อินเดียเข้มนำเข้า “แล็ปท็อป-แท็บเล็ต-คอมพิวเตอร์” ดีเดย์ 1 พ.ย.66 ต้องขออนุญาต - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันเสาร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2566

อินเดียเข้มนำเข้า “แล็ปท็อป-แท็บเล็ต-คอมพิวเตอร์” ดีเดย์ 1 พ.ย.66 ต้องขออนุญาต

img

อินเดียเข้มนำเข้า “แล็ปท็อป-แท็บเล็ต-

คอมพิวเตอร์” ดีเดย์ 1 พ.ย.66 ต้องขออนุญาต

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า อินเดียประกาศ Notification No. 23/2023 ลงวันที่ 3 ส.ค.2566 และ Notification No. 26/2023 ลงวันที่ 4 ส.ค.2566 ว่าด้วยการปรับปรุงนโยบายการนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดอัตราศุลกากร 8471 เฉพาะสินค้า 7 รายการ ตามพิกัดอัตราศุลกากรอินเดีย (Indian Trade Classification : ITC) ได้แก่ 84713010 , 84713090 , 84714110 , 84714120 , 84714190 , 84714900 และ 84715000 ซึ่งครอบคลุมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (All-in-one PCs) โดยกําหนดให้การนําเข้าสินค้าในกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่อินเดียต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2566 เป็นต้นไป

โดยการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว มีข้อยกเว้นให้ไม่ต้องขอใบอนุญาต เช่น การนำเข้าไปเพื่อวัตถุประสงค์การศึกษาวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) การทดสอบ การประเมิน การซ่อมบำรุง การส่งกลับ (Re-export) เป็นต้น โดยกำหนดปริมาณและเงื่อนไขกำกับ
         
สำหรับมาตรการนี้ เกิดจากความพยายามของรัฐบาลอินเดียตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ในการผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศตามนโยบาย Make in India อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำใน Supply chain สอดรับกับแผนกระตุ้นการลงทุนด้านอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการผลิต (Production-Linked Incentive Scheme : PLI) สำหรับสินค้า IT hardware ดึงดูดให้ผู้ผลิตรายใหญ่มาลงทุนเพื่อขยายการผลิตในอินเดีย โดยตั้งเป้าสร้างผลตอบแทนในอุตสาหกรรมให้ถึงมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 2569

นอกจากนี้ อินเดียมุ่งหวังที่จะเพิ่มเสถียรภาพและความปลอดภัยของอุตสาหกรรมในประเทศ โดยลดการพึ่งพาการนำเข้าวัสดุอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีน ที่เป็นแหล่งนำเข้าหลัก รวมถึงป้องกันความเสี่ยงหรือภัยคุกคามต่อความปลอดภัยทางเทคโนโลยีจากสินค้าดังกล่าวที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ระบบการออกใบอนุญาต จึงนำมาใช้คัดกรองการนำเข้าจาก “คู่ค้าที่เชื่อถือได้” เท่านั้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินเดียมั่นใจว่าการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของอินเดีย ช่วยสร้างโอกาสในการจ้างงานและรายได้หมุนเวียนในประเทศจำนวนมาก และจะสร้างความท้าทายต่อผู้ผลิตรายใหญ่ที่ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แล็ปท็อป แท็บเล็ต และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในอินเดีย รวมถึงคู่ค้าตลอด Supply chain ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการผลิตและบริหารจัดการที่จะเกิดขึ้นจากมาตรการนี้ นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีการปรับราคาสินค้าและปรับระยะเวลาการดำเนินตามแผนการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดอินเดียได้

ทั้งนี้ ในปี 2563 อินเดียได้เคยดำเนินมาตรการในลักษณะเดียวกันกับการนำเข้าสินค้าโทรทัศน์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังและมุ่งมั่นของอินเดียในการดำเนินมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของไทย โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าภายใต้พิกัดอัตราศุลกากร 8471 อยู่ในอันดับที่ 7 ของอินเดีย ซึ่งในปี 2565 อินเดียมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากไทยรวมราว 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มูลค่าการนำเข้าจากไทยมีแนวโน้มลดลง แม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่สามารถนำเข้าไปยังตลาดอินเดียได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตนำเข้าก็ตาม โดยในช่วง 6 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) อินเดียมีมูลค่านำเข้าจากไทย 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 15.78% ซึ่งการหดตัวดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับคู่ค้าส่วนใหญ่ของอินเดียโดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่เป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 และมีส่วนแบ่งตลาดนำเข้าสู่อินเดียมากกว่า 50% โดยอินเดียมีมูลค่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวจากจีน 2,167 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 28.67%
         
ผู้ประกอบการไทย ในฐานะคู่ค้าใน Supply chain ของอินเดีย จึงควรศึกษาแนวทางการออกใบอนุญาตสำหรับสินค้าในกลุ่ม แล็ปท็อป แท็บเล็ต อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้พิกัดอัตราศุลกากร 8471 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการใหม่ที่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ย.2566 โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ปัจจุบันถึงวันที่ 31 ต.ค.2566 สามารถนำเข้าสู่อินเดียได้โดยไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตนำเข้า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ทางการอินเดีย www.dgft.gov.in ในหัวข้อ “Regulatory Updates”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad