ส่งออกไทยเดือน พ.ย. ขยายตัว แต่นำเข้าขยายตัวแข็งแกร่งกว่า - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566

ส่งออกไทยเดือน พ.ย. ขยายตัว แต่นำเข้าขยายตัวแข็งแกร่งกว่า


ส่งออกไทยเดือน พ.ย. ขยายตัว แต่นำเข้า

ขยายตัวแข็งแกร่งกว่า

 

ส่งออกเดือนนี้ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่สะท้อนภาพการส่งออกฟื้นตัวได้จริง เพราะมีผลปัจจัยฐานต่ำ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือน พ.ย. 2023 อยู่ที่ 24,379.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 4.9%YOY ใกล้เคียงกับการคาดการณ์ใน Bloomberg poll ที่ 5% อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวที่เห็นยังไม่สะท้อนภาพการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยได้อย่างแท้จริง เนื่องจากขยายตัวจากปัจจัยฐานต่ำเป็นหลัก โดยมูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ย. 2022 หดตัวมากถึง -5.6%  หากหักปัจจัยฐานดังกล่าวที่ไม่ได้สะท้อนสภาวะการส่งออกอย่างแท้จริง มูลค่าการส่งออกหักทองคำของไทยในเดือน พ.ย. 2023 จะหดตัว -2.7% เทียบกับเดือนก่อนแบบปรับฤดูกาล (%MOM_SA)[1] นอกจากนี้ ยังมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 64.8% (Contribution to total export growth = 0.3%) สะท้อนว่าการส่งออกของไทยยังค่อนข้างซบเซา สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกโดยรวม ด้านผลผลิต และยอดคำสั่งซื้อใหม่จากต่างประเทศที่แม้จะปรับเพิ่มขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในทิศทางหดตัว (รูปที่ 3) ทั้งนี้ภาพรวมการส่งออกไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่า 261,770.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -1.5%YOY

1 คำนวณด้วยวิธี X13ARIMA แบบปรับเพิ่มวันหยุดเทศกาล

การส่งออกเดือนนี้ขยายตัวดีขึ้นทุกกลุ่มสินค้า

ภาพรวมการส่งออกรายสินค้าปรับดีขึ้นทุกกลุ่ม นำโดย (1) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่ขยายตัวแข็งแกร่ง 42.4% ต่อเนื่องจาก 61.3% ในเดือนก่อน (2) สินค้าเกษตรขยายตัว 7.7% ต่อเนื่องจาก 12.3% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว (3) สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง 3.4% จาก 5.4% ในเดือนก่อน โดยเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกลเป็นสินค้าหลักที่ขยายตัวดี ขณะที่การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบเป็นสินค้าสำคัญที่หดตัว และ (4) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 1.7% ต่อเนื่องจาก 5.9% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกสิ่งปรุงรสอาหารเป็นสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี (รูปที่ 1 และ 2)

การส่งออกเดือนนี้ขยายตัวในหลายตลาดสำคัญ

ภาพรวมการส่งออกรายตลาดปรับดีขึ้นในหลายตลาดสำคัญ โดย (1) ตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่อง 17.5% หลังจากขยายตัว 13.8% ในเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าในตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวได้อย่างทั่วถึง การส่งออกสินค้าสำคัญ 15 ลำดับแรกของตลาดนี้ขยายตัวได้ถึง 11 รายการ โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ (34.9%) อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (29.9%) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (128.3%) (2) ตลาดจีน หดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือนอยู่ที่ -3.9% นับว่าตัวเลขค่อนข้างแย่เมื่อพิจารณาจากเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มปรับดีขึ้นบ้างและปัจจัยฐานต่ำ (มูลค่าการส่งออกไทยไปจีนหดตัวมากถึง -10.8% ในเดือน พ.ย. 2022) (3) ตลาดอินเดีย หดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ -7.2% อย่างไรก็ดี น่าสนใจว่าสินค้าส่งออกสำคัญ 15 ลำดับแรกของตลาดนี้ ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 70% ของการส่งออกไปอินเดียทั้งหมดขยายตัวได้มากถึง 6.7% แต่กลุ่มสินค้าส่งออกอื่น ๆ กลับหดตัวมากถึง -28.6% (รูปที่ 1)

ดุลการค้าระบบศุลกากรขาดดุลต่อเนื่อง นำเข้าขยายตัวสูงกว่าส่งออกมาก

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 25,879.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10%YOY ใกล้เคียงเดือนก่อน การขยายตัวของการนำเข้าในเดือนนี้ไม่มีผลจากปัจจัยฐาน (มูลค่าการนำเข้าในเดือน พ.ย. ในปี 2022 และ 2021 ขยายตัวดีที่ 4.9% และ 19.3% ตามลำดับ) นอกจากนี้ การนำเข้าขยายตัวค่อนข้างทั่วถึง โดยการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 23.9% การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งขยายตัว 21.5% การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงขยายตัว 13% การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 9.6% ยกเว้น การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่ขยายตัวเพียง 0.2% (-1.7% หากไม่รวมทองคำ) สำหรับดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้ขาดดุล -2,399.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลต่อเนื่องจาก -832.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน หากรวมในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ ดุลการค้าขาดดุล -6,165.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Flash_Export_Nov-01.jpg

 

SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกในระยะต่อไปจะขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยอาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

SCB EIC มองมูลค่าการส่งออกไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่องในเดือน ธ.ค. แต่จะยังไม่สะท้อนสภาวะการส่งออกที่ดีขึ้น เพราะยังมีผลปัจจัยฐานต่ำ โดยการส่งออกในเดือน ธ.ค. 2022 หดตัวมากถึง -14.3% นอกจากนี้ การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงท้ายปีจะไม่สามารถชดเชยการหดตัวรุนแรงตั้งแต่ต้นปีได้ ส่งผลให้มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2023 มีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย โดย SCB EIC คงประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในระบบดุลการชำระเงิน (USD BOP basis) ปี 2023 ที่ -1.5%YOY

สำหรับมูลค่าการส่งออกในปี 2024 ประเมินว่ามีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ 3.7% จากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่ (1) ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้แม้จะชะลอลงบ้างอยู่ที่ราว 2.5% (2) ภาคการผลิตที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศจะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปี 2024 หลังจากภาคบริการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศน้อยกว่าเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในปี 2023 (รูปที่ 4 และ 5) (3) ราคาสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงในปี 2024 เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้งและนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ (4) ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันการส่งออกของไทย เช่น การขยายตลาดของสินค้าไทยในต่างประเทศ การแสดงสินค้าในต่างประเทศ การเดินหน้าจัดทำสนธิสัญญาการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ และ (5) ปัจจัยฐานต่ำ

การส่งออกอาหารและเครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเป็นกลุ่มสินค้าหลักขับเคลื่อนการส่งออกไทยในปี 2024 โดยการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มมีแนวโน้มขยายตัว 13.9% (Contribution to export growth = 0.9%) เร่งตัวขึ้นจาก 7.5% ในปี 2023 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกและรายได้ต่อหัวตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มพลิกกลับมาขยายตัว 3.2% (Contribution to export growth = 0.8%) หลังจากหดตัว -4.7% ในปี 2023 จากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในโลก โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในโลก จะช่วยสนับสนุนให้ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีความต้องการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไทยมากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน (รูปที่ 4)

ทั้งนี้ความเสี่ยงจากห่วงโซ่อุปทานโลกหยุดชะงักอาจปะทุขึ้นได้อีกครั้งจากเหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าโดยกบฏฮูตีในบริเวณทะเลแดง (คลองสุเอซ) และระดับน้ำที่น้อยกว่าปกติในคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของโลกราว 17% ของปริมาณการค้าโลก นับว่าเป็นความเสี่ยงใหม่สำคัญที่ต้องจับตา ในปัจจุบันประเมินว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดยุโรปจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เนื่องจากต้องอาศัยเส้นทางเดินเรือข้างต้น อย่างไรก็ดี ตลาดยุโรปคิดเป็นสัดส่วนไม่มากราว 10% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ส่งผลให้การส่งออกไทยโดยรวมจะยังได้รับผลกระทบจำกัด

export-01.png
export-01-2.png
export-02.png
export-03.png
export-04.png
export-05.png
export-06.png

 

 Button-01.jpg

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad