คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โชว์ความพร้อมในการผลิต “นักฉุกเฉินการแพทย์ ความช่วยเหลือแรกก่อนถึงมือแพทย์” รองรับความขาดแคลนในอนาคต - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566

คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โชว์ความพร้อมในการผลิต “นักฉุกเฉินการแพทย์ ความช่วยเหลือแรกก่อนถึงมือแพทย์” รองรับความขาดแคลนในอนาคต

 ทีมอาจารย์ และ นักฉุกเฉินการแพทย์ ที่ห้องปฎิบัติการฃ

คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

โชว์ความพร้อมในการผลิต “นักฉุกเฉินการแพทย์

ความช่วยเหลือแรกก่อนถึงมือแพทย์”

รองรับความขาดแคลนในอนาคต


เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โดย โรงเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิชาฉุกเฉินทางการแพทย์ (ต่อเนื่อง) โชว์ศักยภาพและความพร้อมในการผลิต “นักฉุกเฉินการแพทย์ ความช่วยเหลือแรกก่อนถึงมือแพทย์” รองรับอาชีพสาขาขาดแคลนอย่างแน่นอนในอนาคต ณ ห้องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน ศูนย์แพทย์ภัยพิบัติและฉุกเฉินเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

“การบริการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล” ถือเป็นงานบริการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสุขภาพของประเทศ โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า การที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการปฏิบัติการทางการแพทย์ขั้นสูงตั้งแต่เมื่ออยู่นอกโรงพยาบาล ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ ดังนั้นการบริการการแพทย์ฉุกเฉินจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่บริบาลผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล อันเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พุทธศักราช 2551 และเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้มีประกาศ “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาฉุกเฉินการแพทย์เป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2564” โดยให้มีคณะกรรมการวิชาชีพทำหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ต้องได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรสาขาอื่นที่เทียบเท่าปริญญาด้านฉุกเฉินการแพทย์”

ด้าน ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญามาแล้วประมาณ 13 ปี ตราบจนปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้สำเร็จการศึกษาสาขาฉุกเฉินการแพทย์ที่มีความสามารถในระดับนี้จำนวน 674 คน (ข้อมูลเดือนเมษายน พ.ศ. 2565) อัตราการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ เพียงปีละ 180-200 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ

คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โดย โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ สาขาวิชาฉุกเฉินทางการแพทย์ (ต่อเนื่อง) ได้จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความชำนาญ และทักษะด้านฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการผดุงชีวิต รวมทั้งป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วย อีกทั้งยังได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายอีก 9 สถาบัน ประกอบด้วย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ สถาบันพระบรมราชชนก และ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพื่อผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ ด้วยการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาตั้งเป้าผลิตจำนวนบัณฑิต 15,000 คน ใน 10 ปี จากปัจจุบันเพียงปีละ 200 คน เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านบุคลาการทางการแพทย์ให้เพียงพอในอนาคต เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ ชั้น 2 ห้อง Magic 2 กรุงเทพฯ

อาจารย์ นายแพทย์สุขสันต์ กนกศิลป์ อาจารย์ประจำหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “เพราะการเจ็บป่วยไม่ได้เกิดเฉพาะโรงพยาบาล ความช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ จึงสำคัญมากเพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตได้สูงกว่า”

การผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ จะมีทักษะความรู้ความสามารถในระดับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดี มีความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง หลักการ ทฤษฎี และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานฉุกเฉิน ระบบสุขภาพของประเทศไทย ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยและนานาชาติ หลักการพื้นฐานด้านระบบคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมถึงจะมีทักษะ ความสามารถปฏิบัติงาน ซึ่งนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ควรทำได้เมื่อได้รับมอบหมาย ประกอบด้วย ทักษะด้านกระบวนการคิด (Cognitive Skills) ทักษะการหยั่งรู้และความคิดสร้างสรรค์ (Logical, Intuitive and Creative Thinking) หรือทักษะการปฏิบัติ/วิธีปฏิบัติที่มีความคล่องแคล่วและความชำนาญในการปฏิบัติตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติได้อย่างดีเยี่ยม รวมทั้งได้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยปฏิบัติการและสถานพยาบาลที่เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติการ เรียนรู้วิธีการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ ซึ่งผลิตบัณฑิตได้ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้ที่สุด ด้วยการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้บัณฑิต สามารถต่อยอดการผลิตนักฉุกเฉินการแพทย์เฉพาะทางได้ และพัฒนาต้นแบบของรูปแบบการศึกษาแนวใหม่ในการผลิตบัณฑิตสายวิชาชีพด้านสุขภาพ ที่เป็นสาขาขาดแคลนของประเทศ


ที่ผ่านมา คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในฐานะหน่วยงานจัดการศึกษาด้านฉุกเฉินการแพทย์ระดับปริญญาในประเทศไทย ได้ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีนโยบายในเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา นำมาสู่การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ร่วมกันกับภาคีเครือข่าย 10 สถาบัน ผลิตบัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ โดย โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาการดำเนินการปีงบประมาณ 2566 – 2575 (เริ่มรับผู้เรียนปีงบประมาณ 2566 – 2570 เริ่มมีผู้จบการศึกษาปี 2568 เป็นต้นไป) จำนวนบัณฑิตที่คาดว่าจะผลิต 15,000 คน ตั้งเป้าผลสัมฤทธิ์ บัณฑิตฉุกเฉินการแพทย์ที่จะสำเร็จการศึกษา ต้องสามารถปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินการแพทย์ โดยครอบคลุมความรู้ทักษะ และความสามารถในระดับผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาฉุกเฉินการแพทย์

พุธิตา อาริสโตเรนัส นักฉุกเฉินการแพทย์

ด้าน นางสาวพุธิตา อาริสโตเรนัส นักฉุกเฉินการแพทย์ เผยถึงคุณสมบัติและรายละเอียดการเรียนการสอนว่า “หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความชำนาญ และทักษะด้านฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการผดุงชีวิต รวมทั้งป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วย”

ฉะนั้นผู้ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้น คือต้องเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า สามารถเข้าเรียนในหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ หลักสูตร 4 ปี หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง หรือ เทียบเท่าในสาขาเวชกิจฉุกเฉิน ปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์หรือสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องและได้รับอนุมัติให้สำเร็จการศึกษาก่อนวันเปิดภาคเรียน รุ่นละ 30 คน สามารถเข้าเรียนต่อในหลักสูตร 2 ปี เมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต (ฉุกเฉินการแพทย์) นักศึกษาจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์รวมถึงการอัพสกิลผ่านประสบการณ์จริงทั้งด้านความรู้ โดยเน้นความรู้เชิงทฤษฎีและ/หรือข้อเท็จจริงเป็นหลัก เช่น ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานฉุกเฉิน ระบบสุขภาพของประเทศไทย ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยและนานาชาติหลักการพื้นฐานด้านระบบคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน

ภายหลังจากจบการศึกษาแล้ว นักศึกษาจะมีความเชี่ยวชาญในการทำงานของนักฉุกเฉินการแพทย์ คือการบริบาลและดูแลรักษาผู้ป่วยนอกสถานพยาบาล และในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เป็นการกู้ชีพชั้นสูง การทำหัตถการและการบริหารยาฉุกเฉิน การรักษาและส่งต่อไปยังสถานพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย โดยกลุ่มปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ชีพฉุกเฉิน ใช้เวลาอบรมทั้งหมด 40 ชั่วโมง พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ ใช้เวลาอบรมทั้งหมด 115 ชั่วโมง เจ้าพนักงานฉุกเฉินการแพทย์ จบการศึกษาระดับมัธยมปลายหรือเทียบเท่า เข้าเรียนในหลักสูตร 2 ปี

สำหรับอาชีพที่สามารถประกอบได้หลังจากนี้ นอกจาก นักฉุกเฉินการแพทย์หรือนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ยังมี ผู้สอนในองค์กรการศึกษาหรือฝึกอบรม นักวิชาการ นักวิจัยด้วย

ท้ายสุดสำหรับผู้สนใจเข้าศึกษาในหลักสูตร หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ (ต่อเนื่อง) วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เบอร์โทรศัพท์: 02 576 6000 ต่อ 8752 อีเมล : Paramedicine.con@cra.ac.th Facebook Fanpage> https://www.facebook.com/PARACRA.CON

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad