สัตวแพทย์ ย้ำอากาศร้อน ดูแลสุขอนามัย กินเนื้อหมูปรุงสุก ปลอดภัยจากไข้หูดับ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

สัตวแพทย์ ย้ำอากาศร้อน ดูแลสุขอนามัย กินเนื้อหมูปรุงสุก ปลอดภัยจากไข้หูดับ

สัตวแพทย์ ย้ำอากาศร้อน ดูแลสุขอนามัย กินเนื้อหมูปรุงสุก ปลอดภัยจากไข้หูดับ

สัตวแพทย์ ม.เกษตร ย้ำผู้บริโภคงดรับประทานเนื้อสุกรดิบ หรือสุกๆดิบๆ ลดความเสี่ยงเป็นโรคไข้หูดับ อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แนะเลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งจำหน่ายมีมาตรฐาน สังเกตุลักษณะเนื้อหมูมีสีแดงธรรมชาติ ไม่ช้ำเลือด ไม่มีกลิ่นเหม็น ทำความสะอาดเนื้อสุกร เก็บในภาชนะสะอาดและอุณหภูมิที่เหมาะสม รักษาสุขอนามัย ปรุงสุกก่อนบริโภคเพื่อทำลายเชื้อโรคต่างๆ

ผศ.น.สพ.ดร อลงกต บุญสูงเนิน ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการข่าวรายงานพบคนไทยป่วยเป็นไข้หูดับในหลายพื้นที่ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการรับประทานเมนูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้ ส้า ก้อย ซอยจุ๊ หมก เป็นอีกปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทุกปี   

จากรายงานแนวทางการป้องกันควบคุมโรคสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (2564) กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคไข้หูดับ มีการแพร่ระบาดมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว ระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2562 พบอัตราผู้ป่วยและเสียชีวิตส่วนใหญ่ในภาคเหนือ รองลงมาเป็นภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตามลำดับ

ในแต่ละปียังพบผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม มักพบผู้ป่วยโรคนี้จำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากช่วงเทศกาลและวัฒนธรรมการในการบริโภคอาหาร ความชอบในการรับประทานเนื้อสุกรดิบ หรือสุกๆดิบๆ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis: S. suis) เป็นต้น

โรคไข้หูดับ มีสุกรเป็นสัตว์พาหะนำโรค ซึ่งมักไม่แสดงอาการป่วย แต่จะมีอาการเมื่อภูมิคุ้มกันลดลง ดังนั้น การเลี้ยงสุกรในสภาพแวดล้อมที่ไม่แออัด อากาศในโรงเรือนถ่ายเทได้ดี มีการป้องกันอากาศเปลี่ยนแปลงกะทันหันได้ มีระบบป้องกันโรค สุกรจะมีร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคได้ดี ซึ่งทำให้สุกรเหล่านั้น มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อได้ต่ำมาก

ปัจจุบันระบบการจัดการฟาร์มสุกรมีความทันสมัย โดยเฉพาะในฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ที่แสดงถึงมาตรฐานการผลิตเนื้อสุกรสู่ผู้บริโภค (From farm to table) ที่มั่นใจได้ว่ามีความปลอดจากเชื้อ S.suis อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมของการป้องกันและเฝ้าระวังเชิงรุก ด้วยการกระจายข่าวสารเตือนภัยประชาชนให้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง เพื่อลดเสี่ยงต่อการเกิดโรค จึงเป็นวิธีการควบคุมและป้องกันที่ดี

ผศ.น.สพ.ดร อลงกต แนะนำเพิ่มเติมว่า ในฐานะผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงควรตระหนักและยึดหลักปฏิบัติเพื่อสุขภาวะที่ดี ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วย ได้แก่ 1) เลือกซื้อเนื้อสุกรจากแหล่งจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน สะอาด ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือกรมอนามัย  2) สังเกตเนื้อสุกรมีสีแดงธรรมชาติ ไม่ช้ำเลือดหรือมีจุดเลือดกระจายทั่ว ไม่มีกลิ่นเหม็น ผิวเรียบไม่มีตุ่มก้อน และเนื้อไม่แฉะ 3) เก็บรักษาเนื้อสุกรในภาชนะที่สะอาด แยกเป็นสัดส่วนสำหรับพร้อมนำไปปรุงอาหาร หากต้องการเก็บไว้นานควรเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส หรือเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นระหว่าง 5 – 7 องศาเซลเซียสสำหรับเนื้อสัตว์ที่เตรียมพร้อมปรุง 4) ล้างมือและวัตถุดิบให้สะอาดก่อนนำไปปรุงอาหาร 5) ปรุงอาหารให้สุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียสในเวลาไม่น้อยกว่า 2 นาทีเพื่อทำลายเชื้อโรคต่างๆ งดบริโภคเนื้อสุกร เลือด และอวัยวะภายในที่ดิบ หรือสุกๆดิบๆ ซึ่งนอกจะลดความเสี่ยงอาการป่วยไข้หูดับในช่วงอากาศร้อนแล้ว ยังลดเสี่ยงจากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อโรคที่เป็นอันตราย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad