ยูนิเซฟชี้ทารกเพียง 1 ใน 3 คนในประเทศไทยได้กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายโลก
กรุงเทพฯ 1 สิงหาคม 2566 – เนื่องในสัปดาห์นมแม่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี ยูนิเซฟเรียกร้องให้ภาครัฐและภาคธุรกิจเพิ่มการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉพาะแม่ที่ต้องทำงาน หลังจากผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟและสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีทารกเพียง 1 ใน 3 คนเท่านั้น (ร้อยละ 29) ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายโภชนาการโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 50 ภายในปี 2568
นางคยอนซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีทารกอีกจำนวนมากที่ไม่ได้กินนมแม่และพลาดโอกาสที่จะได้เริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุด นมแม่เปรียบเหมือนพลังวิเศษของแม่ ฉันเองก็เป็นแม่คนหนึ่งและรู้ดีว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องกลับไปทำงาน ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่องและสำเร็จได้นั้น คือ การสนับสนุนจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกครอบครัว แพทย์ พยาบาล ตลอดจนนายจ้างและเพื่อนร่วมงาน ทุกคนมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ทารกได้รับอาหารที่ดีที่สุดนี้สำหรับการเริ่มต้นชีวิตและการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ของพวกเขา”
นมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก ซึ่งเต็มไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่ทารกต้องการในการเจริญเติบโต เด็กที่ได้กินนมแม่มีโอกาสที่จะมีภาวะผอมแห้งหรือภาวะเตี้ยแคระแกร็นน้อยกว่า และมักจะมีพัฒนาการทางสมองที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟแนะนำให้แม่ให้นมลูกภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และให้นมลูกอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นแม่สามารถให้นมลูกได้ต่อเนื่องจนถึง 2 ปีควบคู่กับการให้อาหารตามวัย
ในสัปดาห์นมแม่โลกปีนี้ ยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้ปล่อยมินิแคมเปญออนไลน์ “เดอะ มาสเตอร์พีซ” โดยนำผลงานศิลปะชิ้นเอกของโลกมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ประเด็นนมแม่เพื่อดึงดูดความสนใจของประชาชน และตอกย้ำให้เห็นว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งสำคัญมาโดยตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
อย่างไรก็ตาม แม่ในสังคมยุคปัจจุบันกำลังเผชิญอุปสรรคหลากหลายด้านในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น ขาดการสนับสนุนอย่างทันท่วงทีจากบุคลากรทางการแพทย์เมื่อมีปัญหาในการให้นม หรือขาดแรงสนับสนุนจากครอบครัวซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการตลาดของนมผงที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านมผงดีเทียบเท่านมแม่ นอกจากนี้ การขาดการสนับสนุนจากที่สถานที่ทำงานมักทำให้แม่จำนวนมากไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อได้เมื่อต้องกลับไปทำงาน
ยูนิเซฟได้เรียกร้องให้สถานที่ทำงานจัดทำนโยบายที่เป็นมิตรกับครอบครัวมากขึ้น เช่น นโยบายลาคลอด 6 เดือนโดยได้รับค่าจ้าง การจัดบริการดูแลเด็กเล็กในราคาที่เข้าถึงได้ ตลอดจนการจัดให้มีมุมนมแม่และการจัดเวลาพักเพื่อให้แม่บีบเก็บน้ำนม และการสนับสนุนจากผู้บริหารและเพื่อนร่วมงาน
“การช่วยให้เด็กทุกคนมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตอย่างดีที่สุดคือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดสำหรับสังคมและอนาคตร่วมกันของเราทุกคน ซึ่งนั่นไม่ใช่หน้าที่ของแม่เพียงผู้เดียวเท่านั้นแต่เป็นหน้าที่ของทุกคน” นางคิมกล่าวเสริม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น