นวัตกรรมของเอสซีจี ช่วยพัฒนาคุณภาพน้ำในคลองเปรมประชากรและแฟลตตำรวจ ทุ่งสองห้อง ในกิจกรรมจิตอาสาเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นวัตกรรมของเอสซีจี ช่วยพัฒนาคุณภาพน้ำในคลองเปรมประชากรและแฟลตตำรวจ ทุ่งสองห้อง ในกิจกรรมจิตอาสาเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10


ปัญหาแหล่งน้ำเน่าเสียในเขตชุมชน นับเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนเมืองในหลายพื้นที่ เพราะลำคลองที่เน่าเสียนอกจากจะสร้างมลพิษทางอากาศ ส่งกลิ่นเน่าเหม็นแล้ว ยังเป็นแหล่งของเชื้อโรค และขยะในแม่น้ำ ลำคลองยังทำให้น้ำไหลระบายสู่ปลายทางไม่สะดวก หรือกลายเป็นปัญหาขยะในทะเลอีกต่อหนึ่งด้วย

เอสซีจีได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมใน โครงการ “จิตอาสา สำรวจออกแบบ จัดหาและติดตั้งชุดกรองน้ำเสียในคลองเปรมประชากร เฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10” โครงการนี้เป็นโครงการนำร่อง โดยใช้ชุมชนแฟลตตำรวจทุ่งสองห้องและคลองเปรมประชากรเป็นต้นแบบของโครงการ สอดคล้องกับพระราชดำริเรื่องการพัฒนาคุณภาพของในหลวงรัชกาลที่ 10
“จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำในคลองเปรมประชากรตลอดสายในกรุงเทพฯ พบว่า เขตดอนเมืองและหลักสี่ เป็นพื้นที่ที่มีชุมชนอาศัยหนาแน่น และมีน้ำเน่าเสียมากที่สุด จึงเหมาะสมต่อการดำเนินโครงการฟื้นฟู จึงได้ประสานความร่วมมือกับเอสซีจี ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่มีศักยภาพร่วมดำเนินการออกแบบและจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียก่อนระบายน้ำลงคลองเปรมประชากร” นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงที่มาของกิจกรรมนี้
“การสนับสนุนครั้งนี้เป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากบ้านเรือนที่ปล่อยออกสู่ลำน้ำสาธารณะ และเป็นโครงการต้นแบบในการทดลองแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในเขชุมชนเมือง ในบริเวณที่มีอาคารบ้านเรือนพักอาศัยติดกับลำน้ำสาธารณะ” นายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวถึงที่มาของการสนับสนุนโครงการ
นวัตกรรมของเอสซีจี ช่วยพัฒนาคุณภาพน้ำในคลองเปรมประชากรและแฟลตตำรวจ ทุ่งสองห้อง ในกิจกรรมจิตอาสาเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10
ถังดักไขมันแบบ DIY ประกอบง่าย ติดตั้งได้ในครัวเรือน การพัฒนาคุณภาพน้ำสามารถเริ่มได้ตั้งแต่จุดแรกที่น้ำเสียเกิดขึ้น คือจากครัวเรือน ซึ่งในแฟลตตำรวจมีจำนวนผู้พักอาศัยจำนวนมาก น้ำเสียจากการประกอบอาหาร ซักล้าง ควรถูกบำบัดเบื้องต้นก่อนระบายสู่ภายนอก เอสซีจีสนับสนุน “ถังดักไขมัน นวัตกรรมแบบ DIY” (Do It Yourself - ผู้ใช้สามารถประกอบได้เอง) จำนวน 185 ชุดให้กับผู้พักอาศัยในแฟลตตำรวจ ทั้งนี้ ถังดักไขมันดังกล่าวทำจากวัสดุที่หาซื้อได้ทั่วไป ราคาประหยัด สามารถประกอบได้ง่าย ติดตั้งได้ในครัวเรือนได้ทันที นำไปใช้กรองเศษอาหาร และช่วยแยกไขมันออกจากน้ำก่อนปล่อยน้ำทิ้งสู่ท่อระบายน้ำ
เปลี่ยนน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำใส และกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
สำหรับน้ำที่ใช้งานแล้วถูกระบายจากครัวเรือนของแฟลตตำรวจทุ่งสองห้อง เอสซีจีได้ติดตั้ง “ระบบบำบัดน้ำเสียไซโคลนิก จาก เอสซีจี (Zyclonic by SCG)” จำนวน 2 ยูนิต เพื่อขจัดของเสีย และปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียจากห้องน้ำ และน้ำเสียในครัวเรือนด้วยกระบวนการทางชีวภาพและเคมีไฟฟ้า ทำให้น้ำที่ได้ปราศจากเชื้อโรค สี และกลิ่น สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นำไปรดน้ำต้นไม้ ใช้ในชักโครก หรือทำความสะอาดทั่วไปในพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน โดยถังบำบัดน้ำเสีย 1 ยูนิต จะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ถึง 600 ลิตรต่อวันทั้งยังมีขนาดเล็ก จึงติดตั้งและดูแลรักษาได้ง่าย และสามารถนำไปเชื่อมต่อกับบ่อเกรอะ และบ่อพักน้ำเสียของอาคารได้ทันที ถือเป็นนวัตกรรมเพื่อสุขอนามัยที่ยั่งยืนที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากระบบสุขาปลอดเชื้อที่ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมพัฒนาขึ้นกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบิล และเมลินดา เกตส์
ทุ่นกักขยะทะเล กับภารกิจใหม่ในแม่น้ำลำคลอง
อีกหนึ่งกิจกรรมที่เอสซีจีได้ทำในการพัฒนาลำคลองเปรมประชากร โดยเฉพาะในส่วนของเขตดอนเมืองและหลักสี่ที่มีปริมาณขยะมาก เอสซีจีได้นำ “นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำ HDPE-Bone” ที่ประสบความสำเร็จในการดักขยะจากปากแม่น้ำออกสู่ทะเล กว่า 24 แห่งทั่วประเทศ มาใช้ในคลองเปรมประชากรแห่งนี้ โดยได้อัปเกรดวัสดุที่ทำให้แท่นลอยน้ำให้น้ำหนักเบา ประกอบสะดวก แข็งแรงทนทาน อายุการใช้งานได้นานกว่า 25 ปี
“นวัตกรรมทุ่นกักขยะลอยน้ำนี้ ได้มีการใช้ครั้งแรกบริเวณปากแม่น้ำจังหวัดระยอง สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ติดตั้งในลำคลอง เพื่อช่วยให้การเก็บกักขยะในลำคลองสะดวกรวดเร็วขึ้น” นายยุทธนากล่าว โดยเอสซีจีมอบและติดตั้งทุ่นกักขยะลอยน้ำจำนวน 2 ชุด เพื่อเก็บกักขยะในคลองเปรมประชากรไม่ให้หลุดรอดออกสู่ทะเลและเพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในชุมชน
ร่วมด้วยที่ช่วยกัน คืนชีวิตให้แม่น้ำลำคลอง
หากทุกคนร่วมมือกันจัดการขยะตั้งแต่ในครัวเรือน โดยเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การแยกขยะก่อนทิ้ง ไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง รวมไปถึงการใช้น้ำอุปโภคและบริโภคเท่าที่จำเป็นจะช่วยทำให้ลดปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชนก่อนปล่อยไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูน้ำในแม่น้ำลำคลองเปรมประชากรสามารถกลับมาใสสะอาดได้อีกครั้ง อีกทั้ง ยังส่งผลทำให้ชุมชนที่อาศัยริมฝั่งลำคลองมีสุขอนามัยดีขึ้นและทัศนียภาพบริเวณโดยรอบแม่น้ำลำคลองกลับมาสวยงามอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad