สมาคมนักวางแผนการเงินไทยมุ่งผลักดันอาชีพ “นักวางแผนการเงิน CFP®" สถิติเผยอาชีพนี้กำลังเป็นที่ต้องการ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สมาคมนักวางแผนการเงินไทยมุ่งผลักดันอาชีพ “นักวางแผนการเงิน CFP®" สถิติเผยอาชีพนี้กำลังเป็นที่ต้องการ


สมาคมนักวางแผนการเงินไทยมุ่งผลักดันอาชีพ “นักวางแผนการเงิน CFP®" สถิติเผยอาชีพนี้กำลังเป็นที่ต้องการ

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association) ขานรับภาวะการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจหลังเกิดโควิด-19 มุ่งผลักดันอาชีพ “นักวางแผนการเงิน CFP” ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และวางแผนการเงินให้คนไทยมีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ผ่านกระบวนการอบรมและสอบวัดผลเพื่อรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ขยายจำนวนบุคลากรในอาชีพนี้ให้เพิ่มมากขึ้น

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทยเปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ ที่ตามมาทำให้ประชากรโลกรวมทั้งคนไทย หันมาให้ความใส่ใจกับสุขภาพทางการเงินของตนเองและครอบครัวมากขึ้น เห็นได้จากผลสำรวจความคิดเห็นของนักวางแผนการเงิน CFP ในประเทศไทย ที่พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักวางแผนการเงิน CFP ต่างระบุว่าในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีลูกค้าติดต่อเข้ามาขอรับคำปรึกษาวางแผนทางการเงินมากขึ้น และสอดคล้องกับผลสำรวจของ Financial Planning Standards Board Ltd. หรือ FPSB ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นนักวางแผนการเงิน CFP ทั่วโลกเกี่ยวกับการให้บริการวางแผนการเงินในอนาคต พบว่า 80% ของนักวางแผนการเงิน CFP เชื่อว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ความต้องการที่มีต่อบริการวางแผนการเงินในประเทศไทยและทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปัจจุบัน และชี้ชัดไปถึงว่า “ทำไมคนถึงต้องการใช้บริการวางแผนการเงินมากขึ้น” โดยเหตุผลที่สำคัญคือ การเตรียมพร้อมเพื่อวัยเกษียณ การตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการวางแผนการเงินที่เพิ่มขึ้น ความต้องการคำปรึกษาจากมืออาชีพเนื่องจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความต้องการใช้บริการจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ตามลำดับ  


โดยข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับข้อมูลจากคำถามที่ว่า “การบริการที่ลูกค้าต้องการจากนักวางแผนการเงิน CFP มากที่สุดในอนาคตคืออะไร” ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นในเรื่อง การวางแผนเพื่อการเกษียณ การวางแผนการลงทุน การวางแผนมรดกและการส่งต่อความมั่งคั่ง รวมถึงการเงินที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ และ Long-term care ตามลำดับ

ทั้งนี้ การจะเข้ามาเป็นนักวางแผนการเงิน CFP นั้น จำเป็นต้องพัฒนาทักษะและความรู้ทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่องทั้ง Hard Skills และ Soft Skills เพื่อให้มีความรู้ที่ทันสมัยและทันต่อเหตุการณ์เสมอ พร้อมให้การบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับนักวางแผนการเงิน CFP ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐานสากล 4 ด้าน (4 E’s) ได้แก่

1.Education หรือ การศึกษา ซึ่งต้องผ่านการอบรมองค์ความรู้เรื่องการวางแผนการเงินทั้งหมด 6 ชุดวิชา ซึ่งครอบคลุมเรื่อง พื้นฐานการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ การวางแผนการลงทุน การวางแผนการประกันภัย การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ การวางแผนภาษีและมรดก และการจัดทำแผนการเงิน

2.Exam หรือ การสอบวัดผล ก่อนจะเป็นนักวางแผนการเงิน CFP ต้องทำการสอบวัดผล ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมองค์ความรู้ตามที่ได้อบรมมาทั้งหมด เพื่อวัดความรู้และประเมินความสามารถในการนำความรู้และทักษะไปประยุกต์ใช้ในการให้คำปรึกษา และจัดทำแผนการเงินให้เข้ากับสถานการณ์การวางแผนการเงินจริงได้

3.Experience หรือ ประสบการณ์การทำงาน ต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการเงินอย่างน้อย 3 ปี เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่านักวางแผนการเงิน CFP มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะ สำหรับให้คำปรึกษาและจัดทำแผนการเงินให้แก่ลูกค้าแต่ละรายในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.Ethics หรือ จรรยาบรรณ ต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามจรรยาบรรณและความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ วางแผนการเงินและหลักปฏิบัติการวางแผนการเงิน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบที่นักวางแผนการเงิน CFP พึงปฏิบัติต่อสาธารณะ ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน และนายจ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อวิชาชีพนักวางแผนการเงิน


“นักวางแผนการเงิน CFP จะมีวิธีการวางแผนการเงินแบบครอบคลุม โดยเริ่มต้นจากเป้าหมายของผู้รับคำปรึกษาไม่ใช่เพียงเน้นการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือประกันภัยแล้วจบไป รวมถึงหยิบจับเครื่องมือการเงินที่หลากหลาย มาบริหารจัดสรรวางแผนให้เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ โดยยึดถือเป้าหมายและประโยชน์สูงสุดของผู้รับคำปรึกษาเป็นสำคัญนั่นเอง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีเกราะป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง รวมถึงความผันผวนของเศรษฐกิจที่ไม่สามารถกำหนดได้ แต่อย่างน้อยเมื่อมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น คุณจะมีผู้เชี่ยวชาญที่เดินอยู่ข้าง ๆ พร้อมให้คำแนะนำและปรับเปลี่ยนแผนการเงินเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ชีวิตของคุณที่เปลี่ยนแปลงไปจนสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้” นายวศิน เน้นย้ำให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของนักวางแผนการเงิน CFP

ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวางแผนการเงิน CFP จำนวน 421 คน ซึ่งถือว่ายังเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เราจึงมีความต้องการเร่งพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการของคนไทยที่หันมาใส่ใจสร้างสุขภาพทางการเงินกันมากขึ้น   ซึ่งสมาคมฯ ยังคงเน้นย้ำการสร้างนักวางแผนการเงิน CFP ที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง นอกเหนือจากการบริหารโครงการคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ตามมาตรฐานสากลแล้ว สมาคมฯ ยังมีการจัดการดูแลสมาชิก มุ่งสร้างเครือข่ายของนักวางแผนการเงิน CFP ที่มีคุณภาพ ผ่านการจัดกิจกรรมพัฒนาองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องในทุกมิติทั้งความรู้ทางวิชาการ และทักษะที่จำเป็นสำหรับนักวางแผนการเงิน CFP อาทิ กิจกรรม CFP® Professional Forum ประจำเดือน งานสัมมนา TFPA Wealth Management Forum ประจำปี กิจกรรมมอบวุฒิบัตร กระชับความสัมพันธ์ประจำปี และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่เปิดโอกาสให้นักวางแผนการเงิน CFP® ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยคาดหวังภายในสิ้นปีจะมีนักวางแผนการเงิน CFP เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง

“ทางสมาคมมองว่า การจะมาเป็นนักวางแผนการเงิน CFP ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มคนที่เรียนมาทางด้านนี้โดยตรงเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างถึงคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาศึกษาและอบรมเพื่อให้ได้คุณวุฒินี้ไปประกอบอาชีพนี้ได้ ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายสำหรับ นักวางแผนการเงิน CFP หรือผู้ที่จะมารับคำปรึกษาเรื่องการวางแผนการเงินนั้นไม่จำกัดเช่นกัน เพราะ ‘ทุกคน’ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ จะเพิ่งเริ่มทำงาน จะเป็นวัยกลางคน หรือวัยเกษียณอายุแล้ว ก็สามารถวางแผนการเงินได้ทั้งนั้น เพราะเรื่องการเงินเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตของทุกคนนั่นเอง หากว่าคนไทยและครอบครัวมีสุขภาพทางการเงินที่ดีแล้ว ก็ย่อมส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้นไปด้วย” 

โดยผู้ที่สนใจเข้าสู่เส้นทางอาชีพนักวางแผนการเงิน CFP หรือรับคำปรึกษาจากนักวางแผนการเงิน CFP สามารถติดต่อหรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทั้ง 3 ช่องทางคือ  www.tfpa.or.th ช่องทาง Facebook page ที่ “สมาคมนักวางแผนการเงินไทย” และทาง LINE Official Account @cfpthailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad