“ตำแหน่ง GM ในวัย 35” ความสำเร็จที่ได้มาจากประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ! “เบล-ธนกร” ศิษย์เก่าวิศวฯ เคมี ธรรมศาสตร์ มองทุกอุปสรรคเป็น “บททดสอบ” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

“ตำแหน่ง GM ในวัย 35” ความสำเร็จที่ได้มาจากประสบการณ์มากกว่า 10 ปี ! “เบล-ธนกร” ศิษย์เก่าวิศวฯ เคมี ธรรมศาสตร์ มองทุกอุปสรรคเป็น “บททดสอบ”


น้อง ๆ หลายคนอาจจะยังมองภาพไม่ออกว่า โลกการทำงานเมื่อก้าวพ้นรั้วมหาวิทยาลัยนั้นเป็นอย่างไร จะพบเจอแต่เรื่องยาก ๆ ที่ท้าทายรออยู่หรือไม่ ทั้งการหางานที่แมชต์กับความต้องการ การทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือแม้กระทั่งความสำเร็จในการทำงาน ทว่า ในโลกความจริงของชีวิตวัยทำงาน มีคนจำนวนไม่น้อย ที่เติบโตและประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กว่าที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เช่นเดียวกับ 'พี่เบล-ธนกร โรจน์ทินกร’ ศิษย์เก่าจากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ที่สามารถขึ้นมาทำงานในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ และรักษาการผู้จัดการทั่วไป ของ KIM PAI Group ได้ภายในระยะเวลา 13 ปี

แน่นอนว่าในระหว่างหนทางสู่ความสำเร็จ ย่อมมีหลาย ๆ อย่างเข้ามาเป็นบททดสอบ ให้เขาได้ฝ่าฟันและพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง เรื่องเล่าชีวิตวัยทำงานของพี่เบล จะน่าสนใจแค่ไหน หรือมีเทคนิคการทำงาน รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างไร วันนี้ แอดมิน ได้ชวนพี่เบลมาร่วมแชร์ประสบการณ์ดี ๆ ให้กับน้อง ๆ ได้ฟังกัน ตามมาได้เลย !
ครอบครัว/ญาติพี่น้อง อีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญ
ย้อนกลับไปช่วงก่อนจะเข้ามาเรียนที่นี่ ตนได้แรงบันดาลใจมาจากญาติห่างๆ ที่ทำงานเป็นวิศวกรปิโตรเลียม โดยตนคิดว่าอาชีพนี้เท่ดี มีรายได้สูง และที่สำคัญดูเป็นงานที่ท้าทาย หากเลือกเรียนทางด้านนี้ น่าจะได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายแน่นอน ซึ่งโดยส่วนตัวก็เป็นคนที่ชอบวิชาเคมีและคณิตศาสตร์อยู่แล้ว เลยตัดสินใจเลือกที่จะเข้ามาเรียนที่ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TSE
Technical Skill x Management Skill สกิลสร้างโปรไฟล์การทำงานแบบมืออาชีพ
ปัจจุบันตนทำงานในตำแหน่ง Operation Manager & Manufacturing General Manager (Acting) อยู่ที่ KIM PAI Group ซึ่งมีหน้าที่หลักๆ คือ เพิ่ม รักษาและพัฒนาประสิทธิภาพทางด้านการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ควบคุมงบประมาณในการผลิตและในโปรเจกต์ต่าง ๆ ไม่ใช่แค่ตัวเนื้องานเท่านั้นที่เขาต้องรับผิดชอบ แต่ยังรวมไปถึงการรู้จักบริหารคนในทีมให้เป็น ฟังดูแล้วคงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย ที่จะดูแลทั้งงานและคนในทีมไปพร้อมๆ กัน แต่สิ่งที่ทำให้ตนผ่านมาได้นั้น เป็นเพราะใช้เทคนิคสำคัญในการทำงานอยู่ 2 อย่าง คือ
Technical Skill ตนมักสำรวจทักษะตนเองอยู่เสมอว่า ทักษะที่มีจะส่งผลดีให้กับบริษัทและคนในทีมได้อย่างไร การประยุกต์ใช้ทักษะเฉพาะทางเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างตรงจุด จะช่วยสร้างเครดิตให้กับตนเอง การสร้างความศรัทธาให้กับทีมงาน ตลอดจนสามารถสร้างความไว้วางใจให้กับหัวหน้าที่อยู่ในระดับสูงกว่าได้
Management Skill ทั้งการบริหาร และการจัดลำดับความสำคัญของงานให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่บ่งชี้ถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงาน
คิดแก้ปัญหาตามหลักวิศวกรรม
ก่อนหน้าที่ตนจะมารับตำแหน่ง “ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ และรักษาการผู้จัดการทั่วไป” ตนเคยผ่านการทำงานมาอย่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของตัวเนื้องานและบริษัท ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรฝ่ายการผลิต วิศวกรเคมี วิศวกรโครงการ เป็นต้น แม้ในแต่ละงานจะมีรายละเอียดและหน้าที่ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถหยิบมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยก็คือ การวิเคราะห์ วางแผน คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงการแก้ไขปัญหาตามหลักของวิศวกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อทำงานไปเรื่อยๆ ก็จะถูกฝึกให้คิดในหลาย ๆ ด้านอย่างรอบคอบ ทั้งในเรื่องของมาตรฐาน คุณภาพของสินค้า ต้นทุน ความคุ้มค่า ความเสี่ยงทั้งปัจจัยภายในและภายนอก
ประสบการณ์ที่หลากหลาย เติมเต็มสกิลการทำงาน
แน่นอนว่าการทำงานที่หลากหลาย ย่อมพาไปเจอกับประสบการณ์ที่แตกต่าง โดยหากย้อนเวลาไปในช่วงที่มีโอกาสทำงานที่ SCG Chemicals ตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงเริ่มโปรเจกต์ จึงทำให้ตนได้เห็นกระบวนการทำงานตั้งแต่ โยธา ไฟฟ้า เครื่องกล เครื่องมือวัด ระบบ Automation มันทำให้ได้เรียนรู้ในศาสตร์อื่น ๆ เพิ่มเติม และสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในด้านอื่น ๆ ได้อีก ซึ่งจุดนี้ก็เป็นสิ่งที่รู้สึกประทับใจมาก ๆ นอกจากนี้ ในปี 2015 ยังได้รับโอกาสในการเป็นตัวแทนขององค์กรและตัวแทนของประเทศ เข้าร่วมแข่งขันเพื่อนำเสนอ Improvement project ที่งาน ICQCC ที่ประเทศเกาหลีใต้ และได้รับรางวัล Silver Award กลับมาอีกด้วย
ไหวพริบดี มองเกมธุรกิจขาด มีชัยไปกว่าครึ่ง
ตลอดชีวิตการทำงานก็ใช่ว่าจะราบรื่นไปเสียทั้งหมด มีอยู่ครั้งหนึ่งตนได้รับมอบหมายให้ดูแลโปรเจกต์ให้กับโรงไฟฟ้าของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งในเฟสแรกจำเป็นต้องใช้แก๊สไนโตรเจนเพื่อเซ็ตระบบใหม่ โดยตนได้ติดต่อจ้างซัพพลายเออร์จากข้างนอกเข้าไปทำงาน และทันทีที่ซัพพลายเออร์ท้องถิ่นรู้เข้าก็เกิดความไม่พอใจ ตนจึงรายงานเรื่องราวทั้งหมดไปยังหัวหน้า ซึ่งทางนั้นก็บอกให้ตนยกเลิกโปรเจกต์และเดินทางกลับทันที แต่ทว่า ตนยืนยันว่าอยากจะลองเจรจาหาทางออก เพื่อไม่ให้ทางบริษัทเสียหายหนัก สุดท้ายจึงแก้ปัญหาด้วยการจ่ายค่าเสียหายให้กับซัพพลายเออร์ท้องถิ่น และให้สัญญาว่าในเฟส 2 ที่จะกลับมาทำงาน จะให้ทีมซัพพลายเออร์ท้องถิ่นเข้ามาทำงานแทน ซึ่งพอได้กลับมาทำจริง ๆ ก็ทำให้งานราบรื่นและกลายเป็นพันธมิตรกันไปเลย
คิดแล้วต้องลงมือทำ พร้อมวางแผนตั้งรับ มองทุกอุปสรรคเป็นแบบทดสอบ !
สำหรับคติที่ตนยึดถือตลอดการทำงานที่ผ่านมา คือ “คิดแล้วต้องลงมือทำ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักวางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหา หรือสถานการณ์ที่อาจคาดไม่ถึงเอาไว้ล่วงหน้า เพราะเมื่อปัญหานั้นเกิดขึ้นจริง เราจะได้หยิบวิธีการต่าง ๆ ที่คิดไว้มาแก้ไขหาทางออกได้ทันท่วงที ทั้งเนื้องานและคนในทีมก็สามารถเดินหน้าต่อได้แบบไม่ติดขัด” อีกทั้งมองว่า “ทุกอุปสรรคที่เข้ามาไม่ใช่ภาระ แต่มันคือการฝึกให้เขาได้เผชิญกับการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่ต่างออกไป และแม้ว่าหลาย ๆ คนอาจจะมองว่า ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ และรักษาการผู้จัดการทั่วไปนั้น เป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างสูงแล้ว แต่ตนก็ยังอยากพัฒนาตัวเองให้เติบโตขึ้นไปอีกเรื่อยๆ เพราะเขาคิดว่าทางข้างหน้ายังมีอะไรที่ท้าทายและต้องเรียนรู้อีกมาก หากไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ก็ย่อมมีโอกาสก้าวไปได้ไกลกว่านี้อย่างแน่นอน”
“สุดท้ายอยากจะฝากถึงน้อง ๆ ที่มี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เป็นตัวเลือกในใจว่า ที่แห่งนี้ได้ให้อะไรกับตัวเขาเองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิชาความรู้ที่เปรียบเสมือนเป็นการเตรียมอาวุธพื้นฐานก่อนออกไปสู่โลกของการทำงานจริง นอกจากนี้ยังทำให้เขาได้เจอกับสังคมดี ๆ ทั้งเพื่อนและอาจารย์ที่คอยให้คำปรึกษาและความช่วยเหลืออยู่เสมอ หากได้ลองเข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกัน เชื่อว่าจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอนครับ” พี่เบล-ธนกร เล่าปิดท้าย
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ได้ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad