ไทยพาณิชย์ แนะเอสเอ็มอีรับมือเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูง ชู 3 กลยุทธ์ “บริหารเสี่ยง-ยึดลูกค้าศูนย์กลาง-ปรับโมเดลธุรกิจสอดคล้องสถานการณ์” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2565

ไทยพาณิชย์ แนะเอสเอ็มอีรับมือเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูง ชู 3 กลยุทธ์ “บริหารเสี่ยง-ยึดลูกค้าศูนย์กลาง-ปรับโมเดลธุรกิจสอดคล้องสถานการณ์”

 

        ไทยพาณิชย์ แนะเอสเอ็มอีรับมือเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูง ชู 3 กลยุทธ์ “บริหารเสี่ยง-ยึดลูกค้าศูนย์กลาง-ปรับโมเดลธุรกิจสอดคล้องสถานการณ์”

 ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ จากราคาพลังงานที่ผันผวน อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกรวมถึงไทยที่เร่งตัวขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ความตึงเครียดของมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีนที่เพิ่มขึ้น การปรับขึ้นของค่าจ้างแรงงาน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดงานสัมมนา “SME OF THE FUTURE อนาคต SMEs ไทยไปต่ออย่างไรดี เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเอสเอ็มอีให้พร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงและความท้าทายในแง่มุมต่างๆ และช่วยเป็นแนวทางในการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับโลกธุรกิจในอนาคตที่กำลังจะมาถึง

          ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ฉายภาพรวมเศรษฐกิจโลกในงานสัมมนาครั้งนี้ โดยระบุว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะมีความไม่แน่นอนสูงจากปัจจัยลบดังกล่าวข้างต้น แต่ยังมีความย้อนแย้งในหลายมิติ เช่น ภาคการผลิตโลกโดยรวมยังดี สวนทางกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวโดยเฉพาะในสหรัฐฯ สวนทางกับตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่ประเทศไทย การจับจ่ายใช้สอยในประเทศเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคและการเปิดประเทศ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกเข้ามากระทบเศรษฐกิจในประเทศ เป็นต้น โดยความย้อนแย้งดังกล่าวนี้สะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังยืนอยู่บน “รอยต่อของการเปลี่ยนแปลงระหว่างดีกับไม่ดี”

 ขณะที่ในระยะยาว แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย แต่ธุรกิจในโลกจากนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น รูปแบบการผลิต การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นผลให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวรับมือกับปัญหาทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า และปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว เพราะต่อให้เศรษฐกิจกลับมาสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าจะกลับมาขายดี โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ปรับตัวไม่ทัน            

          “ในสหรัฐอเมริกา ภาคแรงงานยังเข้มแข็ง ญี่ปุ่นแม้อัตราการติดเชื้อโควิด19 สูง แต่ภาคส่งออกและการบริโภคยังดี ส่วนประเทศที่น่าเป็นห่วงคือ ยุโรป และจีน ถามว่าประเทศไหนจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยุโรปน่าจะมาก่อน อังกฤษน่าจะเป็นประเทศแรก เนื่องจากเผชิญกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และส่อจะขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ เป็นผลพวงจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน  ขณะที่ยอดขายและการผลิตสินค้าในยุโรปปรับตัวลดลง และจีนที่มรสุมเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจากนโยบายซีโร่โควิดที่กระทบต่อภาคการผลิต ต่อเนื่องมาถึงกำลังซื้อของคนจีนเริ่มหายไประดับหนึ่ง ลามมาเกิดปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์”

          อย่างไรก็ตาม แม้หลายประเทศจะประสบปัญหา แต่รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า “อาเซียน” ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ ได้รับผลกระทบไม่มากจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากขนาดของกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ โดยเห็นว่าการเพิ่มอัตราการค้าร่วมกันระหว่างอาเซียน จะเป็นแนวทางลดผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ดี เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะแตะ 10 ล้านคนในปี 2565 ส่งผลให้รายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องปรับตัวสูงขึ้น ช่วยเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่ภาคส่งออกไทยดีขึ้นในบางสินค้าในบางประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังอาเซียน แต่ในระยะถัดไปการส่งออกจะถูกขับเคลื่อนด้วยราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าในเชิงปริมาณ สะท้อนกำลังซื้อทั่วโลกที่ลดลง แต่สินค้าราคาแพงขึ้น 

โดยมีคำแนะนำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรับมือความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างผ่าน 3 กลยุทธ์  ได้แก่

           1. การรักษาระดับการเติบโตและบริหารความเสี่ยงธุรกิจ ด้วยการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น  เน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและบริหารวัตถุดิบ เพิ่มความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจให้ปรับตัวรับวิกฤตได้อย่างรวดเร็ว ดูแล balance sheet โดยลดสินค้าคงคลัง ลดหนี้ และดูแลความเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกด้าน ได้แก่ การ Hedging เพื่อลดความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นของซัพพลายเชนผ่านการบริหารความเสี่ยงของคู่ค้า รวมถึงการบริหารสินค้าคงคลัง

          2.การยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ได้แก่ เน้นการเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคและแนวโน้ม new normal อย่างใกล้ชิด การวิเคราะห์ข้อมูลให้เข้าใจความต้องการลูกค้า การนำเสนอสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคในรูปแบบใหม่ๆ และการสร้าง Customer journey เพื่อช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัลได้เร็วขึ้น 

          3.การทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้หลากหลายและลงทุนธุรกิจแห่งอนาคต โดยปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคและสอดคล้องกับสภาวะตลาด หันไปลงทุนในธุรกิจด้านอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากช่องทางเดียว การลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริหารจัดการ การลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน จัดทำแผน retain และ reskill พนักงานให้สอดรับกับการเข้ามาของเทคโนโลยีและเทรนด์ใหม่ๆ และมองหาโอกาสในการควบรวมธุรกิจ เป็นต้น

           ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถติดตามข้อมูลเคล็ดลับธุรกิจ และกิจกรรมงานสัมมนาที่จะเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจจากธนาคารไทยพาณิชย์และพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการลูกค้าเอสเอ็มอี ผ่านช่องทาง website : www.scb.co.th/th/sme-banking Facebook: www.facebook.com/groups/scbsme/ หรือ ติดต่อสอบถามข้อมูลธุรกิจได้ทาง SCB SME Business Call Center โทร. 02-722-2222    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad