“สินิตย์”สั่งลุยดึงห้องปฏิบัติการเข้าร่วมใช้ GIT Standard เร่งยกระดับอุตฯ อัญมณี - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565

“สินิตย์”สั่งลุยดึงห้องปฏิบัติการเข้าร่วมใช้ GIT Standard เร่งยกระดับอุตฯ อัญมณี

img

“สินิตย์”สั่งการ GIT เร่งดึงห้องปฏิบัติการที่มีอยู่ในไทย เข้าร่วมใช้ GIT Standard เพื่อยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และสร้างภาพลักษณ์ไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก “สุเมธ”รับนโยบาย เตรียมลุยเพิ่มห้องปฏิบัติการเข้าร่วม เผยล่าสุดมีการประกาศมาตรฐานอีกหลายมาตรฐาน

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ว่า ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการสร้างมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ GIT Standard เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค โดยได้สั่งการให้ GIT เร่งผลักดันให้ห้องปฏิบัติการทุกแห่งในประเทศไทยเข้าร่วมใช้ GIT Standard ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แต่ยังช่วยให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้า มีความมั่นใจในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกได้

“ไทยมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า เปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ หรือมาตรการใด ๆ ที่จะนำมาปรับใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการให้มีมาตรฐานสากลหรือเทียบเท่าสากล เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติได้ ซึ่ง GIT ได้เข้ามาแก้ปัญหาตรงจุดนี้ และผลักดันให้มีมาตรฐานการตรวจสอบขึ้นมา ถือเป็นการทำงานเชิงรุก ก็ขอให้เร่งเดินหน้าผลักดันให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบนำไปใช้ให้มีจำนวนมากขึ้นโดยเร็ว”นายสินิตย์กล่าว

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT กล่าวว่า GIT รับนโยบายของนายสินิตย์ และจะเร่งรัดผลักดันให้ห้องปฏิบัติการเข้าร่วมใช้ GIT Standard ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการในประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับสากล เพราะจะช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้ห้องปฏิบัติการ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการเชื่อถือได้ ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย สมกับการเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับโลก

ปัจจุบัน GIT ได้ประกาศใช้มาตรฐานหลักเกณฑ์ GIT Standard จำนวน 3 ขอบข่าย ได้แก่ 1.ข้อกำหนดทั่วไปในการขึ้นทะเบียน 2.หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้เครื่องหมาย 3.หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการ และด้านมาตรฐานวิธีวิเคราะห์และทดสอบอัญมณีและเครื่องประดับ จำนวน 9 ขอบข่าย ได้แก่ 1.เพชร วิธีการตรวจสอบประเภทของเพชร ด้วยเครื่อง FTIR spectrometer 2.เพชร การจัดระดับความสะอาด 3.เพชร การจัดระดับสี 4.เพชร การประเมินคุณภาพการเจียระไน 5.เพชร การจัดระดับการเรืองแสง 6.เพชร การชั่งน้ำหนัก 7.วิธีการตรวจสอบหยก และเฝ่ยฉุ้ย (Fei Cui) 8.วิธีการตรวจสอบชนิดหยกและเฝ่ยฉุ้ย (Fei Cui) ด้วยเครื่องรามานสเปกโตรสโคป และ 9.วิธีการตรวจสอบชนิดหยกและเฝ่ยฉุ้ย (Fei Cui) ด้วยเครื่องฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟราเรดสเปกโตรมิเตอร์

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2563 GIT ได้ประกาศใช้มาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่า ในเฟสแรก จำนวน 5 ขอบข่าย ได้แก่ 1.วิธีมาตรฐานสำหรับการทดสอบอัญมณี 2.การวิเคราะห์หาปริมาณทองคำ ด้วยวิธี Cupellation (Fire Assay) 3.การวิเคราะห์หาเปอร์เซ็นต์ทองคำ ในตัวอย่างโลหะมีค่าโดยใช้เทคนิค X-Ray Fluorescence (XRF) 4.การวิเคราะห์หาความหนาทองคำ ในตัวอย่างเครื่องประดับชุบโลหะมีค่า โดยใช้เทคนิค X-Ray Fluorescence (XRF) และ 5.การวิเคราะห์หาปริมาณโลหะเงิน โดยเทคนิค Potentiometric Titration ด้วยเครื่อง Auto Titrator

อย่างไรก็ตาม ในการเดินทางมาเยี่ยม GIT ครั้งนี้ นายสินิตย์ยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่า พร้อมฟังบรรยายกระบวนการ การตรวจสอบอัญมณีประเภทต่าง ๆ โดยนักอัญมณีศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งห้องปฏิบัติการของ GIT เป็นแห่งเดียวในไทย ที่ได้รับการรับรอง ISO 17025 : 2017 และได้เยี่ยมชม GIT TEMP Pop-Up Store จุดจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาค ซึ่งเป็นการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชนในแต่ละท้องถิ่น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad