CGTN: จีนผ่อนปรนมาตรการคุมโควิด-19
เอื้อคนในชาติกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
ปักกิ่ง—9 ม.ค. 2566—พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
จีนได้ผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในขณะที่จีนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ หลังจากที่ได้ดำเนินมาตรการคุมเข้ามานานถึง 3 ปี
จีนได้กลับมาเปิดด่านชายแดนเพื่อการขนส่งสินค้าอีกครั้ง รวมถึงเปิดรับนักเดินทางทั้งขาเข้าและขาออก ทั้งยังเปิดโอกาสให้พลเมืองจีนทำหนังสือเดินทางและขอวีซ่าเพื่อเดินทางทำธุรกิจและท่องเที่ยวได้ด้วย
นอกจากนี้ จีนยังได้ยกเลิกมาตรการกักตัวและตรวจหาโรคโควิด-19 เมื่อเดินทางถึงจีน เช่นเดียวกับการฆ่าเชื้อเชิงป้องกันกับสินค้านำเข้าและการสุ่มตรวจอาหารในห่วงโซ่แบบควบคุมอุณหภูมิ
จีนจะไม่บังคับใช้มาตรการกักตัวหรือปูพรมตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกต่อไป ทั้งยังยกเลิกแนวปฏิบัติในการระบุผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือกำหนดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงและต่ำด้วย
เปลี่ยนนโยบาย
จีนได้ปรับลดระดับการจัดการโรคโควิด-19 จากระดับเอเป็นระดับบี และปลดโรคโควิด-19 ออกจากระบบจัดการโรคติดเชื้อที่กักกันได้ หลังจากที่ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับไวรัสดังกล่าวมาหลายต่อหลายครั้งในช่วงนี้ เมื่อจีนมีอัตราการฉีดวัคซีนเต็มจำนวนมากกว่า 90% ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ดูรุนแรงลดลง
ในช่วงที่เกิดโรคระบาด โควิด-19 ถูกจัดเป็นโรคติดเชื้อประเภทบี แต่ต้องใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อประเภทเอในประเทศจีน ซึ่งมาพร้อมกับนโยบายที่เข้มงวด เช่น การกักกันโรคและการหมั่นสำรวจทางระบาดวิทยา
จีนแบ่งประเภทโรคติดเชื้อรวม 40 ประเภทที่พบออกเป็น 3 กลุ่ม (กลุ่มเอ กลุ่มบี และกลุ่มซี) โดยกาฬโรคและอหิวาตกโรคจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อประเภทเอ โรคซาร์ส โรคเอดส์ และวัณโรคจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อประเภทบี ส่วนโรคติดเชื้อประเภทซี ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่และคางทูม
เหลียง ว่านเหนียน (Liang Wannian) หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญในการรับมือโรคโควิด-19 สังกัดคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) เปิดเผยว่า โรคติดเชื้อจัดประเภทจากการประเมินปัจจัยต่าง ๆ อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเชื้อโรค อาการ ความแพร่หลายและความเร็วในการแพร่ระบาด ความรุนแรงต่อสุขภาพ อิทธิพลทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนภูมิคุ้มกันหมู่และความสามารถของระบบสุขภาพ
คุณเหลียง กล่าวว่า “ในช่วงการระบาดใหญ่ เราประเมินให้โรคโควิด-19 เป็นโรคระดับบี แต่ใช้มาตรการจัดการระดับเอ เพราะโรคดังกล่าวแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว” และเสริมว่า ในเริ่มแรกนั้นทางการจีนไม่ได้มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับโรคดังกล่าว จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการคุมเข้มเช่นนี้เพื่อปกป้องประชาชน
คุณเหลียงอธิบายว่า ปัจจัยสำคัญบางอย่างได้เปลี่ยนไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ รวมถึงการกลายพันธุ์ของไวรัสที่อันตรายน้อยกว่า อัตราการฉีดวัคซีนสูง และการสนับสนุนการรับมือโรคระบาดที่เพิ่มขึ้นของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างรากฐานที่ดีในการปรับเปลี่ยนใหม่
คุณเหลียง กล่าวว่า “เราพร้อมลดระดับการจัดการลงเป็นระดับบี เพื่อให้สอดรับกับการแพร่ระบาดโดยมีวิทยาศาสตร์รองรับ”
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังเน้นย้ำว่า การผ่อนปรนมาตรการครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจีนไม่มีอำนาจควบคุม หรือเลิกใช้มาตรการป้องกันไวรัสดังกล่าวทั้งหมดแล้ว
คุณเหลียง กล่าวว่า “สิ่งนี้หมายความว่าเรากำลังยกระดับบริการสุขภาพและศักยภาพในการรับมือโรคระบาดของเรา”
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จีนได้เปลี่ยนชื่อไวรัสโควิด-19 ที่ใช้ในจีน จาก “โรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่” เป็น “การติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่” เพื่อให้ตรงกับโรคนี้มากขึ้น
ยกระดับมาตรการรับมือโควิด-19
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนได้เผยแพร่แนวปฏิบัติฉบับที่ 10 เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อโควิด-19 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำความสำคัญในการกระตุ้นการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ
แนวปฏิบัติดังกล่าวได้เน้นย้ำศักยภาพในการติดตามและแจ้งเตือนตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นประจำ โรคปอดบวมจากเชื้อไวรัสไม่ทราบชนิด น้ำเสียในเมือง โรงพยาบาล และมาตรการเพิ่มเติมในยามฉุกเฉิน เช่น การติดตามกลุ่มที่มีความสำคัญ
ชุมชนต่าง ๆ จะไม่ถูกปูพรมตรวจหาโรคโควิด-19 อีกต่อไป แต่จะยังมีให้สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องตรวจ
คุณเหลียง กล่าวว่า “ปัจจุบัน การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด” โดยการเพิ่มการฉีดวัคซีน ติดตามไวรัส และขีดความสามารถในการดูแลสุขภาพบริเวณชานเมือง ก็มีความสำคัญเช่นกัน
“โรคติดต่อเช่นนี้จะพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียวคงไม่พอ” คุณเหลียง กล่าว “สิ่งนี้อาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากรัฐบาล สังคม องค์กรทุกหนแห่ง และเราทุกคน”
https://news.cgtn.com/news/2023-01-08/China-downgrades-COVID-19-rules-as-nation-readies-for-normal-life-1gqlRta1jZS/index.html
รูปภาพ - https://mma.prnewswire.com/media/1979390/CGTN_Covid_Infographic.jpg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น