กรมเจรจาฯ เจาะลึกตลาดเกาหลีใต้ใน RCEP พบลดภาษีเหลือ 0% เพิ่มอีก 413 รายการ - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

กรมเจรจาฯ เจาะลึกตลาดเกาหลีใต้ใน RCEP พบลดภาษีเหลือ 0% เพิ่มอีก 413 รายการ

img

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศชำแหละผลประโยชน์ไทยใน RCEP รอบนี้เจาะลึกตลาดเกาหลีใต้ พบมีสินค้ามากถึง 413 รายการ ที่จะมีการลดภาษีเหลือ 0% เพิ่มเติม หลังความตกลงบังคับใช้ ส่วนสินค้ากลุ่มอื่น มีการลดภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้อยู่แล้ว แนะผู้ประกอบการศึกษากฎถิ่นกำเนิดสินค้าแต่ละความตกลงอย่างละเอียด และเลือกใช้สิทธิ์ให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำการวิเคราะห์ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เจาะเป็นรายประเทศ ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ชำแหละผลประโยชน์ของไทย เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการได้รับรู้และเตรียมความพร้อมในการใช้ประโยชน์เป็นการล่วงหน้า โดยล่าสุดได้ทำการศึกษาการลดภาษีของเกาหลีใต้ภายใต้ RCEP พบว่า เกาหลีใต้จะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย คิดเป็นสัดส่วน 90.7% ของรายการสินค้าทั้งหมด และมีสินค้าที่เกาหลีใต้ยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) มีจำนวนมากถึง 413 รายการ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ผักผลไม้สดและแปรรูป สบู่ แชมพู น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งที่ทำจากรากหรือหัวของพืช (แป้งมันสำปะหลัง แป้งท้าวยายม่อม) พลาสติก เครื่องแต่งกาย เครื่องแก้ว ไม้ เครื่องดื่มที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ สินค้าประมง รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น
         
ส่วนสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกนอกเหนือจากรายการข้างต้น เช่น เนื้อสัตว์ ดอกไม้ประดับ ผักสด (ต้นหอม ผักกาด หอมแดง) ชา ธัญพืช น้ำมันจากพืช ของที่ทำจากน้ำตาล ผักผลไม้ปรุงแต่ง น้ำผลไม้ ยางสังเคราะห์ เส้นใยสังเคราะห์ โฟลตกลาสและแก้วที่ขัดผิวหรือขัดมัน เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องจักร เป็นต้น เกาหลีใต้ได้ยกเว้นภาษีศุลกากรให้อยู่แล้วภายใต้ AKFTA และไม่ได้เปิดเพิ่มให้ใน RCEP ซึ่งผู้ประกอบไทยควรพิจารณาสิทธิประโยชน์ในกรอบ FTA ต่าง ๆ และเลือกใช้กรอบที่มีความเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของตน และจะต้องพิจารณาควบคู่กับเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านพิธีการศุลกากรที่กำหนดในแต่ละ FTA ด้วย

ทั้งนี้ กรมฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรที่เกาหลีใต้เก็บกับสินค้าส่งออกจากไทยทั้ง 2 FTA คือ AKFTA และ RCEP ในเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ http://tax.dtn.go.thรวมทั้งข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใน FTA ฉบับต่าง ๆ ที่http://www.thailandntr.com ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากแต้มต่อทางภาษีที่ประเทศไทยเจรจามาได้ใน FTA

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ในช่วง 5 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 6,495.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 29.6% เป็นการส่งออกจากไทยไปเกาหลีใต้มูลค่า 2,374.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 33.9% สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น วงจรพิมพ์ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ยางล้อรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องโทรศัพท์ไร้สาย เศษเหล็กและอะลูมิเนียม เนื้อไก่แปรรูป แผ่นไม้อัด ยางธรรมชาติ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น และไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 4,120.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 27.3% สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ สิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีด น้ำมันฟีดสต๊อกสำหรับใช้ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่น บุหรี่ เม็ดพลาสติก แคโทดที่ทำด้วยทองแดง ปลาสคิปแจ็กหรือปลาโอท้องแถบแช่แข็ง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad