คาร์กิลล์ เปิดตัวศูนย์นวัตกรรม จับมือ สวทช. ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอาหารของไทย เชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารทั่วโลก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2565

คาร์กิลล์ เปิดตัวศูนย์นวัตกรรม จับมือ สวทช. ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอาหารของไทย เชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารทั่วโลก

           

คาร์กิลล์ เปิดตัวศูนย์นวัตกรรม จับมือ สวทช. ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์

สร้างมูลค่าเพิ่มอุตสาหกรรมอาหารของไทย เชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารทั่วโลก

กรุงเทพฯ 27 ตุลาคม 2565 - คาร์กิลล์ บริษัทอาหารและการเกษตรชั้นนำระดับโลก เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ หรือ Cargill Innovation Center แห่งแรกในประเทศไทย นับเป็นศูนย์นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์โปรตีนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งเป้าทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและต่อยอดผลผลิตทางการเกษตร ปั้นไอเดียใหม่จากงานวิจัย มาศึกษาต่อยอดและปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมสนับสนุนไทยเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานอาหารระดับโลก

บทบาทของศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ในประเทศไทย จะมุ่งเน้นการทำงานวิจัยและพัฒนา 3 ส่วนได้แก่ ผลิตภัณฑ์โปรตีน ผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากโปรตีน และผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อสินค้าสำหรับอนาคต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งปัจจุบันและอนาคต พร้อมวางตำแหน่งเป็น “ศูนย์นวัตกรรมด้านโปรตีนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่มีการวิจัยครบวงจร พัฒนาและผลิตสินค้าได้ทั้งประเภทอาหาร และนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร

ศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าและของผู้บริโภค ผสานกับนวัตกรรมที่มีอยู่และคิดค้นขึ้นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า ควบคู่ไปกับการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคในไทยได้เพลิดเพลินกับสินค้าที่ดีทั้งในแง่ของรสชาติและโภชนาการ ผ่านการทำการตลาดจาก 2 แบรนด์หลัก คือ Sun Valley ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ และ PlantEver ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก โดยจะมีสินค้าใหม่ๆ มาวางจำหน่ายให้ผู้บริโภคคนไทยได้บริโภคอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังต่างประเทศ ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้า อาทิ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น

ศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ ตั้งอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร โดยภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย ห้อง Sensory & Kitchen Studio ที่นำข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคมาวิเคราะห์และพัฒนาสูตรอาหารโดยนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยเน้นถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ห้อง Kitchen Lab ที่ใช้พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีรสชาติที่หลากหลาย และถูกปากผู้บริโภคมากขึ้น และห้อง Pilot line ที่นำขั้นตอนการผลิตมาย่อส่วนลงเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีทีมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่จะคิดค้นไอเดียใหม่เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์โปรตีนและเทคโนโลยีการเกษตร


นายธิติ ตวงสิทธิตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด  เปิดเผยถึงการเปิดศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ หรือ Cargill Innovation Center ในไทยว่า นอกจากจะเป็นการตอบสนองนโยบายหลักของ    คาร์กิลล์ในการเป็นผู้นำด้านอาหารและสินค้าเกษตรระดับโลกแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคาร์กิลล์ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ด้วยการส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีรสชาติดี และมีเนื้อสัมผัสที่ถูกใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการต่อยอดสินค้าเกษตร และการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเกษตรประยุกต์เพื่ออนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับไทยในตำแหน่งผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานอาหารระดับโลก 

“ผมเชื่อมั่นว่า Cargill Innovation Center จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร ช่วยสร้างไอเดียใหม่ๆ ให้กับธุรกิจอาหารและการเกษตร เกิดการคิดค้นนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการผลิตอาหาร และเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย นำไปสู่การเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารมากเป็นลำดับต้นของโลก นอกจากนี้ เราจะใช้ความชำนาญและเครือข่ายศูนย์นวัตกรรมทั่วโลกของคาร์กิลล์มาทำงานร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในแต่ละประเทศมาพัฒนาผลิตภัณฑตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด”

สำหรับศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ประเทศไทย เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มีการร่วมมือกับทั้งภาครัฐ และเอกชน มีการทำงานวิจัยซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว มีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพด้านนวัตกรรม พร้อมมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมอาหารด้วยการยึดหลัก BCG Economy Model อย่างครอบคลุม ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยศูนย์แห่งนี้จะทำงานใกล้ชิดกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) และหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัด สวทช. ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นำเอางานวิจัยมาศึกษาต่อยอดและปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดเพื่อค้นคว้าวิจัยและขับเคลื่อนไอเดียนวัตกรรมให้ใช้งานได้จริง จนได้เป็นไอเดียนวัตกรรมสำหรับพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้บริโภค

ปัจจุบัน คาร์กิลล์ มุ่งเน้นการนำความรู้และความเชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ในด้านอาหารและการเกษตร ภายใต้การวิจัยและพัฒนาที่มีศักยภาพ โดยในภูมิภาคเอเชีย มีการจัดตั้ง Cargill Innovation Center แล้ว 4 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง คุรุคราม (Gurugram) และล่าสุดกับการเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นศูนย์นวัตกรรมแห่งที่ 5 ของเอเชีย เพื่อสานต่อเป้าหมายหลักในการเป็นผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค พร้อมส่งมอบไอเดียนวัตกรรมผ่านผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีความปลอดภัย มีความรับผิดชอบในทุกกระบวนการผลิต และสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน


 


เกี่ยวกับคาร์กิลล์

คาร์กิลล์มุ่งมั่นที่จะทำให้ระบบอาหารของโลกช่วยสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้บริโภค เราช่วยให้เกษตรกรได้เข้าถึงตลาด ส่งมอบวัตถุดิบที่ดี่ให้แก่ผู้บริโภค และเชื่อมโยงทุกคนในครอบครัวเข้ากับโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ตั้งแต่อาหารที่รับประทานไปจนพื้นผิวที่ผู้คนสัญจร  ทีมของคาร์กิลล์ทั่วโลกมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยจุดประสงค์ที่จะช่วยให้พันธมิตรของเราและชุมชนมีพลังอันเกิดจากอาหารที่ปลอดภัย ผลิตขึ้นด้วยความรับผิดชอบและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตั้งแต่อาหารที่ลดการปล่อยก๊าซมีเทน ไปจนการใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตจากขยะ  และนวัตกรรมอาหารอื่นๆ ที่ไร้ขีดจำกัด  แต่ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใดก็ตาม คาร์กิลล์ยังคงให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณภาพชีวิตของผู้คน เราพยายามยกระดับการทำงาน ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้คนรอบๆ ตัวเราและโลกใบนี้ที่เป็นบ้านของเรามานานกว่า 157 ปี  และคาร์กิลล์จะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาต่อไปเพื่อคนรุ่นหลัง  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Cargill.com  และ News Center



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad