นับถอยหลัง RCEP บังคับใช้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565

นับถอยหลัง RCEP บังคับใช้

img

นับจากวันนี้ เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ที่ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP” ซึ่งเป็น FTA ฉบับที่ 14 ของไทย จะมีผลบังคับใช้
         
ดีเดย์ก็ตรงกันวันปีใหม่พอดี 1 ม.ค.2565
         
ทันที ที่ RCEP มีผลบังคับใช้ RCEP จะกลายเป็น “FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
         
ปัจจัยที่ทำให้ RCEP ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมี “ประชากร” รวมกันถึง 2,300 ล้านคน คิดเป็น 30.2% ของประชากรโลก

มี “จีดีพี” มูลค่า 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 33.6% ของจีดีพีโลก  

มี “การค้า” มูลค่า 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 30.3% ของมูลค่าการค้าโลก 

ในเมื่อ RCEP เป็น FTA ใหญ่ที่สุดในโลก “ผลประโยชน์” ของไทย ก็น่าที่จะ “ใหญ่” ตามไปด้วย
         
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ไปเตรียมความพร้อมในทุกด้าน เพื่อรองรับการบังคับใช้

ทั้งการชี้เป้าให้ผู้ประกอบการไทยใช้ประโยชน์

ทั้งการเตรียมระบบรองรับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า

ทั้งการส่งเสริมและผลักดันการส่งออก
         
พูดถึงประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ “กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ” ได้ชำแหละให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้  
         
การลดภาษีสินค้า” สมาชิกจะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ
         
สินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์เพิ่มเติมจาก FTA เดิมที่มีอยู่ มีทั้งหมด 653 รายการ จากจีน 33 รายการ ญี่ปุ่น 207 รายการ และเกาหลีใต้ 413 รายการ
         



โดย “เกาหลีใต้” จะเปิดตลาดเพิ่ม เช่น ผักผลไม้แปรรูปและไม่แปรรูป น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้งมันสำปะหลัง สินค้าประมง พลาสติก เครื่องแก้ว ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น

ญี่ปุ่น” เช่น สินค้าประมง ผัก ผลไม้ปรุงแต่ง แป้งสาคู น้ำมันถั่วเหลือง กาแฟคั่ว น้ำผลไม้ เป็นต้น

จีน” เช่น พริกไทย สัปปะรดแปรรูป น้ำมะพร้าว ตัวรับสัญญาณโทรทัศน์ สไตรีน ชิ้นส่วนยานยนต์ กระดาษ เป็นต้น 
         
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีทางเลือกใช้แหล่งวัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้น สามารถนำวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดภายใต้ RCEP มาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าต่อได้
         
ที่เด็ดเลย ก็คือ ไทยจะได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะในการส่งออก เมื่อสินค้าไปสู่ด่าน ถ้าเป็น “สินค้าเน่าเสีย” ผู้ค้าจะต้องปล่อยสินค้าภายในเวลา 6 ชั่วโมง

เป็นประโยชน์ต่อการส่งออก “ผลไม้และผัก” หลายรายการของไทย

ไม่เพียงแค่นั้น จะมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่าน “ระบบอีคอมเมิร์ซ” ทำให้ “ผู้ประกอบการการค้าออนไลน์” มีตลาดกว้างขึ้น มีกฎเกณฑ์กติกาชัดขึ้น

ส่วน “ผู้บริโภค” ของไทย จะได้รับความคุ้มครองจากการนำเข้าสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากประเทศสมาชิก RCEP
         
ทางด้าน “การค้าบริการ” และ “การลงทุน” จะมีโอกาสมากขึ้น เพราะ RCEP ได้ลดหรือยกเลิกกฎระเบียบและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาคบริการหรือการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคบริการ เช่น มาตรการ ขั้นตอนในการขอรับใบอนุญาต และการตรวจสอบคุณวุฒิ คุณสมบัติของผู้ให้บริการ

จุดนี้ จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเกินจำเป็น นักลงทุนไทยสามารถจัดตั้งกิจการและลงทุนในประเทศของสมาชิกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนใน “สาขา” ที่ไทยมีศักยภาพ เช่น การก่อสร้าง ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ประเภทเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชัน และค้าปลีก เป็นต้น

ในทางกลับกัน ไทยจะดึงดูด “การลงทุน” จากต่างชาติเข้ามาไทย โดยเฉพาะการลงทุนในสาขาที่ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยต่อยอดอุตสาหกรรม S curve ตามนโยบายรัฐบาล เช่น การวิจัยและพัฒนา สิ่งแวดล้อม ICT การศึกษา การซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น

สำหรับการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์ “กรมการค้าต่างประเทศ” ได้จัดทำระบบรองรับการใช้สิทธิประโยชน์ RCEP ไว้แล้ว

มีการทำระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต

รวมทั้ง ได้เตรียมบุคลากรเพื่อรองรับ ทั้งการทำหน้าที่ออกหนังสือรับรอง Form RCEP การกำกับดูแลการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต
         
ขณะที่ “กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ” ได้เตรียมพร้อมจัด “กิจกรรม” ช่วยทำตลาด ขยายตลาดในประเทศเป้าหมาย
         
เรียกได้ว่า ทำงานประสานกันเป็นทอด ๆ ตามนโยบายที่นายจุรินทร์ได้สั่งการ ตั้งแต่ชี้เป้า เตรียมระบบรองรับ ไปจนถึงช่วยผลักดันส่งออก
         
ถ้าใครยังมีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเกี่ยวกับ RCEP เพิ่มเติม ปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการ RCEP Center ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หรือเว็บไซต์www.dtn.go.th หรือโทร 02-507-7555
         
ถ้าเป็นเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ RCEP ดูข้อมูลได้เพิ่มเติมได้ที่ www.dft.go.th หรือโทรสายด่วน 1385
         
ถ้าเป็นเรื่องการทำตลาดส่งออก กิจกรรมส่งออก ดูข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.ditp.go.thหรือโทรสายด่วน 1169
         
เตรียมพร้อมให้หมดแล้ว
         
เหลือแค่ผู้ประกอบการไทย “ใช้ประโยชน์” แค่นั้น
 
ซีเอ็นเอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad