กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา แง้ม 3 กลไก บิ๊กร็อกพลิกโฉมบรรทัดฐานโลกยุคเก่า ไม่อิงหลักสูตรพื้นฐาน มุ่งสร้างสมรรถนะเด็กจริง มุ่งใช้ทักษะเพื่ออนาคตได้ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2565

กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา แง้ม 3 กลไก บิ๊กร็อกพลิกโฉมบรรทัดฐานโลกยุคเก่า ไม่อิงหลักสูตรพื้นฐาน มุ่งสร้างสมรรถนะเด็กจริง มุ่งใช้ทักษะเพื่ออนาคตได้


กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา แง้ม 3 กลไก บิ๊กร็อกพลิกโฉมบรรทัดฐานโลกยุคเก่า ไม่อิงหลักสูตรพื้นฐาน มุ่งสร้างสมรรถนะเด็กจริง มุ่งใช้ทักษะเพื่ออนาคตได้

รศ. ดร.วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า หลักสูตรการศึกษาของไทยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ความรู้จากในตำราในรูปแบบเดิมไม่เพียงพอต่อทักษะการทำงานและการดำเนินชีวิตในอนาคต โดยสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งเสริมสร้างให้กับเยาวชนคือ สมรรถนะหรือความสามารถในการนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิชาการมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง และเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปการเรียนการสอนของระบบการศึกษาไทยให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ (Competency-based Learning)  หรือ บิ๊กร็อกที่ 2 เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

รศ. ดร.วิวัฒน์ กล่าวเสริมว่า การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาจากหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standards based Curriculum) มาเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ต้องดำเนินการผ่าน 3 กลไกหลัก ได้แก่ ผู้เรียน ครูผู้สอน ผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อให้ทั้งระบบดำเนินไปในทิศทางเดียวกันและรองรับกัน ดังนี้ ผู้เรียน ต้องรับรู้ว่าตนเองจะถูกประเมินทักษะใหม่ๆ นอกเหนือจากการทดสอบความรู้รายวิชาเรียน เช่น ทักษะการทำงานร่วมกับเพื่อน การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์  ครูผู้สอน ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตร สามารถออกแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ ไปจนถึงการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง ผู้บริหารสถานศึกษา ต้องมีสมรรถนะในการบริหารงานวิชาการและการนิเทศการจัดการเรียนรู้ กำหนดมาตรฐานการประเมินของครูผู้สอน และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในโรงเรียนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของทั้งครูผู้สอนและผู้เรียน

สำหรับการประเมินวัดผลของหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-Based Curriculum) กำหนดว่าผู้เรียนต้องได้รับการพัฒนาสมรรถนะเพื่อนำไปใช้ต่อยอดในการอนาคตได้ โดยไม่ขึ้นกับเนื้อหาสาระของศาสตร์ใดๆ รวมถึงจำนวนชั่วโมงเรียน ซึ่งแตกต่างจากหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standards based Curriculum) ที่กำหนดตัวชี้วัดจากผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียน มีการทดสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียนเป็นระยะจนจบการศึกษาภาคบังคับและการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงการวัดทักษะหรือทัศนคติวิธีการคิดของผู้เรียนอย่างชัดเจน โดยปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ดำเนินการผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะในขั้นทดลองใช้ผ่าน “โครงการนำร่องการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” กรอบเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 – ปีการศึกษา 2567 เพื่อปรับปรุงและเตรียมขยายผลต่อทั่วประเทศ

“การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะไม่สามารถสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น และต้องอาศัยร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวของในทุกระดับเพื่อพัฒนากรอบหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมถึงผู้ปกครองที่ต้องเข้าใจว่าในอนาคตเกรดเฉลี่ยจะไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดสมรรรถนะของเด็กได้ นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมแนวคิด Unlearn และ Relearn ให้กับผู้เรียนคือ การไม่ยึดติดและละทิ้งสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อน เพราะบางเรื่องที่เคยเรียนรู้อาจหมดอายุไปแล้วเนื่องจากโลกก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา รวมถึงพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องที่เคยรู้ด้วยมุมมองใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในการดำรงชีวิตให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศ และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก” รศ. ดร.วิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad