อาจารย์ มทร. พร้อมด้วยทีมวิจัย พบจิ้งจกหินชนิดใหม่ของโลก “จิ้งจกหินวงจันทร์” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565

อาจารย์ มทร. พร้อมด้วยทีมวิจัย พบจิ้งจกหินชนิดใหม่ของโลก “จิ้งจกหินวงจันทร์”

อาจารย์ มทร. พร้อมด้วยทีมวิจัย พบจิ้งจกหินชนิดใหม่ของโลก “จิ้งจกหินวงจันทร์”

ครั้งแรกของโลกกับการค้นพบ “จิ้งจกหินวงจันทร์” (Gehyra wongchan Pauwels, Meesook, Kunya, Donbundit & Sumontha, 2022) ซึ่งค้นพบโดยทีมวิจัยที่ทำการสำรวจสัตว์เลื้อยคลานบริเวณเขาหินปูนจังหวัดลพบุรี นำทีมวิจัยพร้อมเก็บตัวอย่างชุดต้นแบบโดย ดร.วรวิทู มีสุข อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่) ร่วมด้วย นายมนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมงชำนาญการ กรมประมง, นางสาวณัฐสุดา ดรบัณฑิต นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกีรติ กันยา หัวหน้าฝ่ายบำรุงสวนสัตว์ สวนสัตว์นครราชสีมา

“จิ้งจกหินวงจันทร์” (Gehyra wongchan Pauwels, Meesook, Kunya, Donbundit & Sumontha, 2022) ค้นพบขณะที่ทีมวิจัยกำลังทำการสำรวจสัตว์เลื้อยคลานบริเวณเขาหินปูนจังหวัดลพบุรี โดยได้พบจิ้งจกหินไม่มีเล็บบนนิ้วที่ 1 ซึ่งต่างจากจิ้งจกทั่ว ๆ ไป ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน ลายโค้งสีเข้มคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว ในเบื้องต้นไม่สามารถระบุชนิดได้ จึงเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบร่วมกับ มร.โอลิเวียร์ เอส. จี. เพาเวลส์ (Mr. Olivier S.G. Pauwels) ภัณฑารักษ์ สถาบันธรรมชาติวิทยาแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม ซึ่งพบว่าเป็นจิ้งจกหินที่ยังไม่เคยมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน จากการที่ทีมวิจัยพบจิ้งจกหินชนิดนี้ที่เขาวงพระจันทร์ และถ้ำเขาจันทร์ จึงเป็นที่มาของชื่อวิทยาศาสตร์ ‘wongchan’ และชื่อไทย “วงจันทร์”


จากการสำรวจพื้นที่เขาหินปูน พบว่าเป็นระบบนิเวศที่แยกขาดจากระบบนิเวศอื่น สิ่งมีชีวิตบริเวณนี้หลายชนิดมีความจำเพาะกับถิ่นอาศัย ไม่สามารถปรับตัวไปอยู่ในระบบนิเวศอื่นได้ หากถิ่นอาศัยถูกทำลาย จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ รายงานการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะในประเทศไทย เป็นหลักฐานชัดเจนที่แสดงถึงความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่แห่งนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาระบบนิเวศเขาหินปูนในบริเวณนี้ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลง เราควรร่วมกันอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิตเพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ของความหลากหลายทางทรัพยากร เป็นการรักษาโอกาสที่จะมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรทางชีวภาพของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

นับเป็นความภาคภูมิใจของวงการวิชาการไทยอีกครั้ง ที่บุคลากรทางด้านวิชาการไม่หยุดศึกษาค้นคว้า สำรวจทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในประเทศและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักสู่สากล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad