ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2565 จำนวน 29,306 ล้านบาท - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2566

ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2565 จำนวน 29,306 ล้านบาท

    

ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2565 จำนวน 29,306 ล้านบาท

ในปี 2565 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการกลับเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ขณะที่มูลค่าการส่งออกไทยได้เริ่มลดลงตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ท่ามกลางดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก และความไม่แน่นอนจากปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาตร์ ที่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่สนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งคาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 เทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางฟื้นตัวจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ธนาคารกรุงเทพจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลลูกค้าทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลอย่างใกล้ชิดให้สามารถก้าวผ่านความท้าทายทางเศรษฐกิจที่กำลังรออยู่  โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบของลูกค้าแต่ละราย นอกจากนี้ ธนาคารให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งด้านดิจิทัลเทคโนโลยี นวัตกรรมแห่งโลกอนาคต รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตลอดจนการสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้เจตนารมณ์ของการเป็น “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน” ในขณะเดียวกันธนาคาร ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2565 จำนวน 29,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณ
เงินให้สินเชื่อและการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 
2.42 สอดคล้องกับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยและการบริหารจัดการสภาพคล่องของธนาคาร ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 30.0 ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ และบริการประกันผ่านธนาคารและ
บริการกองทุนรวม ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อและบริการการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 
49.7  ทั้งนี้ ธนาคารพิจารณาตั้งสำรอง ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 32,647 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4 จากปีก่อน ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรอง โดยพิจารณาความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจส่งผลกระทบ
ต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

ธนาคารกรุงเทพยังคงแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,682,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากสิ้นปี 2564 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ  สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ร้อยละ 3.ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 260.8

ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 จำนวน 3,210,896 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากสิ้นปี 2564 และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 83.5  ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.1 ร้อยละ 15.7 และร้อยละ 14.9 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

-จบ-

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad