โมเมนตัมการส่งออกไทยเดือน ก.ค. แผ่วลง จากการส่งออกไปจีนที่หดตัวรุนแรง มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.ค. ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2565

โมเมนตัมการส่งออกไทยเดือน ก.ค. แผ่วลง จากการส่งออกไปจีนที่หดตัวรุนแรง มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.ค. ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือน

 

โมเมนตัมการส่งออกไทยเดือน ก.ค. แผ่วลง จากการส่งออกไปจีนที่หดตัวรุนแรง

มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ก.ค. ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือน

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเดือนกรกฎาคม 2022 อยู่ที่ 23,629.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.3%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ชะลอตัวลงมากจากเดือนมิถุนายนที่ 11.9% แม้ว่าจะเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 แต่การขยายตัวเดือนนี้ชะลอลงมากที่สุดในรอบ 17 เดือน มูลค่าการส่งออกหักทองคำในเดือนนี้ขยายตัวได้ 4.7% ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ 11.5% อยู่มาก หากพิจารณาการส่งออกเดือนกรกฎาคมเทียบกับเดือนมิถุนายน (แบบปรับฤดูกาล) พบว่าการส่งออกไทยหดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ -7.8% แต่หากไม่รวมทองคำจะหดตัวสูงถึง -11.9% 

ในภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 ยังขยายตัวได้ดีที่ 11.5% และหากหักทองคำขยายตัวที่ 9.7%

 

สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าแร่และเชื้อเพลิงยังคงเป็นสินค้าหนุนการส่งออกที่สำคัญ ในขณะที่สินค้าเกษตรพลิกกลับมาหดตัวเล็กน้อย

ในภาพรวมการส่งออกรายสินค้าพบว่า (1) สินค้าเกษตรที่เคยขยายตัวดีในช่วงที่ผ่านมาหดตัวเล็กน้อยเป็นครั้งแรก

ในรอบ 5 เดือนที่ -0.3% เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 21.7% โดยสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ ไก่ ข้าว และยางพารา ในขณะที่ผลไม้ (โดยเฉพาะผลไม้สดไปจีน) หดตัวลงมาก (2) อย่างไรก็ตาม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้มากถึง 38.1% เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 28.3% โดยสินค้าที่เป็นปัจจัยหนุนสำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (3) สินค้าอุตสาหกรรมทรงตัวที่ 0.1% จากเดือนก่อนหน้าที่ 6.7% อย่างไรก็ตาม หากหักสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่ได้สะท้อนภาพรวมของการส่งออกที่แท้จริง ได้แก่ ทองคำ อาวุธ และอากาศยานฯ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว -0.6% โดยในเดือนนี้มีสินค้าหนุนสำคัญ ได้แก่ อากาศยานฯ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับหักทอง หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ในขณะที่เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เม็ดพลาสติก ทองคำ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบหดตัวลงมากสะท้อนปัญหาการขาดแคลนชิปที่ยังมีอยู่ และ (4) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงยังขยายตัวได้ดีที่ 47.2% แต่ก็ชะลอตัวลงจาก 73.7% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นแนวโน้มตามที่ EIC คาดไว้ใน Flash Exports ฉบับเดือนมิถุนายนว่า การส่งออกเชื้อเพลิงของไทยอาจชะลอตัวลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงจากความกังวลว่าเศรษฐกิจสำคัญหลายประเทศจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

การส่งออกรายตลาดมีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในจีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น

การส่งออกรายตลาดามีสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น โดย (1) มูลค่าการส่งออกไปจีนในเดือนนี้หดตัว -20.6% สูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ -2.7% อยู่มาก สอดคล้องกับข้อมูลการนำเข้าของจีนในเดือนกรกฎาคมที่แม้จะขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 2.3% แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 4% (Reuters Consensus) อีกทั้ง ข้อมูลแบบปรับฤดูกาลหดตัว -1.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าของจีนจากไทยหดตัว -8.6% (หรือ -12.3%MOM_sa) โดยสินค้าฉุดการส่งออกไปจีนที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลไม้ (โดยเฉพาะผลไม้สด) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (2) การส่งออกไปญี่ปุ่นและฮ่องกงหดตัว -4.7% และ -31.3% ตามลำดับ (3) การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่องจากการชะลอตัวและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ (4) การส่งออกไปยุโรป (EU28) ยังขยายตัวได้ดีที่ 9.3% แม้ยุโรปจะเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจมาก 

(5) การส่งออกไปรัสเซียและยูเครนหดตัวต่อเนื่องสูงถึง -42.6% และ -87.5% แต่ไม่ได้มีนัยต่อเศรษฐกิจไทยมากเนื่องจากเป็นตลาดส่งออกขนาดเล็กของไทย สำหรับการส่งออกไปยัง CLMV และ ASEAN5 ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

การนำเข้าชะลอตัวลงเล็กน้อย ส่งผลให้ดุลการค้า (ในระบบศุลกากร) ขาดดุลต่อเนื่อง

ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 27,289.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.9% ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ 24.5% เล็กน้อย แม้ระดับราคาสินค้ากลุ่มพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลงบ้างและทำให้การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวในอัตราลดลงเป็น 79% จาก 124.8% ในเดือนก่อนหน้า สินค้ากลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งที่หดตัวต่อเนื่อง -21% รวมถึงสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคพลิกกลับมาหดตัวที่ -1% และ -4.6% ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนในตะกร้าสินค้านำเข้าใหญ่สุด คิดเป็น 43.6% ของการนำเข้าทั้งหมดในปี 2021 ขยายตัวมากถึง 30.2% ในเดือนนี้ เร่งตัวขึ้นมากจาก 11.6% ในเดือนก่อน สำหรับดุลการค้าเดือนนี้ขาดดุล -3,660.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2022 มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 21.4% และดุลการค้าขาดดุล -9,916.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

EIC ประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน จะยังไม่ยกระดับความรุนแรง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกมีจำกัด

EIC ประเมินว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในกรณีไต้หวัน ณ ปัจจุบันจะยังไม่ยกระดับความรุนแรง โดยในกรณีฐาน จีนจะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อไต้หวันในเชิงสัญลักษณ์และเพิ่มการซ้อมรบแค่ชั่วคราว ขณะที่สหรัฐฯ จะยังไม่ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อจีนโดยตรง ซึ่งในกรณีนี้ EIC ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจะมีจำกัด เศรษฐกิจโลกยังสามารถขยายตัวได้ที่ 3.2% และการค้าโลกขยายตัวได้ที่ 4.1% ในปีนี้ แต่ในระยะยาวความตึงเครียดนี้จะส่งผลให้การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ (Decoupling) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ อาจเร่งตัวเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศลดลง อีกทั้ง อาจทำให้การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ทำได้ลำบากขึ้น อย่างไรก็ดี หากจีนและไต้หวันลดการค้าขายระหว่างกัน อาจส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการส่งออกไทยในบางกลุ่มสินค้า ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องยนต์ เนื่องจากจีนและไต้หวันพึ่งพาสินค้ากลุ่มนี้ระหว่างกันค่อนข้างสูงและไทยมีส่วนแบ่งตลาดของสินค้ากลุ่มนี้อยู่ในทั้งสองประเทศ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ EIC Monthly ประจำเดือนสิงหาคม 2022 และบทความ ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน : นัยต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก)

 

การส่งออกในระยะถัดไปมีแนวโน้มชะลอตัวจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย

การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวได้ดีที่ 11.5% และชะลอตัวลงมากในเดือนกรกฎาคม โดย EIC ประเมินว่าการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกันยายนจากความเสี่ยงและความเปราะบางในเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและนโยบายการเงินตึงตัว รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะสนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่อาจทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออก %YOY อาจเร่งตัวขึ้นได้ในเดือนสิงหาคมเป็นการชั่วคราวจากปัจจัยฐานต่ำในเดือนสิงหาคม 2021 โดย EIC อยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกของไทยทั้งปี 2022 ใหม่ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.8% ในปี 2022 และจะเผยแพร่ในช่วงเดือนกันยายนนี้


ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์, JP Morgan และ S&P Global

บทวิเคราะห์จาก... https://www.scbeic.com/th/detail/product/trade-260822

ผู้เขียนบทวิเคราะห์

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th)​            

นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส​                                                    

วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th)

นักวิเคราะห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad