สินค้าจ่อขึ้นราคา งานหินรับปีเสือ (ดุ) - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565

สินค้าจ่อขึ้นราคา งานหินรับปีเสือ (ดุ)

img

ก่อนอื่น ต้องขอสวัสดีปีใหม่ 2565
         
ขอให้แฟน ๆ สำนักข่าว CNA ที่ติดตามกันทุกช่องทาง มีความสุข ความเจริญ ประสบความสำเร็จในหน้าที่ การงาน การทำธุรกิจ การใช้ชีวิต เฮง ๆ รวย ๆ ตลอดปีด้วยเถิด สาธุ
         
กลับมาที่ “กระทรวงพาณิชย์” ในปี 2565 นี้ น่าจะเป็นปีที่ “ไม่หมู
         
เพราะเริ่มต้นปี หลายปัญหาประเด ประดัง เข้ามา “ต้อนรับ” แบบไม่ให้ทันตั้งตัว
         
เริ่มต้นด้วย “หมูแพง” ส่งท้ายปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 และยังไม่รู้ว่าจะ “สิ้นสุด” ตรงไหน
         
ปัจจุบัน ราคาหมูเนื้อแดง หลายพื้นที่ขยับขึ้นไปถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 200 บาท บางพื้นที่ทะลุ 200 บาทไปแล้ว
         
เดือนร้อนไปถึงอาหารตามสั่ง อาหารปรุงสำเร็จ ที่เรียงคิว “ขยับขึ้นราคา” กันต่อเนื่อง
         
ก็ได้แต่หวังว่า ถ้าจำเป็นต้องขึ้น “ไม่ใช่ขึ้นแล้วขึ้นเลย” พอหมูเลิกแพง กลับไม่ยอมลง ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ ต้องติดตามใกล้ชิด “อย่าปล่อยให้ใครเอาเปรียบผู้บริโภค” ได้
         
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีสินค้า “จ่อคิวปรับขึ้นราคา” หลังจากที่อั้นราคากันมาตั้งแต่ปี 2564
         
ที่ประกาศชัดเจนกันไปแล้ว และเห็นผ่าน ๆ ตามาบ้าง ก็ “น้ำอัดลม” ที่แจ้งปรับราคาตั้งแต่ 1 ม.ค.2565
         
ยังมี “สินค้าอุปโภคบริโภค” อีกหลายรายการ ที่ทำเรื่องขอปรับราคาเข้ามายัง “กรมการค้าภายใน” กันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
         
ก็ไม่รู้ว่า จะ “ยื้อยุด ฉุดกระชาก ลากถู” กันไปได้อีกนานแค่ไหน
         
ที่สำคัญ ภาคเอกชนที่เป็นภาคการผลิต ก็ย้ำกันชัดเจน “ปีนี้ จะเป็นปีแห่งการปรับขึ้นราคาสินค้า” ขอให้ผู้บริโภค “ทำใจ” กันไว้แต่เนิ่น ๆ
         
นอกจากนี้ ต้นทุนสินค้ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ ที่หลายรายการเป็นต้นทุนของสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาขยับเพิ่มขึ้น ทั้งปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ข้าวสาลี ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงวัตถุดิบอาหารสัตว์ เนื้อสัตว์ และสินค้าอาหารอีกหลายชนิด  
        
ถ้าไม่ดูแลให้ดี มีหวังราคาขึ้นกันยาว ๆ
         
หรือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทั้งกลุ่มปิโตรเคมี ปุ๋ยเคมี พลาสติก ที่เป็นต้นทุนของสินค้าหลายชนิด ราคาก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง  
         
ทำให้หลายสินค้า ราคาแพงให้เห็นแล้ว อย่าง “ปุ๋ยเคมี” และ “เคมีภัณฑ์เกษตร” นี่ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ปีนี้ ราคาน่าจะทรงตัวสูงตามราคาน้ำมันอีก
         
ส่วนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่น่า “กังวล” มากที่สุด เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
         
ทั้งต้นทุน “น้ำมัน” ต้นทุน “ค่าไฟฟ้า” ต้นทุน “วัตถุดิบ” และต้นทุนแฝงอื่น ๆ ที่ทยอยเข้ามาทับถม จนถึงขั้นทำให้ผู้ผลิต “อยู่ไม่ได้” ถ้าไม่ปรับราคา
         
ปัจจุบัน เริ่มมีเสียงบ่นดัง ๆ จากผู้ผลิตอาหารกระป๋องว่า ต้นทุนทำกระป๋องเพิ่มขึ้นมาก แม้กระทรวงพาณิชย์จะช่วยชะลอการเก็บ “อากรเอดี” ทินฟรี ทินเพลตออกไป 6 เดือน แต่ราคาก็ยังสูงอยู่
         
ยืนยันกันชัด ๆ คงหลีกเลี่ยงการปรับราคา ไม่ได้
         
หรือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ต้องใช้ “บรรจุภัณฑ์” มาห่อหรือใส่สินค้า กำลังจะได้รับผลกระทบจากมาตรการ “เอดี” เช่นเดียวกัน
         
เพราะช่วงต้นปีนี้ มีแนวโน้มว่า “คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.)” จะมีการตัดสินชี้ขาดว่าจะ “เก็บ” หรือ “ไม่เก็บ” อากรเอดีกับ “สินค้าฟิล์มบีโอพีพี” ซึ่งเป็น “วัตถุดิบสำคัญ” ในการผลิตบรรจุภัณฑ์
         
ถ้าผลออกมาให้เก็บ ต้นทุนสินค้าอีกเป็นจำนวนมาก ก็จะ “พุ่งขึ้น” ทันที
         
หากจะให้ยกตัวอย่าง อ่านแล้วคง “ตกใจ” ว่าทำไมถึงกระทบมากมายขนาดนี้
         
ชัด ๆ เลย เริ่มจาก “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ผู้ผลิตเคยบอกว่า ถ้าขึ้นเอดี ต้นทุนพุ่งทันทีซองละ 50 สตางค์ จะห้ามไม่ให้ขึ้นราคา “คงไม่ได้

แล้วบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยังเจอต้นทุนขึ้นจาก “น้ำมันปาล์ม” และ “ข้าวสาลี” อีก ตอนนี้ ก็บริหารจัดการ “ต้นทุน” กันมือระวิง ไม่อยากที่จะ “ขึ้นราคา” จนผู้บริโภคกระทบ ก็พยายามตรึง ๆ กันอยู่
           



ส่วนสินค้าตัวอื่น ๆ ก็เช่น ซองขนมปัง ซองขนมขบเคี้ยว ซองลูกอม ซองใส่หน้ากากอนามัย ซองใส่ถุงมือ ซองใส่เสื้อผ้า ซองใส่ถุงยางอนามัย ซองใส่ผงเกลือแร่ ซองใส่เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ฉลากน้ำดื่ม และฉลากน้ำมันพืช เป็นต้น
         
เห็นหรือไม่ว่า กระทบมากแค่ไหน

ทว่าเรื่องนี้ “ยังไม่เกิดขึ้น” เพราะยังอยู่ในกระบวนการ แต่ยังไงเสีย ก็ต้องเกิดขึ้น

ขึ้นอยู่กับว่า จะ “ออกหัวหรือออกก้อย” จะ “เก็บหรือไม่เก็บ

ตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง มีทั้ง “คนได้” มีทั้ง “คนเสีย

แต่ถ้าคนได้ เป็นอุตสาหกรรมในประเทศ ที่มีอยู่เพียงแค่รายเดียว แล้วทุกวันนี้ ก็ไม่ได้รับผลกระทบอะไร แถมยอดขายยังพุ่งเอา ๆ

ส่วนคนเสีย ที่มีอุตสาหกรรมทั้งทางตรง ที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่ซื้อบรรจุภัณฑ์ไปใช้ ที่มีเป็น 100 เป็น 1,000 ราย จะได้รับผลกระทบ

ก็คงต้อง “ชั่งน้ำหนัก” ให้ดี เพราะไม่ใช่ช่วยแค่รายเดียว แต่อุตสาหกรรมอีกเป็นจำนวนมากกระทบ แล้วยังไม่จบแค่นี้ เมื่ออุตสาหกรรมกระทบ ก็ต้องผลัก “ภาระ” ให้ผู้บริโภค

ตรงนี้แหละ “กระทบ” ของจริง

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความ “เชื่อมั่น” และ “มั่นใจ” ในตัว “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ว่าจะสามารถบริหารจัดการได้

เพราะปี 2564 ที่ผ่านมา ได้ทำ “ผลงาน” ในการดูแล “ค่าครองชีพ” ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้ว ว่า “เอาอยู่

หวังว่า ปี 2565 จะยังคงเอาอยู่ต่อไป  

โดยการเอาอยู่ ต้องบาลานซ์ทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งผู้ผลิต ที่จะต้องอยู่รอด อะไรจำเป็นต้องขึ้น หนีไม่ได้ เลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องยอมให้ขึ้น ส่วนฝั่งผู้บริโภค อะไรที่ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ผลิตได้ ก็ต้องลด ต้องช่วย ก่อนที่จะบานปลาย 

ก็อย่างที่รู้ ปีนี้ “ปีเสือ” แล้ว “เสือดันดุ” ตั้งแต่ต้นปีเสียด้วย
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad