สถานการณ์ส่งออก ธ.ค. 61 - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2562

สถานการณ์ส่งออก ธ.ค. 61

สถานการณ์ส่งออก ธ.ค. 61

สรท. หวังมาตรการเชิงรุก ผลักดันส่งออกปี 2562 เติบโต 5%
        นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ณ ห้องประชุม 1 สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ชั้น 32 อาคารลุมพินีทาวเวอร์ เมื่อวันอังคารที่ 8 มกราคม 2561 ระบุ ภาพรวมการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่า 21,237 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -0.95% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 688,192 ล้านบาท หดตัว -2.4% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีมูลค่า 22,415 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 735,898 ล้านบาท ขยายตัว 13.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนพฤศจิกายน 2561 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 1,178 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 47,706 ล้านบาท ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.- พ.ย. ปี2561 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 232,725 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 7.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 7,447,769 ล้านบาท ขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 231,344 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 14.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 7,504,905 ล้านบาท ขยายตัว 8.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ช่วงเดือนม.ค.-พ.ย. 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และขาดดุล 57,137 ล้านบาท
ทั้งนี้ การส่งออก กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ -8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ทูน่ากระป๋อง และ ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ยังคงมีการเติบโตในตลาด แต่ยางพารามีการหดตัวทั้งทางด้านราคาและปริมาณอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ -0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน, ทองคำ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าที่มีการหดตัวได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุกปกรณ์และส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
การส่งออกของไทยรายตลาดในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 การส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัว 5.3% โดยตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า 11.9% ญี่ปุ่นขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 4.3% แต่มูลค่าการส่งออกไปสหภาพยุโรปยังคงหดตัวต่อเนื่อง -2.0% ส่วนการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัว -1.7% โดยเฉพาะการส่งออกอาเซียน 5 ประเทศ นอกจากนี้กลุ่มประเทศที่ตลาดส่งออกหดตัว อาทิ เอเชียใต้ -4.3% ฮ่องกง -7.6% เกาหลีใต้ -11.1% และ ไต้หวัน -1.8% ตามลำดับ
สรท. คาดการณ์การส่งออกปี 61 โต 7% และคาดการณ์ปี 62 โต 5% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (± 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยมีปัจจัยบวกสำคัญ คือ โอกาสของไทยในการเป็นประธาน ASEAN ทำให้ไทยสามารถสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเป็นอัตลักษณ์ Uniqueness ให้กับสินค้าไทยรวมมถึงการผลักดันประเด็นทางด้านการเพิ่มความสะดวกทางการค้า และการลดการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีทั้ง NTB และ NTM อย่างไรก็ตามความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญประกอบด้วย 1) สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและความเชื่อมั่นต่อการลงทุน ซึ่งต้องติดตามการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค.62  ขณะที่จีนประกาศนโยบายเริ่มลดภาษีสินค้านำเข้า-ส่งออกกว่า 700 รายการ ในวันที่ 1 ม.ค. 62 เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการนำเข้าสินค้าอื่นทดแทนสินค้าที่ต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ และเป็นการอัดฉีดสภาพคล่องครั้งใหญ่ ซึ่งสินค้าไทยอาจถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีน 2) ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหภาพยุโรป เนื่องจากปี 2562 ความตกลง EU-Vietnam FTA จะเริ่มมีผลบังคับใช้ และสินค้าที่เวียดนามส่งออกนั้นเป็นสินค้ากลุ่มเดียวกับไทยในตลาดสหภาพยุโรป 3) เหตุจลาจลในกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลให้นักลงทุนไทยมองเห็นความเสี่ยง และความไม่แน่นอนในการตัดสินใจเข้าไปเปิดตลาดส่งออกใหม่ 4) ความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการความเสี่ยง และต้นทุนการบริหารจัดการของภาคเอกชน 5) การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก 1.5% เป็น 1.75% ส่งผลต่อการแข็งค่าของค่าเงินบาท และกระทบต่อผู้ประกอบการส่งออก และ 6) กฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศ เป็นการภาระต้นทุนและเป็นการกีดกันผู้ประกอบการส่งออกทางอ้อม เช่น การเปลี่ยนกระบวนการตรวจสอบในสินค้าเกษตร
ข้อเสนอแนะที่สำคัญของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 1) ภาครัฐควรใช้รูปแบบของการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยการทำกิจกรรม Trade Mission เพิ่มมากขึ้น โดยจัดกิจกรรมแยกตามกลุ่มสินค้า และแยกตามกลุ่มประเทศเป้าหมาย เพื่อเป็นการขยายฐานตลาดรวมถึงเป็นการสำรวจกลุ่มตลาดใหม่ ในปี 2562 ยกตัวอย่างเช่น ตลาดแอฟริกา – สินค้าที่มีศักยภาพและมีความต้องจากในตลาดแอฟริการสูง คือ สินค้ากลุ่มอาหาร ผู้ประกอบการในกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าไปเจาะตลาดสินค้าอาหารได้ ตลาดตะวันออกกลาง - ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต (UAE) และ ซาอุดิอาระเบีย (Saudi Arabia) ภาครัฐควรให้เร่งรัดความสัมพันธ์เริ่มจากการฑูตเชิงพาณิชย์ทั้งในเชิงการส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ผักผลไม้ ตลาดจีน– การเข้าไปเจาะตลาดประเทศจีนควรให้ความสำคัญในระดับมณฑลทั้ง 31 มณฑลมากขึ้น เนื่องจากแต่ละมณฑลมีลักษณะและโอกาสทางการค้าที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะสินค้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของไทย เช่น กวางตุ้ง เซียงไฮ้ หรือมณฑลที่มีระดับความเติบโตทางเศรษฐกิจดีแล้วจึงขยายต่อไปยังมณฑลขนาดกลางและเล็ก ตามลำดับ ตลาดลาตินอเมริกา - กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ของไทยเป็นที่ต้องการในตลาดกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาจากปริมาณการส่งออกไปกลุ่มดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ภาครัฐควรส่งเสริมสินค้าอาหารไทยเพิ่มมากขึ้น ตลาดอาเซียน/CLMV – ภาครัฐควรจัดสรรให้งบประมาณกับการจัดงานแสดงสินค้าระดับชาติในลักษณะเดียวกับ THAIFEX / AUNGA ในกลุ่มประเทศศักยภาพ และเน้นยุทธศาสตร์ CLMV is our home market เพื่อผลักดันให้สินค้าไทยวางจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้านเสมือนวางขายในประเทศไทย
2) ภาครัฐควรเร่งการแก้ไขและลดอุปสรรคการค้าระหว่างประเทศ ทั้งที่เป็นอุปสรรคภายในประเทศให้มีความสอดคล้องกับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ให้มากขึ้น เช่น NSW และอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในรูปแบบ NTB และ NTM เช่น การใช้มาตรการตรวจสอบสินค้าที่ใช้ระยะเวลานานและเป็นการเพิ่มต้นทุนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอินเดียและประเทศจีน ต้องอาศัยการนำเข้าไม้ยางพาราจากประเทศไทยเพื่อการผลิตเฟอนิเจอร์ หากแต่สินค้าไม้ของไทยยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลอย่าง FSC (Forest Stewardship Council/Forest Standard Certification) ซึ่งเป็นข้อกำหนดเรื่องของการตัดไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือป่าสงวนทำให้ประเทศที่นำเข้าสินค้าจากไทยไม่สามารถนำไม้ไปแปรรูปต่อได้ และส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณการส่งออกไม้ของไทยลดลงในตลาดสำคัญ
3) การผลักดันและเร่งเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (FTA) เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ส่งออกไทย เช่น ปากีสถาน, อียิปต์, สหภาพยุโรป และ RCEP เป็นต้น 4) ผู้ประกอบการไทย ควรหมั่นตรวจสอบและสำรวจตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงและลดแรงกระทบจากความผันผวนจากสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad