อก. เผย MPI เดือน ส.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 4.81 ส่งสัญญาณ ศก.ภาคอุตฯ ฟื้นตัว - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

อก. เผย MPI เดือน ส.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 4.81 ส่งสัญญาณ ศก.ภาคอุตฯ ฟื้นตัว

 


อก. เผย MPI เดือน ส.ค. ขยายตัวจากเดือนก่อนร้อยละ 4.81 ส่งสัญญาณ ศก.ภาคอุตฯ ฟื้นตัว

ชี้ต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างศก. ไทย หลังต่างชาติประสบปัญหาโควิด-19 ระลอก 2

 

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2563 ขยายตัวร้อยละ 4.81 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อีกทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 60.69  สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดและทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ หลายอุตสาหกรรมหลักเริ่มทยอยกลับมาขยายตัว อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ต่างประเทศมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะภาคบริการและท่องเที่ยว ดังนั้นเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและหันมาให้ความสำคัญการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 4.81โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนสิงหาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 60.69 จากเดิมที่ระดับ57.58  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2563 จะยังคงหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.34 แต่เป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 12.93 เข้าสู่เลขหลักเดียว สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดและกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติในช่วงก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าประเทศไทยจะไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอุปโภคและบริโภค เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน


“สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศยังคงน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลง ประเทศไทยที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจพึ่งพาต่างประเทศมากจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจและหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น โดยที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น อีกทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงก่อนเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ ภาครัฐได้เตรียมดำเนินนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายประเทศผ่านโครงการ คนละครึ่ง เพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในประเทศ อีกทั้งยังได้จัดงาน Job Expo Thailand 2020 เพื่อเป็นช่องทางหางานให้กับผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้ผลักดันแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลให้เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนเพิ่มขีดความสามารถการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ลดการนำเข้าจากต่างประเทศและหันมาใช้เครื่องจักรกลที่ผลิตภายในประเทศแทน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศ” นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนสิงหาคมขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 60.69 ใกล้เคียงกับสภาวะก่อนหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกันกับกำลังซื้อภายในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น โดยสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคม 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.50 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างประเทศยังคงประสบปัญหาในการควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศให้ชะลอตัวลง ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีการพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

นายทองชัย กล่าวต่อว่า อุตสาหกรรมหลักที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.40 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.50 และจากผลิตภัณฑ์ปุ๋ยเคมีที่เกษตรกรเตรียมพร้อมที่จะเพาะปลูกอีกครั้ง ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลักๆ ได้เริ่มฟื้นกลับมาโดยเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ได้เพิ่มกำลังการผลิตในเดือนสิงหาคมมาอยู่ที่ระดับ 59.81 จากระดับ 45.85 ในเดือนก่อน โดยความต้องการจากตลาดในประเทศขยายตัวร้อยละ 16.10 หลังผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตครบทุกค่ายรถแล้ว รวมทั้งมีการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดในประเทศ ประกอบรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนสิงหาคม ได้แก่

ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 66.76 เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามปกติจึงมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.60 จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า โดยตู้เย็น ผู้บริโภคภายในประเทศยังมีความต้องการสำรองอาหารสดเพิ่มขึ้น รวมถึงการปรับลดราคาเพื่อขยายฐานลูกค้า ในขณะที่เครื่องซักผ้าได้มีการเปิดช่องทางการตลาดใหม่ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกเพิ่มขึ้น ไปยังประเทศมาเลเซียและญี่ปุ่น

เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.75 จากผลิตภัณฑ์เครื่องเรือนทำด้วยไม้และโลหะ เนื่องจากผู้ผลิตได้เร่งผลิตให้ทันส่งมอบทั้งตลาดในประเทศและส่งออก โดยเป็นคำสั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็กและราคาไม่สูงมากส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.82 จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องรวมถึงการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.42 เนื่องจากมีความต้องการสินค้าจำนวนมากหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลกโดยเฉพาะในตลาดส่งออกสำคัญยังมีการระบาดอยู่ ประกอบกับช่องทางการค้าปลีกมีการขยายตัวได้ดีขึ้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต (รายเดือน)

Index

2562

2563

ส.ค.

ก.ย.

ต.ค.

พ.ย.

ธ.ค.

ม.ค.

ก.พ.

มี.ค.

เม.ย.

พ.ค.

มิ.ย.

ก.ค.

ส.ค.*

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

100.78

97.39

96.24

97.20

98.94

103.95

100.90

103.68

78.08

79.68

82.88

87.24

91.43

อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) %

0.59

-3.37

-1.18

0.99

1.80

5.06

-2.93

2.75

-24.69

2.05

4.01

5.26

4.81

อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) %

-4.43

-4.97

-7.98

-8.02

-4.37

-4.02

-4.24

-10.48

-18.22

-23.80

-17.80

-12.93

-9.34

อัตราการใช้กำลังการผลิต

65.65

63.63

62.79

63.19

64.02

66.75

66.06

67.78

51.27

52.34

55.07

57.58

60.69

ที่มา : กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad