รายงาน Future Health Index 2022 เผยวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังเผชิญกับปัญหาด้านการจัดการข้อมูลและบุคลากร - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2566

รายงาน Future Health Index 2022 เผยวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังเผชิญกับปัญหาด้านการจัดการข้อมูลและบุคลากร

รายงาน Future Health Index 2022 เผยวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กำลังเผชิญกับปัญหาด้านการจัดการข้อมูลและบุคลากร



ถึงแม้ว่าเทรนด์ด้านการจัดการข้อมูล การใช้เทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้าของผู้ป่วยจะเติบโตมากในภูมิภาคก็ตาม

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ให้ความสำคัญด้านข้อมูลสารสนเทศมากที่สุดในโลก โดยมีค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 82 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่ร้อยละ 65
  • คาดการณ์ว่าการลงทุนในด้านเทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า (Predictive Analytics) จะเพิ่มขึ้นภายใน 3 ปีต่อจากนี้ สำหรับการใช้งานทางการแพทย์
  • กว่าร้อยละ 80 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เห็นว่าการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า (Predictive Analytics) นั้นมีผลเชิงบวกต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ประสบการณ์ของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และลดความไม่เท่าเทียมด้านสาธารณสุข
  • ความท้าทายยังคงมีอยู่ เมื่อกว่าร้อยละ 70 เห็นว่าปัญหา Data Silo หรือการจัดการและนำข้อมูลไปใช้ยังไม่มีประสิทธิภาพ และประมาณ 1 ใน 3 เห็นว่าความพึงพอใจและการรักษาบุคลากรทางการแพทย์ไว้ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ ทั้งในปัจจุบันและในอีก 3 ปีข้างหน้า
  • ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในแวดวงสาธารณสุข โดยถูกนำเสนอผ่านนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าพัฒนาสถานบริการด้านสาธารณสุขทั้งหมดในประเทศไทยให้เป็น Smart Hospital จากรายงานล่าสุด มากกว่าร้อยละ 45 ของหน่วยให้บริการทางการสาธารณสุขได้ถูกพัฒนาเป็น Smart Hospital แล้วในไตรมาสที่ 4 ปีพ.ศ. 2564

รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก ได้เผยถึงผลสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) จากรายงาน Future Health Index (FHI) ประจำปี 2022 ในหัวข้อ “‘Healthcare hits reset: Priorities shift as healthcare leaders navigate a changed world’ ” สำหรับรายงานผลการสำรวจ Future Health Index 2022 นี้เป็นการจัดทำรายงานเป็นปีที่ 7 โดยฟิลิปส์ ซึ่งในรายงานประจำปี 2022 นี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 3,000 คน จาก 15 ประเทศ อาทิ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย ฯลฯ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์เกี่ยวกับการจัดการและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ เพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นหลังจากเจอกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ
โควิด-19

จากผลสำรวจในปีนี้เผยให้เห็นว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญกับด้านข้อมูลสารสนเทศ (Data) และเทคโนโลยีในการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า (Predictive Analytics) เพื่อเป็นรากฐานสำคัญของระบบสาธารณสุขในอนาคต และยังชี้ให้เห็นถึงความท้าทายที่สำคัญต่อการวางรากฐานนี้

แคโรไลน์ คลาร์ค ประธานและรองประธานกรรมการบริหาร ฟิลิปส์ อาเซียน แปซิฟิก กล่าวว่า “เพื่อการเข้าถึงและใช้งานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการยกระดับคุณภาพการให้บริการ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความรวดเร็วในการรักษา หลังจากที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายงานในปีนี้ แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดอยู่ในกลุ่มผู้นำที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่ความท้าทายที่สำคัญ คือ เนื่องจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการสนับสนุนจากบุคลากร การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลยังต้องคำนึงถึงขีดความสามารถของบุคลากร ดังนั้น ปัญหาด้านการจัดการข้อมูล Data Silo การฝึกอบรมและให้ความรู้กับบุคลากรจึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการรักษาบุคลากรด้านเฮลท์แคร์เอาไว้ เพื่อบรรลุผลลัพธ์ของระบบสาธารณสุขที่ต้องการในระดับภูมิภาค”

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือผู้นำด้านข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า

ผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดอยู่ในอันดับต้นของโลกที่ให้ความสำคัญด้านข้อมูลสารสนเทศต่อองค์กร โดยร้อยละ 82 เห็นด้วยว่าการลงทุนในด้านข้อมูลสารสนเทศมีความคุ้มค่า ทั้งในแง่ของเวลาและทรัพยากร เท่ากับสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ร้อยละ 65) และทวีปยุโรป (ร้อยละ 60) อย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสาธารณสุขของสิงคโปร์ที่นำหน้าประเทศอื่นๆ ให้ความสำคัญกับด้านข้อมูลสารสนเทศถึงร้อยละ 91 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 65 ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียให้ความสำคัญกับด้านข้อมูลสารสนเทศถึงร้อยละ 82 และร้อยละ 75 ตามลำดับ ระดับความเชื่อมั่นในการใช้ข้อมูลสารสนเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นสูงเช่นกัน โดยส่วนมากกล่าวว่าพวกเขาสามารถนำข้อมูลมาใช้งานได้จริงจากข้อมูลที่มีอยู่ถึงร้อยละ 85 และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ถึงร้อยละ 84 และเชื่อมั่นอย่างมากในความแม่นยำของข้อมูลในองค์กรถึงร้อยละ 82

ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้าภายใน 3 ปี โดยร้อยละ 55 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ได้ลงทุนไปแล้วจำนวนมากในเทคโนโลยี AI ในขณะที่ร้อยละ 82 คาดการณ์ว่าการลงทุนด้าน AI จะเป็นการลงทุนมากที่สุดภายใน 3 ปีข้างหน้า และเมื่อสำรวจถึงจุดประสงค์ของการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI พบว่าลงทุนเพื่อใช้สนับสนุนการวินิจฉัยด้านคลินิกมากที่สุดถึงร้อยละ 35 รวมถึงการใช้งานเพื่อวินิจฉัยหรือให้คำแนะนำในการรักษา การส่งสัญญานเตือนล่วงหน้า การตรวจหาโรคแบบอัตโนมัติ และแนวทางการตัดสินใจด้านคลินิก นอกจากนี้ ยังต้องการใช้เทคโนโลยี AI ในการคาดการณ์ผลลัพธ์ถึงร้อยละ 34 และใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลการวินิจฉัยร้อยละ 33 ตามลำดับ

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา และมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลาย กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับ ‘โครงการอนาคตแห่งประเทศไทยสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการดูแลสุขภาพขั้นสูงในปี (The future of Thailand towards holistic wellness care and advanced health promotion) พ.ศ. 2566-2570’ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี AI การคาดการณ์โรคล่วงหน้า (Health Prediction) และเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ที่จะถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคขั้นสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบบริการและการเข้าถึงบริการของประชาชนในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรค ด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบจำเพาะและแม่นยำ นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังตั้งเป้าพัฒนาโรงพยาบาลและสถานบริการด้านสาธารณสุขต่าง ๆ สู่การเป็น ‘Smart Hospital’ เพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และยกระดับประสบการณ์การรักษาที่ดีให้แก่ผู้ป่วย โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในไตรมาส 4 ปีพ.ศ. 2564 พบว่ามากกว่าร้อยละ 45 ของหน่วยบริการทั้งหมดได้พัฒนาไปสู่การเป็น Smart Hospital แล้ว

ในรายงาน Future Health Index ยังแสดงให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้ามาใช้บ้างแล้ว โดยมากกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 27) ของโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลนั้นเริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 44 กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมในการใช้งาน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 32 และเมื่อถามถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI และการนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้ามาใช้ในส่วนใดที่มีประโยชน์สูงสุด ร้อยละ 91 บอกว่าใช้ในด้านคลินิก ในขณะที่ผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีระดับความเชื่อมั่นถึงร้อยละ 87 (เทียบกับทั่วโลกร้อยละ 71) ในการใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้าเชิงคลินิก และยังเห็นว่าเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้ามีประโยชน์ต่อการบริการผู้ป่วยถึงร้อยละ 87 ผลลัพธ์ด้านสุขภาพร้อยละ 84 และมีผลที่ดีต่อประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 82

ปัญหาการจัดการด้านข้อมูล Data Silo ปัญหาด้านบุคลากร และอุปสรรคอื่น ๆ ต่อการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ยังเห็นได้ชัดว่าการใช้ข้อมูล เทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า ยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญสู่อนาคตของวงการเฮลท์แคร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานด้านคลินิก โดยร้อยละ 41 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการแชร์ข้อมูลกับองค์กรภายนอก ในขณะที่ร้อยละ 40 ใช้ข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์แนวโน้ม ร้อยละ 30 รวบรวมและจัดเก็บข้อมูล และร้อยละ 28 ใช้ข้อมูลเพื่อทำงานบางอย่างแบบอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ประมาณสามในสี่ (ร้อยละ 73) ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นว่าปัญหาการจัดการข้อมูล หรือ Data Silo เป็นปัญหาสำคัญต่อการนำข้อมูลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 51 สำหรับอุปสรรคอื่นๆ อาทิ ข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน (ร้อยละ 23) ความกังวลถึงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูล (ร้อยละ 21) นโยบายและข้อบังคับด้านข้อมูลสารสนเทศ (ร้อยละ 21) การต่อต้านของบุคลากรบางส่วนต่อการอัพเกรดหรือการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาใช้ (ร้อยละ 20) การขาดความชัดเจนทางกฎหมาย (ร้อยละ 20) และความซับซ้อนในการจัดการข้อมูลปริมาณมาก (ร้อยละ 20)

การร่วมมือกับผู้เล่นรายอื่นในวงการเฮลท์แคร์เป็นหนึ่งในแนวทางการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่าการร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ช่วยให้สถานพยาบาลของพวกเขาได้รับคำปรึกษาในการวางแผนงานล่วงหน้าได้ถึงร้อยละ 30 และยังให้แนวทางและ/หรือให้บริการวิเคราะห์และแปลผลข้อมูลเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 28) และจัดหาทรัพยากร และ/หรือ บริการสำหรับการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 27)

การต่อต้าน ทักษะ และการขาดความรู้ของบุคลากร เป็นอุปสรรคอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต่อการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศ (ร้อยละ 35) ในขณะที่ผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาค (ร้อยละ 74) กล่าวว่า บุคลากรของพวกเขารู้สึกว่าในปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมากเกินไป ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 55 ในขณะที่ร้อยละ 21 รู้สึกว่าการฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่บุคลากรของพวกเขาจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่จะนำไปสู่การจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพได้

ถึงแม้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลสารสนเทศ และประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงคลินิก แต่ระดับความรู้และการรับรู้ถึงวิธีการนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ยังคงขาดแคลนและเหลื่อมล้ำในภูมิภาค โดยเฉลี่ยแล้วมากกว่าครึ่ง(ร้อยละ 55) ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าพวกเขาไม่ทราบถึงวิธีการนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการตัดสินใจ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 35 ยกตัวอย่าง ในอินโดนีเซียมีเพียงร้อยละ 7 ของบุคลากรที่บอกว่าพวกเขามีความเชี่ยวชาญมากพอที่จะนำข้อมูลสารสนเทศไปใช้ แต่ในสิงคโปร์และออสเตรเลีย บุคลากรมีความเชี่ยวชาญในการใช้ข้อมูลสารสนเทศมีถึงร้อยละ 50 และร้อยละ 20 ตามลำดับ ชี้ให้เห็นว่าในภูมิภาคนี้ควรมีการแบ่งปันข้อมูลและความรู้ระหว่างประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ รายงานของฟิลิปส์ยังเผยว่า การให้ความสำคัญด้านสวัสดิการของบุคลากรภายในภูมิภาคเกิดขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากร และภาวะการหมดไฟยังคงเป็นปัญหาสำคัญของวงการเฮลท์แคร์ โดยร้อยละ 30 ของผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจและการรักษาบุคลากรเอาไว้เป็นอันดับแรก เท่ากับค่าเฉลี่ยในระดับโลก และแนวโน้มนี้ดูเหมือนจะดำเนินต่อไป โดยผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร้อยละ 28 เชื่อว่าความพึงพอใจของบุคลากรและการรักษาบุคลากรเอาไว้จะยังคงมีความสำคัญไปอีก 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งต่างจากผลสำรวจในปี 2021 ที่ผู้บริหารส่วนมากคาดการณ์ไว้ว่าความพึงพอใจของบุคลากรและการรักษาบุคลากรเอาไว้อาจจะไม่ถูกจัดลำดับความสำคัญในระดับต้น ๆ ในอนาคต

ร้อยละ 23 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เห็นว่าการขยายพื้นที่การดูแลรักษาจากแค่เพียงในโรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในขณะนี้ และร้อยละ 32 เห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญภายใน 3 ปีต่อจากนี้ เมื่อเทียบกับทั่วโลก ประเทศออสเตรเลีย (ร้อยละ 36) ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษานอกโรงพยาบาลและสถานพยาบาลอยู่ในลำดับที่ 2 ต่อจากประเทศเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 37)

จากเทรนด์ข้างต้น ส่งผลให้ร้อยละ 45 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และร้อยละ 49 ในภูมิภาคอาเซียน มีการลงทุนด้านการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเฮลท์เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ โซลูชั่นการเฝ้าติดตามผู้ป่วยทางไกลก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญในการขยายขอบเขตการดูแลรักษานอกโรงพยาบาล โดยร้อยละ 19 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และร้อยละ 21 ในภูมิภาคอาเซียน กล่าวว่าการลงทุนในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญอันดับต้น ๆ ในปัจจุบัน และร้อยละ 26 ในทั้งสองภูมิภาค กล่าวว่าการลงทุนด้านนี้จะสำคัญยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

ตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 ฟิลิปส์ได้จัดทำรายงานผลสำรวจ Future Health Index เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกในการรับมือกับความท้าทายของระบบสาธารณสุข เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน Future Health Index สามารถเยี่ยมชมได้ที่ Future Health Index methodology และสำหรับรายงาน Future Health Index 2022 ฉบับเต็ม สามารถเข้าชมได้ผ่านเว็บไซต์ของเรา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad