ป้องกันโรคของต่อมลูกหมาก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563

ป้องกันโรคของต่อมลูกหมาก

                              
    เรื่องของต่อมลูกหมากเป็นเรื่องของผู้ชายโดยเฉพาะ และส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ผู้ชายเกือบทุกคนจะมีปัญหาเกี่ยวกับต่อมลูกหมากทั้งสิ้น
     ตำแหน่งของต่อมลูกหมากอยู่ล้อมรอบฐานของกระเพาะปัสสาวะ  มีขนาดเท่ากับมะนาวลูกเล็ก ๆ  และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ 3 ประการคือ  ต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากโต และมะเร็งของต่อมลูกหมาก
     อาการที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมาก
     เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ลึก และมองไม่เห็น  เวลาต่อมลูกหมากมีปัญหาจึงสังเกตได้ยากกว่าปัญหาของอวัยวะอื่น  ผู้ชายทุกคนจึงควรรู้ไว้ก่อนว่าอาการที่จะเกิดขึ้นกับต่อมลูกหมากมีอะไรบ้าง  จะได้ไปตรวจหาสาเหตุของโรคเสียแต่เนิ่น ๆ
     อาการเจ็บหรือระคายเคืองบริเวณท้องน้อยส่วนล่างอาจจะเกิดจากต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากโตแล้วเกิดอักเสบ  แต่อาการอื่น ๆ ที่จะบ่งบอกว่าต่อมลูกหมากมีปัญหามีดังต่อไปนี้คือ
     ปัสสาวะมากโดยเฉพาะในเวลากลางคืน ปัสสาวะไม่เป็นสาย  ปัสสาวะไม่พุ่ง  ปัสสาวะบ่อย  รู้สึกว่ากระเพาะปัสสาวะเต็มอีกแล้วทั้ง ๆ ที่เพิ่งปัสสาวะ   ปัสสาวะสะดุด  เมื่อปัสสาวะสุดแล้วยังมีปัสสาวะหยดออกมาอีก  กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่  ปัสสาวะออกมามีเลือดปน  เมื่อหลั่งน้ำอสุจิแล้วรู้สึกเจ็บ  ปัสสาวะแสบหรือรู้สึกระคายเคือง  เจ็บบริเวณหัวเหน่า  ปวดหลังและบริเวณสะโพกเรื้อรัง  ปวดอัณฑะหรืออัณฑะบวม เป็นต้น
     อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกแทบจะไม่มีอาการแสดงอะไรเลย  หากมีอาการชัดเจนแล้ว เช่น เลือดออกเป็นต้น แปลว่าเป็นอาการระยะท้ายซึ่งจะรักษายาก  ดังนั้นผู้ชายวัย 45 ปีขึ้นไปควรตรวจเช็คต่อมลูกหมาก และตรวจเลือดหาค่าของ PSA เป็นประจำ
     ควรรู้ไว้ว่า ผู้ชายอายุ 60-70 ปี จำนวนครึ่งหนึ่งที่จะมีต่อมลูกหมากโต  และผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปจำนวน 70% ที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
     อะไรบ้างเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคของต่อมลูกหมาก
     กรรมพันธุ์   ใครก็ตามที่มีญาติสายตรงมีต่อมลูกหมากโต หรือเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โอกาสที่จะเป็นโรคดังกล่าวมีมากกว่า และมักจะเป็นโรคนี้เมื่ออายุยังน้อย
     อาหาร มีหลักฐานแน่นอนว่า หากกินอาหารไขมันสูงเกินไป  อาหารแคลอรี่สูงเกินไป  จะทำให้เพิ่มอัตราเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากเป็น 2 เท่าของคนที่กินไขมันน้อยกว่า หรือคนที่กินอาหารปริมาณน้อยกว่า  ดังนั้นอาหารไทยแท้ ๆ ประเภทแกงส้ม ต้มยำ น้ำพริก จะดีกว่าอาหารมัน ๆ แบบอาหารฝรั่งหรืออาหารจีน
     มีหลักฐานว่า ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เต้าหู้ น้ำเต้าหู้เป็นต้น ผักสดและผลไม้สด สามารถลดอัตราเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากลง
     กิจกรรมทางเพศ ใครก็ตามที่เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน จะมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณ 2 เท่า  มีกระทั่งรายงานในอเมริกาว่า หากมีคู่นอนหลายคนก็จะมีโอกาสป่วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่า
     บุหรี่  เป็นที่แน่นอนว่าคนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 3 เท่า
     ฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมน DHEA (dehydroepiandrosterone) ซึ่งนิยมใช้เพื่อชะลอความชรา ใช้เผาผลาญไขมัน เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และเพิ่มภูมิต้านทาน ใช้รักษาอัลไซม์เมอร์และพาร์กินสันในบางราย  ฮอร์โมนดังกล่าวจะทำให้ต่อมลูกหมากบวมและโตขึ้น และคาดว่าน่าจะเพิ่มอัตราเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก
     ดังนั้นหากไม่อยากเป็นโรคของต่อมลูกหมาก ควรเลี่ยงปัจจัยดังที่กล่าวมา

ค่าของ PSA

 PSA เป็นการตรวจเลือดหาค่าของ prostate specific antigen  ซึ่งหากมีค่าที่สูงกว่าปกติ คือประมาณ 4 ng/mL  ก็แสดงว่าก็น่าสงสัยว่าต่อมลูกหมากอาจจะผิดปกติ

 แต่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคของทางเดินปัสสาวะของเมโย คลินิก ยอมให้คนที่มีอายุมากขึ้นมีค่าปกติ ของ PSA ที่สูงขึ้น  ดังนี้ อายุ 60 PSA= 4   อายุ 65 PSA=4.5  อายุ 70 PSA= 5.3  อายุ 75 PSA=6.2  อายุ 80 หรือมากกว่า PSA=7.2 แสดงว่าเมื่ออายุมากขึ้นค่าของ PSA ที่ปกติก็สูงขึ้นตาม

 ยังมีการตรวจเลือดอีกแบบหนึ่งคือการหา % free PSA  ซึ่งถ้าค่าของ % free PSA ต่ำกว่า 20 แสดงว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก 20%   ค่า%free PSA ยิ่งต่ำ ยิ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งสูงขึ้น

 ถ้าไปตรวจเลือดมาแล้ว หากได้ผลการตรวจออกมาเป็นเช่นไร ลองพิจารณาตามตารางข้างใต้นี้เพื่อจะได้รู้ว่าคุณมีอัตราเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมากแค่ไหน

ค่า PSA และค่า % free PSA                                                                      
● ค่าPSA
ถ้าตรวจพบว่าค่า PSA ในเลือดเป็นเท่าไร พอจะบอกอัตราเสี่ยงของมะเร็งได้ดังนี้ (ค่ายิ่งมาก ยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งมาก)

0-2         อัตราเสี่ยงของมะเร็ง    1%
2-4                                              15%
4-10                                            25%

● ค่า % free PSA สามารถบอกอัตราเสี่ยงได้ดังนี้  (ค่ายิ่งมากยิ่งมีอัตราเสี่ยงน้อย)
                               
0-10   อัตราเสี่ยงของมะเร็ง    56%      
10-15                                      28%
15-20                                      20%
20-25                                      16%
มากกว่า 25                                  8%

วิธีป้องกันโรคของต่อมลูกหมาก

     การป้องกันโรคของต่อมลูกหมากมีความจำเป็นสำหรับผู้ชายที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคนี้ และยังจำเป็นสำหรับผู้ชายทุกคนที่อยู่ในวัยใกล้ 60 ปีหรือมากกว่า
     มาตรการป้องกันต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากไม่ได้แตกต่างไปจากการดูแลตัวเองด้วยธรรมชาติบำบัดอื่น ๆ แต่อย่างใด  นั่นคือหนีไม่พ้นต้องปรับอาหาร เปลี่ยนพฤติกรรม

1. อาหาร

    นอกจากเลี่ยงการกินที่ล้นเกิน และเลี่ยงอาหารไขมันสูง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นมวัว เนย และผลิตภัณฑ์จากนมวัวทุกชนิดซึ่งมีรายงานชัดเจนว่านมวัวเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก   นอกจากนี้ ครีมเทียม กะทิ ข้าวมันไก่ ขาหมู ฯลฯ ก็จำเป็นต้องเลี่ยงด้วย
     สำหรับเครื่องดื่มที่ต้องระวังคือ แอลกอฮอล เนื่องจากแอลกอฮอลทำให้ต่อมลูกหมากบวมเสมอ  ใครก็ตามที่มีต่อมลูกหมากโตแล้วจำเป็นต้องงดแอลกอฮอลอย่างเด็ดขาด  โดยทั่วไปแลอกออลกินได้ไม่มากนักหรอก อย่างไวน์ก็วันละเพียง 30-50 ซีซี  วิสกี้บรั่นดี 15 ซีซี ไลท์เบียร์ 1 กระป๋อง  เพียงปริมาณนี้เท่านั้นจึงจะไม่กระเทือนต่อต่อมลูกหมาก
     อาหารในชีวิตประจำวันควรเป็นข้าวกล้องทุกมื้อ ผักสดและผลไม้สดปริมาณมากพอ  ได้แก่ ผักสด 2 จานเล็ก ผลไม้สดขนาดเท่ากับแอบเปิล 2 ลูก และน้ำผลไม้คั้นสด ๆ 200 ซีซี

     อาหารที่แนะนำ เนื่องจากพบว่ามีสารอาหารบางตัวที่สามารถต้านมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ได้แก่
●มะเขือเทศ  เนื่องจากมะเขือเทศและผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศทุกชนิดมี ไลโคปีน ซึ่งเป็นสีแดงในมะเขือเทศ มีบทบาทเป็นสารต้านอนุมูลอิสระฤทธิ์แรง ป้องกันกระบวนการเสื่อมของเซลล์ต่อมลูกหมากได้ดี  มีรายงานว่าไลโคปีนสามารถป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้  ดูเหมือนว่ามะเขือเทศสุกเช่น น้ำมะเขือเทศ ซุปมะเขือเทศ จะดีกว่ามะเขือเทศสด เนื่องจากการทำให้สุก ทำให้ไลโคปีนถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ดีกว่า
     นอกจากนี้ไลโคปีนในมะเขือเทศยังสามารถลดอัตราเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ เต้านม ปอด และมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย
     เรายังสามารถหาไลโคปีนได้จากผลไม้อื่น ๆ ได้แก่ แตงโม ฝรั่ง และสับปะรด
● ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง
     ในถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวนซึ่งสามารถปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศในร่างกายสู่สมดุล เนื่องจากเรารู้ว่าฮอร์โมนเพศเทสโตสเตอโรนกระตุ้นให้เกิดต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก  ไอโซฟลาโวนทำให้การกระตุ้นของเทสโตสเตอโรนน้อยลงจึงสามารถลดอัตราเสี่ยงของโรคต่อมลูกหมาก
     ในเอเซีย ประเทศที่กินถั่วเหลืองเป็นประจำเช่นจีนกับญี่ปุ่น พบว่าสถิติการป่วยด้วยโรคของต่อมลูกหมากน้อยกว่าประเทศในแถบอื่นมาก
● ชาเขียว
     ชาเขียวมี EGCG ( epigallocatechingallate) ซึ่งต้านการเติบโตของเซลล์มะเร็ง  มีรายงานว่าสารสะกัดจากชาเขียวเข้มข้นสามารถกระทั่งฆ่าเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมากได้ หมายความว่าจะต้องกินสารสะกัด EGCG เป็นเม็ด ไม่ใช้แค่ดื่มชาเขียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในรายที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะท้ายที่ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนแล้ว จะใช้ EGCG ไม่ได้ผล
● กระหล่ำและพืชตระกูลกระหล่ำ
     ได้แก่ กระหล่ำดอก กระหล่ำปลี กระหล่ำปลีสีม่วง กระหล่ำดาว บร็อคโคลี่ ผักกาดฮ่องเต้ รวมไปถึงหัวผักกาดด้วย  เหล่านี้มีสารตั้งต้นของกลูตาไทโอน สามารถกระตุ้นการขับสารพิษของตับ และต้านมะเร็งได้หลายตัวรวมทั้งมะเร็งต่อมลูกหมาก
● กระเทียม
     เนื่องจากมีรายงานว่าในท้องที่ซึ่งกินกระเทียมกันมากมีสถิติการป่วยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่า  ว่ากันว่ากระเทียมมีกำมะถันสูง และนี่เองที่สามารถทำให้กระเทียมป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้
● เมล็ดฟักทอง
      มีสังกะสีสูง  สังกะสีที่มากพอจะช่วยป้องกันโรคของต่อมลูกหมากได้ดี รวมทั้งป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย  สมัยโบราณ หมอยาไทยแนะนำให้คนที่ปัสสาวะลำบากจากต่อมลูกหมากโต กินเมล็ดฟักทอง วันละ 60 เมล็ดเพื่อแก้อาการนี้

2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

     การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย  ทำให้ภูมิต้านทานโดยรวมดีขึ้น รวมทั้งช่วยคลายเครียด  การออกกำลังกายที่ถูกต้องจะช่วยทำให้สารเอนดอร์ฟินส์หลั่ง ทำให้เกิดอาการปิติ สบายเนื้อตัว และช่วยป้องกันมะเร็งโดยทั่วไป รวมทั้งมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย
     การออกกำลังกายที่ดีจะต้องออกแรงมากพอ คือใช้ความสามารถทั้งหมด 60%  ออกกำลังกายครั้งละนานกว่า 30 นาทีขึ้นไป  และที่สำคัญกว่าคือต้องสม่ำเสมอ เช่นสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย
     วิธีการออกกำลังกายนั้นแล้วแต่ถนัดได้แก่ เดิน เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เดินในน้ำ  เต้นแอโรบิก แอโรบิกในน้ำ  เต้นรำ  เล่นเทนนิส เดินป่า ตีกอล์ฟ เป็นต้น
     นอกจากนี้การออกกำลังกายแบบตะวันออกจะช่วยได้มาก เช่นไท้เก็ก ชี่กง โยคะ  ซึ่งหากทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายโดยทั่วไปจะช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แข็งแกร่งขึ้น

      3.คลายเครียดและสมาธิ

    เนื่องจากโรคของต่อมลูกหมากเกิดกับผู้ชายวัยเกษียณเสียเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งมักจะเป็นวัยเปลี่ยนของผู้ชาย  จนกระทั่งกล่าวกันว่าเป็น “วัยทอง” ของเพศชาย
     การปรับตัวในวัยนี้มีความจำเป็น วิธีคลายเครียดยิ่งมีความจำเป็นเพื่อสุขภาพโดยรวมและสุขภาพต่อมลูกหมาก  การหางานอดิเรกที่ไม่เครียดทำ  ใช้เสียงเพลง  การฝึกสมาธิ การสวดมนตร์ ล้วนมีผลต่อจิตสงบทั้งสิ้น

 4. วิตามินและอาหารเสริม

● สังกะสี วันละ 50-100 มก.
● เซเลเนียม วันละ 200 ไมโครกรัม
● เบต้าแคโรทีน  วันละ 18-36 มก.
● วิตามินซีชีวภาพ วันละ 4000 มก.
● วิตามินอี วันละ 800 หน่วยสากล
    ซึ่งทั้งหมดนี้หาได้จากอาหารที่แนะนำเอาไว้แล้วข้างต้น  หากกินอาหารให้ครบส่วนแล้วก็อาจจะไม่จำเป็นต้องกินวิตามินและอาหารเสริมแต่อย่างใด

ที่มา:   พญ.ลลิตา  ธีระสิริ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad