาณิชย์”เปิดผลศึกษาเพิ่มศักยภาพสินค้า 4 กลุ่ม พร้อมชงข้อเสนอแนะยกระดับอุตฯ

img

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยได้ทำการศึกษาแนวทางยกระดับศักยภาพสินค้า 4 กลุ่ม “ยาและยาชีววัตถุ เครื่องมือแพทย์ อาหารทางเลือก และสมุนไพร” เสร็จแล้ว พร้อมทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ใช้ยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ประโยชน์  

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์แนวทางการยกระดับสินค้าศักยภาพ 4 กลุ่ม ได้แก่ ยาและยาชีววัตถุ เครื่องมือแพทย์ อาหารทางเลือก (โปรตีนจากจิ้งหรีด) และสมุนไพร ซึ่งเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตในตลาดโลก สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) เสร็จแล้ว และได้รายงานบทสรุปเชิงนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์ในการยกระดับอุตสาหกรรมเข้าสู่เศรษฐกิจและการค้ายุคใหม่

สำหรับผลการศึกษากลุ่มสินค้ายาและยาชีววัตถุ พบว่า อุตสาหกรรมยาของโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2561-2568 อยู่ที่ 13.8% โดยอุตสาหกรรมยาของไทย ส่วนมากเป็นการนำเข้ายาและยาชีววัตถุจากต่างประเทศ เนื่องจากไทยยังขาดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยในปี 2563 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ในกลุ่มยารักษาโรคและป้องกันโรค มีมูลค่าอยู่ที่ 2,327.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่การส่งออก มีมูลค่าอยู่ที่ 444.80 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหลัก คือ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน แนวทางการยกระดับศักยภาพกลุ่มสินค้ายาและยาชีววัตถุเชิงพาณิชย์และการส่งออก หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ควรมีการปรับปรุงด้านโครงสร้างและกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาและยาชีววัตถุ และเชื่อมโยงภาคการวิจัยและการผลิตให้ไปสู่ภาคการตลาดมากขึ้น และการสร้างเครือข่ายกับต่างประเทศเพื่อขยายตลาดส่งออก ตลอดจนการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
         
ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ พบว่า การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วย รวมทั้งนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร การท่องเที่ยวทางการแพทย์ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ไทยมีโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น แต่ไทยยังไม่สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญได้ครบทุกประเภท เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นในการใช้สินค้าไทย ผู้ผลิตและส่งออกส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย และระบบนิเวศ (ecosystem) ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อยกระดับศักยภาพกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์เชิงพาณิชย์ จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์สินค้าเครื่องมือแพทย์ของไทย และสร้างความเชื่อมั่นเครื่องมือแพทย์ไทยให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ตลอดจนส่งเสริมด้านการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลและขั้นตอนด้านการรับรองมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ให้แก่ผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา
         
อาหารทางเลือก (โปรตีนจากจิ้งหรีด) หลาย ๆ ประเทศเริ่มให้ความสนใจกับโปรตีนจากแมลงอย่างแพร่หลาย เป็นโอกาสสำหรับไทยซึ่งมีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในเชิงพาณิชย์ แต่ยังพบปัญหา 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นอุปสรรคสำหรับการส่งออก และการไม่มีตลาดที่แน่นอน การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปยังไม่แพร่หลายนัก ส่วนตลาดในต่างประเทศ มาตรฐานและกฎระเบียบยังไม่ชัดเจนนัก และการบริโภคแมลงเพิ่งเริ่มเป็นกระแสจึงยังเป็นตลาดเฉพาะที่มีผู้บริโภคในวงจำกัด ภาครัฐจึงควรเร่งส่งเสริมการเพาะเลี้ยง การผลิตที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตลอดจนการทำการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค เพื่อเพิ่มความต้องการบริโภค
         
ขณะที่สินค้าสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ พบว่า อุตสาหกรรมสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตลาดค้าปลีกสินค้าสมุนไพรขนาดใหญ่ของโลก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเยอรมนี สำหรับไทยก็เป็นหนึ่งในตลาดที่มีมูลค่าค้าปลีกสูงเช่นกัน โดยในปี 2563 มีมูลค่า 45,997.9 ล้านบาท ไทยยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกได้อีกมาก โดยเฉพาะสารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งเดิมส่วนใหญ่ส่งออกในรูปของวัตถุดิบหรือมีการแปรรูปขั้นต้นเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาในการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมสมุนไพร เช่น การขาดความเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ และการขาดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการแปรรูป การควบคุมคุณภาพ จึงควรส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมสารสกัดสมุนไพรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลและการกำหนดพิกัดศุลกากรสินค้าสมุนไพร เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad