‘น้องยะห์’ บุกกรมโยธาฯ ยื่นหนังสือ ดักคอก่อนผังเมืองจะนะกลายเป็นสีม่วง - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

‘น้องยะห์’ บุกกรมโยธาฯ ยื่นหนังสือ ดักคอก่อนผังเมืองจะนะกลายเป็นสีม่วง

เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นบุกกรมโยธาธิการและผังเมือง ทวงถามความชอบธรรมการเปลี่ยนสีผังเมืองจะนะ จากสีเขียวเป็นสีม่วง รับการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ย้ำหากผังเมืองเปลี่ยน วิถีประมงเกษตรยั่งยืนของชาวบ้านจะถึงกาลสูญสิ้น 
เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ หรือ “น้องยะห์” ไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนชาวบ้านจาก อ.จะนะ จ.สงขลา เดินทางเข้ายื่นหนังสือแก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ในกรณีการวางแผนเปลี่ยนผังเมืองพื้นที่ 3 ตำบล ให้เป็น “พื้นที่สีม่วง” ซึ่งเป็นพื้นที่ สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ที่จัดทำโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมซึ่งกินพื้นที่กว่า 16,753 ไร่ อันอยู่ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต 
จะนะ
เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยื่นหนังสือถึง อนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ชลธิชา ทักษิณาเวศน์
นอกจากนี้น้องยะห์ มีความประสงค์จะสอบถาม กรมโยธาธิการและผังเมือง เพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนผังเมืองนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของใคร และอยู่ในขอบเขตของ ศอ.บต. หรือไม่ โดยเธอตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมเป็นโครงการของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่ง ศอ.บต. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการขับเคลื่อนในเรื่องของเศรษฐกิจ แต่ควรที่จะไปทำหน้าที่เรื่องการรักษาความสงบในชายแดนภาคใต้มากกว่า
น้องยะห์ ชี้ว่า พื้นที่ที่ผังเมืองจะถูกเปลี่ยนเป็นสีม่วงตั้งอยู่ริมอ่าวไทยในพื้นที่ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนที่ประกอบอาชีพประมงกันเป็นส่วนใหญ่ สร้างรายได้กว่า 10,000 – 40,000 บาท การเข้ามาของนิคมอุสาหกรรมจึงอาจกระทบกับการทำมาหากิน อาจทำลายสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ
“ผังเมืองสีเขียวนั้นมีความหมายกับชาวบ้านมาก เพราะว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2563 นั้นจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็น ในการเปลี่ยนผังเมืองสีเขียว ทั้งหมด 16753 ไร่ ให้เป็นสีม่วง เพื่อที่จะมารองรับนิคมอุตสาหกรรม” เธอกล่าว
“ในทางกฎหมายแล้วพื้นที่สีเขียวตรงนี้ไม่สามารถทำอุตสาหกรรมได้ ตอนนี้ชาวบ้านทั้งหมดได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแล้วว่าจะร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่าจะไม่ให้เกิดผังเมืองสีม่วงขึ้น” 
อย่างไรก็ดี เธอชี้ว่า ถ้าผังเมืองตรงนี้เปลี่ยนเป็นสีม่วง ชาวบ้านก็จะได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม เช่น การปล่อยน้ำเสียลงทะเลที่ทำให้ระบบนิเวศพัง และชาวบ้านจะประกอบอาชีพประมงไม่ได้เนื่องจากไม่มีปลา และจะมีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เข้ามา ทำให้เรือลำเล็กของชาวประมงออกไปหาปลาไม่ได้ ส่วนบนฝั่งก็จะได้รับผลกระทบจากมลพิษในดินและอากาศส่งผลให้ทำเกษตรกรรมไม่ได้เพราะมลพิษเยอะเกินไป
เช่นเดียวกับ สมบูรณ์ คำแหง แกนนำนักปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จังหวัดสตูล ได้ตั้งข้อสงสัยต่ออำนาจการทำงานของ ศอ.บต.  และเล่าว่าองค์กรดังกล่าวเคยอ้างว่า พระราชบัญญัติ การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2553 ให้อำนาจในการประกาศเขตพัฒนาพิเศษได้ เพื่อที่จะดำเนินการตั้งนิคมอุตสาหกรรม 
ด้าน อนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้อธิบายกรณีการเปลี่ยนผังเมืองว่า ในพระราชบัญญัติการผังเมือง ปี 2562 ระบุว่าผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำผังเมืองนั้นมี 2 กลุ่ม กล่าวคือ กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเทศบาล เป็นต้น 
“จนกระทั่งได้ข่าวว่ามีผังใหม่ออกมา คำถามผม ก็คือคำถามเดียวกับพี่ว่า ผังนี้มันมาได้อย่างไร ซึ่งผู้ที่จะปรับผังนั้น ก็คืออบจ.” อนวัช กล่าว
จะนะ
ผังเมืองจะนะที่กำลังมีแผนเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีม่วงเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ชลธิชา ทักษิณาเวศน์
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า “คำถามที่ถามว่า ศอ.บต. ทำได้ไหม ถ้าผมตอบตาม พรบ. การผังเมือง 2562 ก็ยืนยันตามนี้ว่าทำได้สองคนเท่านั้น ก็คือถ้าผม (กรมโยธาฯ) ทำ ก็จะออกมาเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยที่ผ่านคณะกรรมการผังเมืองกลาง แต่ถ้ากรณีท้องถิ่นดำเนินการ ก็จะเข้ากรรมาธิการผังเมืองจังหวัด” 
เขาชี้ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจในการปรับผังได้ก็ต่อเมื่อผ่านการวิเคราะห์ รับฟังความคิดเห็น และได้ข้อยุติจากภาคประชาชนแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของกรรมาธิการผังเมืองของจังหวัดได้
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นได้ได้ยื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. ที่หน้าทำเนียบ ขอให้ยกเลิก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และ มติ ครม. ของวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2563 ที่จะผลักดันให้เมืองจะนะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad