ส่งออกไทยเดือน ส.ค. เริ่มฟื้น SCB EIC มองปี 2024 ส่งออกไทยพลิกกลับมาขยายตัว - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566

ส่งออกไทยเดือน ส.ค. เริ่มฟื้น SCB EIC มองปี 2024 ส่งออกไทยพลิกกลับมาขยายตัว

ส่งออกไทยเดือน ส.ค. เริ่มฟื้น SCB EIC มองปี 2024 ส่งออกไทยพลิกกลับมาขยายตัว 

มูลค่าส่งออกสินค้าไทยเดือน ส.ค. ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือน

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน ส.ค. 2023 อยู่ที่ 24,279.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวได้ 2.6%YOY หลังจากหดตัวต่อเนื่องรุนแรง และนับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ในภาพรวมของปี 2023 มูลค่าส่งออก 8 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 187,593.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -4.5% โดยการส่งออกในเดือน ส.ค. นี้กลับมาขยายตัวได้ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก (1) ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้น (2) ปัจจัยฐานสูงเริ่มลดลง และ (3) ปัจจัยพิเศษจากการส่งสินค้ากลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปสหรัฐฯ ซึ่ง SCB EIC ประเมินในเบื้องต้นว่ายานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษดังกล่าวนี้เป็นอุปกรณ์ในการซ้อมรบ ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยสูงกว่าปกติราว 2.9 percentage point (รูปที่ 3) อย่างไรก็ดี หากหักผลกระทบจากการส่งออกสินค้าที่ไม่สะท้อนสภาวะส่งออกของไทยอย่างแท้จริง (ได้แก่ ทองคำ อาวุธ และยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษ) พบว่าการส่งออกของไทยยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.7% แต่หากหักผลฤดูกาลแล้วพบว่า การส่งออกขยายตัวมากถึง 5.4%MOM_sa เทียบเดือนก่อน สะท้อนแนวโน้มการขยายตัวที่ดีในเดือนนี้ แม้ไม่รวมแรงหนุนปัจจัยชั่วคราวและปัจจัยทางเทคนิค

การส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัว ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังหดตัว

ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าในเดือน ส.ค. ปรับดีขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า นำโดย (1) สินค้าเกษตรพลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ 4.2% โดยผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งและข้าวเป็นสองกลุ่มสินค้าเกษตรที่ส่งออกดี ขณะที่การส่งออกยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และไก่แปรรูปหดตัว ทั้งนี้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยขยายตัวได้ดีในเดือนนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัวสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ที่ 6.6% (รูปที่ 4) จากผลกระทบของสถานการณ์ภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงนโยบายห้ามส่งออกข้าวของอินเดีย (2) สินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว 2.5% ได้หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ส่วนหนึ่งจากการเคลื่อนย้ายสินค้ากลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษออกจากประเทศ นอกจากปัจจัยพิเศษนี้ การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบเป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกที่ขยายตัวดีในเดือนนี้ ขณะที่การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญที่หดตัว (3) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงกลับมาขยายตัว 22.2% หลังจากหดตัวรุนแรงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่หดตัวในอัตราชะลอลง ขณะที่ (4) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังหดตัวต่อเนื่องที่ -7.6% ปรับดีขึ้นจาก -11.8% ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยที่ 2.5% ขณะที่น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว

การส่งออกกลับมาขยายตัวได้ในหลายตลาดสำคัญ รวมถึงจีน

ความผันผวนของการส่งออกไปตลาดหลักยังคงมีอยู่ แต่ปรับลดลง โดย (1) การส่งออกไปตลาดจีนแม้ยังผันผวนแต่ยังขยายตัวได้ 1.9% ในเดือนนี้จากการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งที่ขยายตัวมากถึง 119.5% (2) ตลาด ASEAN หดตัวน้อยลงทั้ง ASEAN5 และ CLMV ที่ -1.5% และ -21.3% ตามลำดับ (3) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวมากถึง 21.7% จากปัจจัยพิเศษในการเคลื่อนย้ายสินค้ากลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปยังสหรัฐฯ

Flash_Export_SEP2023.jpg


ดุลการค้าเกินดุลเล็กน้อยจากปัจจัยพิเศษการเคลื่อนย้ายสินค้าในกลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปยังสหรัฐฯ

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 23,919.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐหดตัว -12.8% รุนแรงมากขึ้นจาก -11% ในเดือนก่อน โดยสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหดตัวรุนแรง -35.1% และ -13.2% ตามลำดับ สินค้าทุนค่อนข้างทรงตัวที่ -0.7% ขณะที่การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งและสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 9% และ 1.8% ตามลำดับ สำหรับดุลการค้าในระบบศุลกากรในเดือน ส.ค. เกินดุลเล็กน้อยที่ 359.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังขาดดุล -1,977.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี หากหักปัจจัยพิเศษการเคลื่อนย้ายสินค้าในกลุ่มยานยนต์สำหรับใช้งานพิเศษจากไทยไปยังสหรัฐฯ ดุลการค้าจะขาดดุลราว 300-400 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับดุลการค้าในระบบศุลกากรในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2023 ขาดดุล -7,925.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าไทยปี 2023

SCB EIC ปรับลดประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าไทยปี 2023 เหลือ -1.5% (เดิม 0.5%) หลังการส่งออกหดตัวต่อเนื่องรุนแรงและฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาด ในระยะถัดไป SCB EIC มองว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามลำดับ และขยายตัวชัดเจนในช่วงท้ายปีจากเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 4 และปัจจัยฐานต่ำ ประกอบกับมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การขยายตัวช่วงท้ายปีจะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงในช่วง 7 เดือนแรกของปีได้ ดังนั้น SCB EIC จึงปรับมุมมองประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2023 เป็นหดตัว -1.5% (USD BOP) ลดจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0.5% 

ประมาณการมูลค่าส่งออกสินค้าไทยปี 2024

การส่งออกไทยปี 2024 มีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัวได้ 3.5% จาก (1) ปริมาณการค้าโลกในปี 2024 คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าปี 2023 (รูปที่ 6) รวมถึงเศรษฐกิจโลกปี 2024 คาดว่าขยายตัวต่อเนื่องใกล้เคียงปี 2023 ที่ 2.3% (รูปที่ 5) โดยเฉพาะภาคการผลิตที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้นจากปีนี้ (2) ปัญหาห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลงและต้นทุนการขนส่งสินค้าลดลงกลับสู่ระดับปกติ (รูปที่ 6) (3) ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากเศรษฐกิจโลกในปีหน้าที่มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงปีนี้ ประกอบกับกลุ่ม OPEC+ ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับสูงขึ้น และ (4) นโยบายการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรจากบางประเทศที่จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น เช่น นโยบายควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดียที่มีส่วนผลักดันให้ราคาข้าวโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการส่งออกของไทยยังมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ (1) นโยบายการเงินตึงตัวมากกว่าคาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วทำให้เศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอลง (2) เศรษฐกิจจีนขยายตัวแผ่วลง ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่อาจใช้เวลาฟื้นตัว จะกระทบสินค้าส่งออกบางชนิดของไทยที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน โดยเฉพาะยางพารา ไม้ยางพารา ปิโตรเคมี คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และชิ้นส่วนรถยนต์ และ (3) ภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยปริมาณฝนในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 41 ปีในหลายพื้นที่ของไทยส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเกษตรของไทยลดลงในหลายกลุ่มจากปริมาณผลผลิตที่เสียหาย โดยเฉพาะข้าว อ้อย และน้ำมันปาล์ม (รูปที่ 7)

Thai-export-01.JPG
Thai-export-02.JPGThai-export-03.JPGThai-export-04.JPGThai-export-05.JPGThai-export-06.JPG

บทวิเคราะห์โดย... www.scbeic.com/th/detail/product/trade-260923

ผู้เขียนบทวิเคราะห์

วิชาญ กุลาตี (vishal.gulati@scb.co.th)

นักเศรษฐศาสตร์

ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ (poonyawat.sreesing@scb.co.th) 

       .com/img/a/

 .com/img/a/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad