ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตชี้สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยน่าเป็นห่วง ต้องยกระดับบริการสุขภาพจิตโดยเร่งด่วน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2565

ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตชี้สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยน่าเป็นห่วง ต้องยกระดับบริการสุขภาพจิตโดยเร่งด่วน

กระทรวงสาธารณสุขและองค์การยูนิเซฟเปิดตัวรายงานฉบับใหม่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในประเทศไทย

ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตชี้สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยน่าเป็นห่วง
ต้องยกระดับบริการสุขภาพจิตโดยเร่งด่วน

กรุงเทพฯ 31 สิงหาคม 2565 – รายงานการศึกษาล่าสุดของยูนิเซฟซึ่งเผยแพร่วานนี้ระบุว่า ประเทศไทยต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อยกระดับคุณภาพและความรวดเร็วของบริการสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ พัฒนาการ และอนาคตของพวกเขา

รายงาน การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย  ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ ใน คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์

ปัจจุบัน การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

 

ในงานเปิดตัวรายงานฉบับนี้ซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวานนี้ นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “ข้อมูลดังกล่าวน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือมันอาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่า เด็กและวัยรุ่นหลายล้านคนในประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต ทั้งโรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากปัจจัยมากมาย เช่น ความรุนแรง การถูกกลั่นแกล้ง ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  แต่น่าเสียดายที่ปัญหาดังกล่าวมักถูกบดบังเอาไว้ เนื่องจากการตีตราทางสังคมและการเข้าไม่ถึงข้อมูล การคัดกรอง การสนับสนุน ตลอดจนบริการด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม”

 

ปัญหาสุขภาพจิตอาจก่อผลกระทบรุนแรงในระยะยาวต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็นการจำกัดความสามารถของพวกเขาในการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ

 

รายงานการศึกษาดังกล่าวระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะในเชิงนโยบายและกฎหมาย รวมทั้งบริการบำบัดรักษา แต่ก็ยังมีช่องว่างที่สำคัญ เช่น การขาดงบประมาณ การขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำนวนจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ยังมีไม่เพียงพอในแต่ละหน่วยงาน

 

รายงานการศึกษาดังกล่าวระบุด้วยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยต้องกำหนดวิสัยทัศน์และแผนงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่นที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  นอกจากนั้น ต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้มีสุขภาพจิตที่ดี และได้รับการสนับสนุน การดูแล และบริการที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการในเวลาที่เหมาะสมและทันท่วงที

 

“เรากำลังทำให้ทั้งสังคมตกอยู่ในความเสี่ยง หากเราไม่ดูแลสุขภาพจิตใจของเด็กและวัยรุ่นอย่างเหมาะสม” นาง คิม กล่าวเสริม “สิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการคือการกำหนดให้การมีระบบสนับสนุนทางจิตใจที่ครบวงจรเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อป้องกันความสูญเสียของประเทศทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ  ยูนิเซฟมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและทุกหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันให้ระบบสนับสนุนทางจิตใจสอดคล้องกับความต้องการและเข้าถึงเด็กและวัยรุ่นก่อนที่จะสายเกินไป”

 

ดาวน์โหลดรายงานการศึกษาได้ ที่นี่

 

ภาพประกอบ

UNICEF 01: กระทรวงสาธารณสุขและองค์การยูนิเซฟเปิดตัวรายงานฉบับใหม่เมื่อวานนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพิธีเปิด (จากขวา) นางซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์เอกอัครราชทูตเบลเยี่ยมประจำประเทศไทยนางคยองซอน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนพ. จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเเพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตและ นายเเพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข

 

UNICEF 02-04 UNICEF 02-04 เด็กและวัยรุ่นมักเป็นผู้ที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขาต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ความโดดเดี่ยว และความเครียดที่มากขึ้น (เครดิตภาพ: ยูนิเซฟ/เมธี เถื่อนทับ)

 

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อ

ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตได้ร่วมกันจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาการตีตราทางสังคมและเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนและพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะแคมเปญ ฟัง เล่า ความสุข (The Sound of Happinessและโอกาสพักใจมีได้ทุกวัน (Every Day is Mind Day)

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.unicef.or.th/mindday

 

ดาวน์โหลดเอกสารข้อมูลความรู้สำหรับเยาวชนและผู้ดูแลในแคมเปญ “โอกาสพักใจมีได้ทุกวัน” ได้ที่ https://bit.ly/minddaytoolkit



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad