เอกชนหนุนเดินหน้า Blue Carbon เสริมระบบนิเวศและชุมชน ผลักดันธุรกิจและประเทศสู่เป้าเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2566

เอกชนหนุนเดินหน้า Blue Carbon เสริมระบบนิเวศและชุมชน ผลักดันธุรกิจและประเทศสู่เป้าเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero

เอกชนหนุนเดินหน้า Blue Carbon เสริมระบบนิเวศและชุมชน ผลักดันธุรกิจและประเทศสู่เป้าเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero

ภาคเอกชนผนึกกำลัง สนับสนุนการส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งกักเก็บคาร์บอนทะเล หรือ Blue Carbon ผ่านการดูแลอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อเสริมระบบนิเวศและชุมชน ชี้ภาคธุรกิจและองค์กรเอกชนมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) จัดเสวนาร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ภายใต้ โครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance ในงาน Blue Carbon Conference 2022 “คาร์บอนทะเล: หนุนธุรกิจสู่ Net Zero เสริมระบบนิเวศและชุมชน” โดยนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการรวมผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านป่าชายเลน พื้นที่ราบน้ำขึ้นถึง และหญ้าทะเลบนเวทีเดียวกัน เพื่อแบ่งปันแนวทางการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งกักเก็บคาร์บอนทะเล (Blue Carbon) ที่กักเก็บได้มากกว่าระบบนิเวศป่าบกถึงเกือบ 10 เท่า จึงสามารถดูดซับคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในงานดังกล่าว ได้เปิดเวทีให้อภิปรายถึงบทบาทของภาคเอกชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่บลูคาร์บอน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ตามที่ได้ประกาศเจตนารมย์ไว้บนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 หรือ COP 26 ที่ผ่านมา

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดพื้นที่ดึงชุมชนและเอกชนปลูกและดูแลป่าชายเลน ดูดซับคาร์บอน

นางดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า จากข้อมูล Global Carbon Atlas ปี 2563 ปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกมี 33,800 ล้านตัน โดย 5 ประเทศยักษ์ใหญ่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 24 ของโลก มีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนประมาณ 0.76% ซึ่งแม้ตัวเลขไม่ถึง 1% แต่ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงสูงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลำดับที่ 9 ของโลก ซึ่งจะทำให้แต่ละภูมิภาคของไทยได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ผลผลิตการเกษตร การประมงชายฝั่ง รวมถึงได้รับผลกระทบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนการท่องเที่ยวของไทยที่ขายความงดงามของธรรมชาติ หากวันนี้ไม่เริ่มต้นลงมือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจริงจัง ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ผลกระทบจะเกิดเป็นลูกโซ่ สุดท้ายไม่เฉพาะภาคธุรกิจ แต่ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้เช่นกัน

นางดาวรุ่ง กล่าวว่า ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อใช้เติบโตและกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ในรูปเนื้อไม้ จึงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยจากข้อมูลใหม่ คาดว่าป่าชายเลน 1 ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ไม่น้อยกว่า 7 ตันต่อปี กรมฯ จึงขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยตั้งเป้าหมาย 10 ปีในพื้นที่ 3 แสนไร่ทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการจริงจังในปี 2565 และมีเป้าหมายเชิญชวนภาคธุรกิจ องค์กรภายนอกที่สนใจ เข้ามามีส่วนร่วมปลูกต้นไม้กักเก็บคาร์บอนด้วย

นอกจากนี้ กรมฯ ยังออกระเบียบ 2 ฉบับ ว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตสำหรับภาคเอกชนและชุมชน โดยในภาคเอกชน ได้ทยอยจัดสรรพื้นที่และอนุมัติให้ 17 บริษัทเข้าร่วมโครงการแล้ว และกำลังประกาศรับสมัครในส่วนของชุมชนอยู่ โดยที่ผ่านมา กรมฯ ได้ส่งคนไปลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ และขึ้นเว็บไซต์เชิญชวนภาคชุมชนสมัครร่วมโครงการ ทำหน้าที่ช่วยดูแลรักษาพื้นที่ โดยกรณีที่ชุมชนพร้อมดำเนินการก็ยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการได้ที่กรมฯ และถ้าเป็นชุมชนที่มีองค์กรธุรกิจสนใจร่วมขับเคลื่อนด้วยอยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการได้ หรือหากชุมชนสนใจร่วมโครงการ แต่ยังไม่สามารถจับคู่ภาคธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมได้ กรมก็จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานให้ได้

Dow รุกต่อยอดโครงการคาร์บอนทะเล อนุรักษ์ผืนป่าชายเลน สร้างอาชีพชุมชน

นางภรณี กองอมรภิญโญ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า Dow ในฐานะผู้นำด้านวัสดุศาสตร์และผลิตภัณฑ์ของดาวเป็นวัตถุดิบของสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ การก่อสร้าง ยานยนต์ จนถึงสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างแชมพูและสบู่ที่ทุกคนใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน Dow จึงตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญในฐานะผู้ผลิตต้นน้ำ และได้ประกาศเป้าจะเป้นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050

Dow ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply chain เพื่อช่วยให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมดลดก๊าซคาร์บอนได้ โดยตัวอย่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Dow ภายใต้กระบวนการลดคาร์บอน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีหลายชั้นแต่ผลิตจากวัสดุชนิดเดียวกันซึ่งทำให้นำกลับมารีไซเคิลได้ง่าย และนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่บางลงแต่แข็งแรงขึ้น ใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง ทำให้มีการปล่อยคาร์บอนต่ำลง เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทย Dow ได้ริเริ่มและดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ก่อนจะยกระดับเป็นโครงการ Dow and Thailand Mangrove Alliance ซึ่งไม่เพียงแต่ดูดซับคาร์บอนได้ แต่ยังช่วยสนับสนุนสังคมและเศรษฐกิจชุมชนอีกด้วย โดยยึดหลักการให้ประชาชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน โครงการนี้ได้ดึงผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนมาเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนเป็นอย่างดี เช่น โครงการนำร่องที่ชุมชนประแส จังหวัดระยอง มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเป็น blue carbon destination ให้ชุมชนประโยชน์จากป่าพร้อมดูแลป่าไปด้วยซึ่งแนวทางนี้จะช่วยขยายพื้นที่อนุรักษ์ได้ดียิ่งขึ้น

TBCSD พร้อมเป็นพี่เลี้ยงผลักดันองค์กรธุรกิจร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลน

ดร.อรทัย พงศ์รักธรรม ที่ปรึกษาโครงการ องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างภาคธุรกิจ แต่เป็นเรื่องที่ยิ่งช่วยกันทำยิ่งเป็นผลดี จึงอยากเชิญชวนภาคเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับ TBCSD และร่วมกันผลักดันประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในส่วนของงานด้าน Blue Carbon หรือการใช้ผืนป่าชายเลนดูดซับคาร์บอนนั้น TBCSD มีการจัดกิจกรรมร่วมกับสมาชิกทุกปี โดยมีการวางแผนเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม หารือร่วมกับนักวิชาการ และกำหนดการวัดผลและติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ดร.อรทัย กล่าวว่า การอนุรักษ์พื้นที่ Blue Carbon เป็นส่วนสำคัญของ Climate Actions ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ TBCSD ได้ร่วมผลักดันผ่านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนโดยการลงพื้นที่บริเวณชายฝั่งเพื่อทำงานใกล้ชิดกับชุมชนและคนในพื้นที่ชายฝั่ง ทั้งนี้ TBCSD มองว่า การมุ่งหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น นอกจากการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือการนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์มาปรับใช้เพื่อวัดผลการดำเนินงานและรายงานผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ขณะที่การสื่อสารระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น และเพื่อช่วยให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามที่วางไว้ TBCSD ได้ตั้งคณะทำงาน ด้าน Climate Change เพื่อกำหนดทิศทางและติดตามผลการดำเนินการ ซึ่งในปี 2022 นี้ TBCSD มีเป้าหมายนำสมาชิกไปสู่การเป็นธุรกิจปล่อยคาร์บอนต่ำและยั่งยืน โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานคาร์บอนต่ำว่ามีอะไรบ้าง และจะสนับสนุนให้ไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร

TBCSD เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจผู้นำด้านความยั่งยืนในไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1993 เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ส่งเสริมนโยบายและวาระแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืน และเป็นเครือข่ายกับกลุ่มองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนระดับโลก (WBCSD) ปัจจุบัน TBCSD มีสมาชิกองค์กรธุรกิจ 43 องค์กร ครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีกรอบการทำงาน คือ สนับสนุนภาคเอกชนดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับความสมดุลทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ผ่านการให้คำปรึกษา จัดเวทีหารือแนวทางการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ให้การสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินนโยบาย และการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการที่เกี่ยวข้อง

การรักษาสำคัญกว่าปลูกใหม่ และชาวบ้านต้องอิ่มท้องก่อน การปลูกป่าจึงเกิด

ขณะที่ นายสมิทธิ หาเรือนพืชน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานพิเศษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์การฟื้นฟูป่ามานับแต่ก่อตั้งมูลนิธิเมื่อกว่า 34 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าการรักษาไว้สำคัญกว่าการปลูกใหม่ เพราะจากการศึกษาพบว่าพื้นที่ป่าปลูกใหม่มีความหลากหลายทางชีวภาพต่ำเนื่องจากปลูกในลักษณะเชิงเดี่ยว ขณะที่กลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือทำให้ชาวบ้านอิ่มท้องก่อน มิเช่นนั้นการปลูกป่าจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งถ้ามีกลไกที่ถูกต้อง ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการดูแลป่า ในที่สุดทรัพยากรธรรมชาติจะกลับมา

เมื่อพบว่ากลไกการรักษาสำคัญ จึงเป็นที่มาของการนำพื้นที่ที่มูลนิธิฯ กว่า 200,000 ไร่ ไปร่วมโครงการกับกรมป่าไม้ฯ โดยขึ้นทะเบียนพื้นที่คาร์บอนเครดิต อาศัย พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 มอบสิทธิให้ชุมชนมีสิทธิจัดสรรป่าตัวเอง ได้ประโยชน์จากการดูแลป่า ทั้งในเรื่องพันธุ์พืช การดูแลแหล่งอนุบาลสัตว์เศรษฐกิจที่อยู่ในพื้นที่ แหล่งอาหาร สมุนไพร ยา และสิ่งสำคัญที่สุดคือการเกิดประโยชน์ร่วมกันจากการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน

ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จับมือกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมป่าไม้ ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (ทช.) ทำงานร่วมกันเรื่องการปลูกป่าลดคาร์บอน โดยทางทีมงานมูลนิธิฯ รับหน้าที่พัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตให้เอกชนที่ต้องการเข้ามาปลูกป่า ขณะเดียวกันนักวิชาการของมูลนิธิก็ช่วยอบรมและสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชนเกี่ยวกับการดูแลอนุรักษ์ป่าที่เอกชนเข้ามาปลูก จึงก่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน

ผู้ที่สนใจเนื้อหาการสัมมนา Blue Carbon Conference ฉบับเต็ม สามารถรับชมได้ที่ https://youtube.com/playlist?list=PLvjrVYqoUNiAiYalXaT3aO_t8g6NFafaK


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad