โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” ก้าวสู่ปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “ผ้าขาวม้าพาสุข” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565

โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” ก้าวสู่ปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “ผ้าขาวม้าพาสุข”

 IMG_4089

โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย” ก้าวสู่ปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด “ผ้าขาวม้าพาสุข” สืบสานหัตถกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน 

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด
ผสานความร่วมมือกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เครือข่ายบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ทั่วประเทศ ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา และ ภาคเอกชน ดำเนินโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย อย่างต่อเนื่องจนประสบความสำเร็จ และก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 จากจุดเริ่มต้นของโครงการในปี พ.ศ.2559 ภายใต้การทำงานของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการร่วมกันพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของชุมชนในชนบททั่วประเทศ และมุ่งผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ้าขาวม้าทอมือ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้และพัฒนาทักษะอาชีพให้กับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทั่วประเทศ  


สำหรับ โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย เริ่มต้นโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)          นำโดย คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะกรรมการโครงการผ้าhขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ที่เป็นผู้ริเริ่มและหัวเรือหลักในการดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มโครงการ อีกทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนหลักในโครงการเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง สร้างความภาคภูมิใจในการสืบสานและต่อยอดหัตถกรรมพื้นบ้าน

ในปี 2565 นี้ โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่น หัตถศิลป์ไทย ภายใต้งาน “ผ้าขาวม้าทอใจ 2565” จัดขึ้นภายแนวคิด “ผ้าขาวม้าพาสุข” ที่สื่อถึงความสุข สุขใจทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และเกิดความสุขแก่สังคมที่สามารถนำผ้าขาวม้าทอมือไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มีกำหนดจัดขึ้นระหว่าง 26 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 ภายใต้งาน Sustainability Expo 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วน ให้พัฒนาเป็นทีมผ้าขาวม้าที่แข็งแกร่งและยั่งยืนเป็นหนึ่งเดียว โดยภายในงานยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Creative Young Designers เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือ ด้วยการรวมพลังคนรุ่นใหม่ มาร่วมสร้างสรรค์อัตลักษณ์ผ้าขาวม้าทอมือ โดยมีการบูรณาการความรู้ระหว่างคณะด้านการออกแบบและคณะด้านการบริหารธุรกิจในการช่วยพัฒนาผ้าขาวม้า ซึ่งได้ต่อยอดขยายพื้นที่การทำงานเป็น 17 ชุมชนทั่วประเทศ ร่วมกับ 16 มหาวิทยาลัยในโครงการ Eisa (Education Institute Support Activity) และ 3 สโมสรฟุตบอล เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือกับกลุ่มนักศึกษา ซึ่งนอกจากต่อยอดความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า ของใช้ ของที่ระลึก ของชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือให้มีความทันสมัยแล้ว ยังมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาด้านการตลาดและช่องทางการจัดจำหน่าย 


คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย กล่าวว่างาน “ผ้าขาวม้าทอใจ” ครั้งนี้นับเป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีก่อนๆ โดยกิจกรรมของเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน Sustainability Expo 2022 ซึ่งเป็นมหกรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ เป็นเพราะวัตถุประสงค์หลักของโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย และ “งานผ้าขาวม้าทอใจ”คือการสร้างรายได้และการพัฒนาทักษะต่างๆให้กับชุมชนผู้ผลิต  เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความผาสุกให้กับชุมชน อันนับเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติด้านสังคม 


SX1_5956


นับตั้งแต่ริเริ่มโครงการเมื่อปี 2559 เราได้เห็นพัฒนาการของสินค้าผ้าขาวม้าทอมือ และความร่วมมือในรูปแบบต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการด้านลายผ้า รูปแบบสินค้า คุณภาพการตัดเย็บ ตลอดจนการทำการตลาดผ่านช่องทางต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น เราได้เห็นความสนใจจากคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็น “ทายาทผ้าขาวม้า” ซึ่งเป็นลูกหลานของคนในชุมชนผู้ผลิต ที่หันกลับมายึดถือการผลิตสินค้าผ้าขาวม้าทอมือเป็นอาชีพ ความสนใจจากน้องๆนักศึกษาในโครงการ Creative Young Designer จากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่หันมาเลือกใช้ผ้าขาวม้าเป็นวัตถุดิบในการออกแบบ รวมไปถึงสโมรสรฟุตบอลหลายแห่งที่ได้ร่วมสนับสนุนนำผ้าขาวม้าทอมือมาประกอบเป็นสินค้าที่ระลึกของสโมสร แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคงจะเป็นการนำผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนในเครือข่ายของเราเข้าเป็นส่วนประกอบในชิ้นงานศิลปะขนาดยักษ์ที่ติดตั้งอยู่ในบริเวณโถงชั้น LG ของศูนย์ประชุมแห่งนี้ งานนี้เป็นผลงานศิลปะจากคุณเพ็ญจันทร์ วิญญรัตน์ หนึ่งในกรรมการโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยนับตั้งแต่วันเริ่มโครงการ  เรียกได้ว่า ชิ้นงานศิลปะนี้เป็นการยกระดับผ้าขาวม้าทอมือให้อยู่ในสายตาชาวโลกและผู้นำประเทศต่างๆที่จะเข้ามาร่วมงานในการประชุมระดับนานาชาติ ณ ศูนย์ประชุมแห่งนี้ อย่างถาวร


IMG_3905

      

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยประสบความสำเร็จใน 5 มิติหลัก คือ 1) การสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ้าขาวม้าทอมือ 2) การสร้างเครือข่ายภาควิชาการและภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนชุมชนในการสั่งซื้อ ให้ความรู้เชิงธุรกิจ และการออกแบบ 3) การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน 4) การสานต่องานผลิตและแปรรูปผ้าขาวม้าสู่คนรุ่นใหม่ และ 5) การสร้างห่วงโซ่การผลิตผ้าขาวม้าทอมือที่เข้มแข็ง มีความเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน หากมองในมิติเศรษฐกิจ โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย มีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ้าขาวม้าทอมือ จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมาอย่างต่อเนื่องนับเป็นจำนวนกว่า 185 ล้านบาท ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ สำหรับพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ประจำปี 2565 นี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการขยายเครือข่ายความร่วมมือ จากจุดเริ่มต้นเพียง 2 ชุมชน 2 มหาวิทยาลัย ในปี 2562 ไปสู่ 17 ชุมชน 16 สถาบันการศึกษา ในปีนี้ 

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เครือข่ายทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจร่วมงานกันมาในโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา จะยังคงร่วมกันถักทอแรงบันดาลใจในการพัฒนาผ้าขาวไทยต่อไปในอนาคต ซึ่งจะไม่เป็นเพียงการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น แต่จะยังช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ และที่สำคัญที่สุด คือ การทอใจคนในชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทุกแห่งให้มีความรักสามัคคีและภูมิใจในคุณค่าภูมิปัญญาของตนเอง

 

%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%88%20%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C%20%20%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%96%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2

คุณต้องใจ ธนะชานันท์ ผู้จัดการโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย กล่าวว่า ““โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย” เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ตลอดเวลาเกือบ 6 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้ได้รับความร่วมมืออันดียิ่งจากชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการร่วมกันพัฒนาคุณภาพและการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือให้มีความทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาด และยังเป็นการสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป 

ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะประสบวิกฤตการณ์ COVID-19 เช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลก แต่โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยก็ยังคงมีการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับวิธีการทำงานให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดลายผ้า “นวอัตลักษณ์” การจัดประกวดภาพถ่ายทางอินสตาแกรมภายใต้หัวข้อ “ผ้าขาวม้าพาสุข” การทำงานร่วมกันระหว่างนักศึกษาและชุมชนภายใต้กิจกรรม Creative Young Designer และการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำหนังสือ  “ผ้าขาวม้า นวอัตลักษณ์ วิถีใหม่แห่งลวดลายตาราง” อันเป็นผลให้คณะทำงานสามารถสร้างสรรผลงานโครงการออกมาได้แม้ในช่วง Lock down และมีการขยายเครือข่ายการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาสู่ 13 สถาบัน โดยจับคู่ทำงานร่วมกับ 15 ชุมชนผู้ผลิต และ 3 สโมสรฟุตบอล 

CMOS9069

การจัดงาน “ผ้าขาวม้าทอใจ” ในวันนี้ มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมผลงานของโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยในช่วงปี 2564 และ 2565 เพื่อนำออกสู่สายตาประชาชน ทั้งในรูปแบบการจัดแสดงแฟชั่นโชว์ การแสดงสินค้า และการเผยแพร่ข้อมูลผ่านหนังสือ “ผ้าขาวม้า นวอัตลักษณ์ วิถีใหม่แห่งลวดลายตาราง”   นอกจากนั้น ยังมีพิธีลงนามในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย กับสถาบันการศึกษา ชุมชนผู้ผลิต และ สโมสรฟุตบอลต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือในกิจกรรม Creative Young Designer สำหรับปีการศึกษา 2565-2566 

ในฐานะตัวแทนของคณะทำงานโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ดิฉันขอขอบพระคุณผู้สนับสนุนหลักของโครงการฯ ทั้ง บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย สถาบันการศึกษาในเครือข่าย EISA และ ภาคีทุกภาคส่วน ที่ได้ให้ความสนับสนุนโครงการนี้มาตลอดระยะเวลา 6 ปี ส่งผลให้โครงการฯ สามารถดำเนินงานมาได้อย่างต่อเนื่อง ดิฉันขอให้คำมั่นว่า โครงการของเราจะยังคงทำงานร่วมกับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการของเราจะยังได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านต่อไปในอนาคต เพื่อให้เราสามารถบรรลุถึงเป้าประสงค์หลัก คือ การพัฒนาผ้าขาวม้าทอมือของไทยเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนผู้ผลิตของเราทั่วประเทศ”

ขอเชิญเลือกช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าส่งตรงจาก ร้อยเอ็ด ลำปาง สุพรรณบุรี สุโขทัย เชียงใหม่ ปทุมธานี นนทบุรี ราชบุรี หนองบัวลำภู  นครราชสีมา บึงกาฬ อุดรธานี ในโซน Sustainable Marketplace ชั้น LG โซน B – Sufficient Living ชมการจัดแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ในชั้น G โซน Better Me ระหว่างวันที่ 26 กันยายน –  2 ตุลาคม 2565 ภายใต้งาน Sustainability Expo 2022 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น. ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook.com/PakaomaThailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad