อ่างใหม่ไม่ช่วยแล้ง ชี้ทางออกปัญหาน้ำ EEC ต้องรีไซเคิลน้ำ – ปรับปรุงประสิทธิภาพชลประทาน - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อ่างใหม่ไม่ช่วยแล้ง ชี้ทางออกปัญหาน้ำ EEC ต้องรีไซเคิลน้ำ – ปรับปรุงประสิทธิภาพชลประทาน

นักวิชาการเสนอ ปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก ต้องแก้ด้วยการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนบริหารจัดการต้นทุนทรัพยากรน้ำที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมเตือนว่า แนวทางแก้ปัญหาน้ำของภาครัฐโดยการเร่งเดินหน้าสร้างโครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ช่วยเติมทรัพยากรน้ำ แถมซ้ำเติมปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่
ภายหลัง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยข้อสั่งการของ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ได้มอบหมายให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดแผนงานก่อสร้าง 17 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำที่จะยิ่งเพิ่มขึ้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
อ่างเก็บน้ำประแสร จ.ระยอง หนึ่งในอ่างเก็บน้ำสำคัญในพื้นที่ EEC / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าวยอมรับว่า เขตพัฒนาพิเศษ EEC ในพื้นที่ จ.ระยอง จ.ชลบุรี และจ.ฉะเชิงเทรา กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนักจริง เนื่องจากความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในโครงการ EEC อย่างไรก็ตาม เขาชี้ว่า แนวทางการแก้ปัญหาของฝั่งภาครัฐที่เน้นสร้างอ่างเก็บน้ำ และโครงการผันน้ำข้ามลุ่ม เป็นการแก้ปัญหาแบบหวังน้ำบ่อหน้า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ซ้ำยังเป็นการสร้างความขัดแย้งจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมในเขต EEC และพื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดข้างเคียง
“จากสภาพฝนฟ้าอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น จากผลกระทบสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกที่เคยเป็นพื้นที่ฝนตกชุก ประสบสภาวะฝนแล้งยาวนานขึ้น โดยในช่วงปีที่ผ่านมา ฤดูฝนในภาคตะวันออกหดสั้นลงจาก 8 เดือน เหลือเพียง 4 เดือน จนทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง” ดร.สมนึก อธิบาย
“ยิ่งไปกว่านั้น แม้บางพื้นที่ของภาคตะวันออกยังมีฝนตกอยู่บ้าง แต่พื้นที่ฝนตกชุกก็เปลี่ยนแปลงไป กลับไปตกในพื้นที่ใต้อ่างเก็บน้ำมากขึ้น ทำให้แม้ว่ามีฝนตกก็ไม่มีน้ำเติมลงในอ่างเก็บน้ำ ดังนั้นจึงไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำใหม่ทั้งหลายที่เลือกพื้นที่ก่อสร้างโดยอ้างอิงชุดข้อมูลจากสถิติเก่า จะสามารถช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในระบบชลประทานได้อย่างที่คาดหวัง”
ดังนั้น เขาจึงเสนอว่าการแก้ปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่ EEC ต้องเริ่มจากการสร้างระบบให้เกิดการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้น้ำสามารถใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ส่งเสริมนโยบาย 3R (Reduce, Reuse, Recycle) โดยนำน้ำเสียจากทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และชุมชน กลับมาบำบัดเพื่อนำมาใช้ซ้ำอีกครั้ง เป็นการลดปริมาณการใช้น้ำโดยรวม และแก้ปัญหามลพิษน้ำเสีย
“ในขณะที่ กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำและระบบชลประทานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ให้สามารถกระจายน้ำไปยังพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานได้อย่างทั่วถึง และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ระบบชลประทานในหลายท้องที่ยังคงไม่ครอบคลุมพื้นที่เกษตร ทำให้เกษตรกรจำนวนมากยังไม่ทันได้ใช้น้ำ แต่น้ำในอ่างเก็บน้ำกลับต้องผันไปให้ภาคอุตสาหกรรมใน EEC แล้ว อีกทั้งระบบชลประทานที่มีอยู่ยังมีข้อบกพร่องมาก ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำจากการระเหยกว่า 25%” เขากล่าว
ดร.สมนึก ยังแนะอีกว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ EEC และภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน รัฐบาลควรคำนึงถึงอีกหลัก 3R ในการบริหารจัดการน้ำได้แก่
  • Rethink: ภาครัฐต้องเลิกยึดติดกับกรอบความคิดเดิม และแสวงหาแนวทางใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างพอเพียงและทั่วถึง
  • Redesign: ภาครัฐควรเปิดให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบระบบระเบียบร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถใช้น้ำอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • Regulation: ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎระเบียบร่วมกันในการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า การส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด มีการบำบัดน้ำนำมาใช้ซ้ำอย่างจริงจังตามแนวทาง 3R เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่ EEC ได้ดีที่สุด เพราะหลายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของภาครัฐ เช่น โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ หรือโครงการผันน้ำข้ามลุ่ม ต่างพบปัญหาต่างๆ มากมายในการดำเนินการ ทำให้โครงการเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำได้ไม่มาก หรือโครงการสร้างโรงกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเล ก็มีต้นทุนสูงมาก จนอาจไม่คุ้มค่า
“ภาครัฐควรออกมาตรการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการทำระบบ 3R เพื่อรีไซเคิลน้ำเสียนำกลับไปใช้ใหม่อีกครั้ง เช่น ลงทุนปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลางให้สามารถใช้งานได้จริง หรือออกมาตรการจูงใจภาคเอกชนด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้ผู้ประกอบการใน EEC วางระบบรีไซเคิลน้ำนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะช่วยลดความต้องการน้ำลงได้” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว

เธอยังเสนอแนะว่า จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐในการดำเนินโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่และการผันน้ำข้ามลุ่ม กรมชลประทาน และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องทำหน้าที่ร่วมกับคนกลางเช่น นักวิชาการ ในการให้ข้อมูลกับชาวบ้าน และจัดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างจริงใจ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันระหว่างภาครัฐและชุมชนในพื้นที่ ลดปัญหาความขัดแย้งจากการแก่งแย่งน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม
อนึ่ง สทนช. รายงานว่า ภายการประชุม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ ครั้งที่2/2563 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งผลักดันโครงการตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC โดยให้เร่งรัดโครงการสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อน 17 โครงการ ใน 7 กลุ่มโครงการ ได้แก่
  1. โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ซึ่งรับผิดชอบโดย สทนช. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)
  2. โครงการพัฒนากลุ่มบ่อน้ำบาดาลสำหรับอุตสาหกรรม โดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
  3. กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำบางปะกง 2 โครงการ โดยกรมชลประทาน ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำหนองกระทิง และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา
  4. กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ 2 โครงการ โดยกรมชลประทาน ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ และโครงการเครือข่ายน้ำอ่างเก็บน้ำคลองโพล้-ประแสร์ จ.ระยอง
  5. กลุ่มโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของแหล่งน้ำเดิม 4 โครงการ ของกรมชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำเดิมในเขตพื้นที่ EEC
  6. กลุ่มโครงการอ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา 2 โครงการ โดยกรมชลประทาน ได้แก่ โครงการอุโมงค์ส่งน้ำอ่างเก็บน้ำพระสะทึง-คลองสียัด และโครงการระบบสูบกลับอ่างเก็บน้ำคลองสียัด
  7. กลุ่มโครงการเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง และปรับปรุงขยายเขตการประปาส่วนภูมิภาค จ.ชลบุรี 5 โครงการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad