หลงลืม พูดติดขัด! รู้จักและเข้าใจอาการ “โรคสมองเสื่อม” แพทย์ รพ. วิมุตชี้แนวทางรับมือก่อนสาย เมื่อผู้ใหญ่ที่บ้านมีพฤติกรรมเสี่ยง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2566

หลงลืม พูดติดขัด! รู้จักและเข้าใจอาการ “โรคสมองเสื่อม” แพทย์ รพ. วิมุตชี้แนวทางรับมือก่อนสาย เมื่อผู้ใหญ่ที่บ้านมีพฤติกรรมเสี่ยง


หลงลืม พูดติดขัด! รู้จักและเข้าใจอาการ “โรคสมองเสื่อม”

แพทย์ รพ. วิมุตชี้แนวทางรับมือก่อนสาย เมื่อผู้ใหญ่ที่บ้านมีพฤติกรรมเสี่ยง

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยหรือ Aging Society อย่างสมบูรณ์ไปเมื่อปี 2565 และกลุ่มผู้สูงอายุก็จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคตอันใกล้ สำหรับลูกหลานแล้ว ร่างกายและความคิดความอ่านที่เสื่อมถอยของคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน ก็อาจทำให้เราเป็นห่วงและไม่สบายใจ หลาย ๆ คนก็กลัวว่าผู้ใหญ่ที่บ้านเมื่ออยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไรก็จะหลงลืมจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตเพียงลำพังนั่นเอง วันนี้เราได้ชวน นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลวิมุต มาช่วยเล่าถึงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อม รวมถึงอาการที่เข้าข่าย และแนวทางการดูแลเมื่อคนใกล้ตัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคดังกล่าว

โรคสมองเสื่อม ไม่ใช่แค่อัลไซเมอร์

“ก่อนอื่นเลยอยากให้เข้าใจความแตกต่างของโรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์ โดย ‘กลุ่มโรคสมองเสื่อม หรือ Dementia’ หมายถึง ภาวะที่การทำงานของการรับรู้ลดลง โดยเริ่มจากการทำงานของสมองขั้นสูงด้านในด้านหนึ่งในทั้งหมด 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสมาธิ ด้านการตัดสินใจและการวางแผน ด้านความจำ ด้านการใช้ภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ และด้านการเข้าสังคม ซึ่งความผิดปกตินี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในขณะที่ ‘โรคอัลไซเมอร์’ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อความจำ กระบวนการคิด และพฤติกรรม เป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าผู้เป็นโรคสมองเสื่อมบางรายอาจไม่ได้เป็นอัลไซเมอร์” นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อธิบาย

ทำไม “สมองเสื่อม” จึงพบมากในผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

โรคสมองเสื่อม รวมถึงโรคอัลไซเมอร์ มักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวัย 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับความเสื่อมถอยของร่างกาย เมื่อคนเราอายุมากขึ้น เซลล์สมองและหลอดเลือดในสมองอาจได้รับความเสียหายมากขึ้น โดยจะมีการสะสมของโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid)’ ซึ่งมีผลต่อการทำงานของโครงข่ายประสาทในสมอง นอกจากนี้ เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ก็มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคอื่น ๆ ที่จะมาเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น “จากการวิจัยยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าพฤติกรรมใดที่นำไปสู่โรคสมองเสื่อม แต่ปัจจัยด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ล้วนมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดโรค นอกจากนี้ ยังพบว่าคนอายุน้อยก็สามารถเป็นโรคสมองเสื่อมได้ แต่สาเหตุมักเกิดจากพันธุกรรม การประสบอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเนื้อสมอง การใช้สารเสพติดหรือยานอนหลับบางชนิด การติดเชื้อเอชไอวีหรือซิฟิลิส หรือโรคสมองอักเสบจากภาวะแพ้ภูมิต้านทานตัวเอง (Autoimmune encephalitis)” นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง กล่าว

แพทย์ชวนส่องสัญญาณเตือนและอาการเข้าข่ายที่ควรสังเกตของโรคสมองเสื่อม

“อาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อมที่คนที่บ้านควรช่วยกันสังเกต คืออาการหลงลืมเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน รวมถึง ความลำบากในการใช้ภาษาสื่อสาร ใช้คำผิด พูดจาติดขัด หลงทิศทางและสถานที่ เริ่มมีปัญหาในการจัดการงานที่เป็นขั้นเป็นตอน หรือไม่สามารถทำการตัดสินใจ วางแผน และคิดวิเคราะห์ได้เหมือนเดิม ซึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้ เมื่อมีอาการเหล่านี้คนที่บ้านสามารถสังเกตและรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการประเมินได้”





ภาวะสมองเสื่อม จะวินิจฉัยโดยอาศัยประวัติทางการแพทย์จากผู้ป่วยและญาติ การตรวจร่างกายโดยแพทย์ การตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการ และการตรวจคัดกรองปริชานปัญญา (MoCA หรือ TMSE) เพื่อประเมิน ความตั้งใจ, สมาธิ, การบริหารจัดการ, ความจำ, ทักษะสัมพันธ์ของสายตากับการสร้างรูปแบบ, ความคิดรวบยอด, การคิดคำนวณ และการรับรู้สภาวะรอบตัว

เป็นสมองเสื่อมแล้วหายได้ไหม ชวนรู้จักแนวทางการป้องกัน

“ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ามียาที่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่อาจมียาบางกลุ่มที่สามารถใช้รักษาบรรเทาอาการและการรักษาประคับประคองโรค โดยวิธีเลือกยารักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาโดยไม่ใช้ยาเช่น กิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) สามารถช่วยฟื้นฟูความจำและให้ผู้ป่วยกลับมาทำกิจกรรมประจำวันได้ นอกจากนี้ยังมีอรรถบำบัด (Speech therapy) ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการพูดสื่อสาร รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตัวผู้ป่วยเอง (Lifestyle modification) ก็มีประโยชน์อย่างมากในการช่วยฟื้นฟูอาการของโรคสมองเสื่อม และตอนนี้ยังไม่มียาที่ใช้ป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ แต่เราก็มีวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ดูแลสุขภาพและรักษาโรคเรื้อรังประจำตัวให้หาย ทำกิจกรรมที่ฝึกสมอง เช่น อ่านหนังสือ และสุดท้าย คือการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อรู้เท่าทันทุกโรคภัย นั่นเอง” นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง กล่าวสรุป

ผู้ที่สนใจต้องการปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สามารถติดต่อได้ที่ ชั้น 6 ศูนย์สมองและระบบประสาท หรือโทรนัดหมาย 02-079-0068 เวลา 08.00 – 20.00 น. หรือสามารถเรียกรถฉุกเฉินได้ที่ เบอร์โทร 02-079-0191


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad