SCB EIC หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ ครึ่งแรกของปี 2022 ลดลง มาอยู่ที่ 88.2% มองไปข้างหน้า ความเปราะบางของครัวเรือนไทยในภาวะรายได้โตไม่ทันรายจ่าย ยังเป็นปัจจัยกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยหลังวิกฤตโควิด - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2565

SCB EIC หนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ณ ครึ่งแรกของปี 2022 ลดลง มาอยู่ที่ 88.2% มองไปข้างหน้า ความเปราะบางของครัวเรือนไทยในภาวะรายได้โตไม่ทันรายจ่าย ยังเป็นปัจจัยกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยหลังวิกฤตโควิด

 


สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงสองไตรมาสต่อเนื่อง


หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2022 อยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5%YOY มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องหลายไตรมาส โดยขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดวิกฤติโควิดและเพิ่มช้าสุดในรอบ 18 ปี จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 88.2% นอกจากนี้ ยังเป็นผลจาก Nominal GDP ที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายนโยบายควบคุมโรคและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงผลด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นมากในปีนี้ หากพิจารณาการขยายตัวของสินเชื่อครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 พบว่าชะลอลงเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลแม้จะชะลอลงบ้าง แต่ถือว่ายังขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายทดแทนการขาดสภาพคล่อง
ในภาวะรายได้ฟื้นตัวไม่ทันรายจ่าย ในขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเร่งขึ้นจากการใช้จ่ายที่ฟื้นตัว

รายได้ฟื้นช้ากว่ารายจ่าย จะเป็นปัจจัยกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในระยะถัดไป

ผลสำรวจจาก EIC Consumer survey 20221 พบว่า (1) ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าครองชีพคนไทยสูงขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับรายได้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังไม่เพิ่มขึ้น (ผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 ยังมีรายได้ไม่เท่ากับก่อนเกิดวิกฤติโควิด โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่รายได้ฟื้นช้ากว่ากลุ่มคนรายได้สูง) และ (2) ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าผู้บริโภค 43.8% คาดว่ารายได้จะโตไม่ทันรายจ่าย ส่งผลให้ต้องเผชิญปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ปัญหาเงินออมลดลง และปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ครัวเรือนเหล่านี้มีสภาพคล่องรองรับค่อนข้างน้อย และมีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต
 

EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP จะปรับลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 86-87% ณ สิ้นปี 2022 ตามการเติบโตของ Nominal GDP ที่เป็นผลจากแนวโน้มเงินเฟ้อสูงเป็นหลัก อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่มีแนวโน้มลดลง จะไม่สะท้อนปัญหายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้าได้ ท่ามกลางภาวะรายได้โตช้ากว่ารายจ่ายของครัวเรือนบางกลุ่มและวัฎจักรดอกเบี้ยขาขึ้น

มาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนยังเป็นเรื่องท้าทาย

หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาหยั่งรากลึกในเศรษฐกิจไทยยาวนาน นับเป็นความท้าทายสำหรับภาครัฐที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืนและสามารถลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ได้สำเร็จในระยะข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ สถาบันการเงิน รวมถึงครัวเรือน มุ่งจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้จนถึงการชำระหนี้ค้าง โดยยึดหลัก “ลดก่อ (หนี้) ชะลอรายจ่าย สร้างรายได้ยั่งยืน” เริ่มตั้งแต่นโยบายปัจจุบันที่ภาครัฐสนับสนุนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสรายได้ในอนาคตของลูกหนี้ นโยบายระยะปานกลางมุ่งส่งเสริมวินัยการเงินและสร้างความรู้ทางการเงิน เพื่อลดการก่อหนี้เกินตัวในอนาคต ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงหนี้ในระบบ รวมถึงนโยบายระยะยาวส่งเสริมทักษะและโอกาสในการแข่งขันของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่สูงขึ้น

1การสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคของ EIC (EIC Consumer survey) ผ่านช่องทางออนไลน์ SurveyMonkey ระหว่างวันที่ 8 ถึง 22 กรกฎาคม 2022 มีผู้ตอบแบบสอบถามครบถ้วนทั้งสิ้น 2,676 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad