ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย แถลงทิศทางธุรกิจครบรอบ 20 ปี เป็นสถาบันการเงินที่ยึดหลักชะรีอะฮ์ เพื่อความยั่งยืน
วันที่ 24 เมษายน 2566 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ พร้อมคณะผู้บริหาร แถลงข่าวประกาศ “ทิศทางธุรกิจของไอแบงก์ ปี 2566 เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีของธนาคาร” พร้อมเดินหน้าขยายสินเชื่อ ลดหนี้เสีย และการดำเนินงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์การเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์เพื่อความยั่งยืน ณ โรงแรม อัล มีรอซ รามคำแหง ซอย 5 กรุงเทพฯ
ดร.ทวีลาภ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการไอแบงก์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธนาคารให้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ธนาคาร ซึ่งประกอบด้วยทิศทางการดำเนินงานในระยะยาว 5 ปี และระยะสั้นหรือเร่งด่วนของปี 2566 จึงได้นำเสนอแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแล โดยปรับวิสัยทัศน์ของธนาคารใหม่ “เป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์เพื่อความยั่งยืน” เพื่อยกระดับการบริการทางการเงินของธนาคารให้เท่าเทียมสถาบันการอื่น ยึดมั่นในหลักธรรมอิสลามหรือหลักชะรีอะฮ์ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทุกศาสนิก ตลอดจนดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี โดยเมื่อช่วงเช้าได้มีการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ให้แก่ผู้บริหารสาขาทั่วประเทศให้รับทราบโดยทั่วกัน พร้อมทั้งคณะกรรมการธนาคารนำโดยประธานกรรมการ (นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข) เข้าร่วมมอบนโยบายในครั้งนี้ด้วย
โดยแผนยุทธศาสตร์ด้านพันธกิจมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด ESG คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ตอบโจทย์ความยั่งยืน สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักซึ่งเป็นพี่น้องมุสลิมและลูกค้าทั่วไป อาทิเช่น สินเชื่อบ้านมีหนี้ลด เป็นการช่วยเหลือลูกค้าลดภาระการผ่อนชำระหนี้ด้วยการรวมหนี้ต่างๆไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้บุคคลเข้ากับหนี้ที่อยู่อาศัย ทำให้ลูกค้าสามารถผ่อนชำระในอัตราย่อมเยาและระยะเวลายาวนานขึ้น เสมือนมีรายได้คืนมาบางส่วน โครงการชุมชนซื่อสัตย์ เป็นสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมระดับฐานรากให้หลุดพ้นหนี้นอกระบบกลับมาอยู่ในระบบสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังมี สินเชื่อธุรกิจฮาลาลครบวงจร จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจในตลาดธุรกิจฮาลาลแต่ยังขาดแหล่งทุน ขาดความรู้ความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมต่อยอดให้เป็นผู้ประกอบการฮาลาลเต็มรูปแบบได้ สำหรับผู้ประกอบที่มีธุรกิจฮาลาลอยู่แล้ว ไอแบงก์จับมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน ในการเพิ่มศักยภาพยกระดับสินค้าของผู้ประกอบการให้สามารถส่งออกไปนานาประเทศได้ ตลอดจนช่วยพัฒนาเป็นสินค้าฮาลาลเพื่อสังคมและยั่งยืน ด้านการสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่มีแนวทางการพัฒนาภาคใต้ผ่านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ธนาคารยังคงดำเนินการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ นอกเหนือจากการพึ่งพิงการเกษตรและประมงซึ่งเป็นอาชีพที่มีความผันผวนสูงและสร้างรายได้ครัวเรือนต่ำ โดยมีแผนยุทธศาสตร์ภาคใต้ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนซึ่งอาศัยเครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะมัสยิด รวมทั้งสหกรณ์อิสลามเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เพื่อลดปัญหาความยากจนในพื้นที่พันธกิจของธนาคารอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจ ธนาคารเดินหน้าขยายสินเชื่อ SMEs ในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของธนาคาร ตลอดจนการทำ Synergy กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ส่วนสินเชื่อ Corporate ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวแล้ว ธนาคารก็ยังคงให้การสนับสนุนทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ สำหรับสินเชื่อรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารมุ่งเน้นและเติบโตได้ดีอยู่แล้ว จะประสานความร่วมมือกับบริษัทลูก หรือ บมจ.อะมานะห์ ลิสซิ่ง ในการแนะนำธุรกิจระหว่างกันเพื่อเป็นการ สร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ด้วยการแก้ไขหนี้อย่างเบ็ดเสร็จ
ส่วนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาองค์กร ธนาคารจะใช้ระบบเทคโนโลยีและข้อมูลในการปฏิบัติงาน รวมทั้งจะเพิ่มช่องทางการบริการผ่านโมบายแบงก์กิ้ง โดยเป็นการพัฒนาผ่านความร่วมมือ (Synergy) กับหน่วยงานภาครัฐซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในไตรมาส 3 นี้แน่นอน
สำหรับทิศทางองค์กรในอนาคต ธนาคารตั้งเป้าสร้างกำไรอย่างยั่งยืนและเงินกองทุนเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยจากการศึกษาภาพรวมของตลาดการเงินอิสลามทั่วโลก ในรายงานการพัฒนาของระบบการเงินอิสลามฉบับปี 2565 ของ Refinitiv ผู้ให้บริการข้อมูลอัจฉริยะด้านการเงินและการจัดการความเสี่ยงแถวหน้าของโลก โดยในรายงานพบว่า ณ สิ้นปี 2564 สินทรัพย์ของระบบการเงินอิสลามรวมทั่วโลกมีมากถึง 137 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์แม้ภายหลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ร้อยละ 17 และมีจำนวนสถาบันที่ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมกว่า 1,650 แห่งทั่วโลก โดยสินทรัพย์รวมของระบบการเงินอิสลาม มีสินทรัพย์ที่มาจากภาคธนาคารอิสลามมากที่สุดถึงร้อยละ 70 รองลงมาคือศุกูกหรือพันธบัตรอิสลาม ร้อยละ 18 และกองทุนอิสลามที่ร้อยละ 6 และสำหรับสินทรัพย์จากภาคธนาคารอิสลาม รวมทั่วโลกแล้วมีทั้งสิ้นราว 96 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ธนาคารอิสลามรวม ร้อยละ 17 หรือเท่ากับการเติบโตในภาพรวมของการเงินอิสลามทั้งระบบ และมีจำนวนธนาคารอิสลาม ณ ปี 2564 รวม 566 แห่งทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ระบบการเงินอิสลามในประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก โดยเมื่อช่วงต้นปี ก.ล.ต. ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวมอิสลาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนมุสลิมว่าการลงทุนในกองทุนรวมที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันตะกาฟุลในประเทศไทยก็ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก คปภ. ในพัฒนาขอบเขตการให้บริการที่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของตลาด นอกจากนี้การฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบียยังเสริมสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับระบบการเงินอิสลามชั้นนำในต่างประเทศ
จากการวางทิศทางและตั้งเป้าหมายที่กล่าวมา เชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจของทีมงานไอแบงก์ทั้งหมด จะทำให้ในปี 2566 ธนาคารสามารถมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญพร้อมกับการสร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน ดร.ทวีลาภ กล่าวทิ้งท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น