ติงรัฐไม่จริงจังแก้ปัญหา PM2.5 นักวิชาการเรียกร้องคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญวันเด็ก - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563

ติงรัฐไม่จริงจังแก้ปัญหา PM2.5 นักวิชาการเรียกร้องคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญวันเด็ก

ติงรัฐไม่จริงจังแก้ปัญหา PM2.5 นักวิชาการเรียกร้องคืนอากาศบริสุทธิ์เป็นของขวัญวันเด็ก


PM2.5
ท้องฟ้ากรุงเทพมหานครในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเปลี่ยนเป็นสีเทาจากม่านหมอกมลพิษฝุ่น PM2.5 ที่ปกคลุมตัวหนา / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

ในขณะที่สถานการณ์มลพิษฝุ่น PM2.5 ในหลายพื้นที่ทางตอนบนของประเทศยังคงเลวร้ายต่อเนื่อง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชี้ มาตรการรับมือและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นควัน PM2.5 ของภาครัฐยังไม่เพียงพอที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชนจากมลพิษฝุ่น PM2.5 พร้อมเรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย เป็นของขวัญให้กับประชาชนในวันเด็กแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 10 มกราคม สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวเรียกร้องผ่านทางเฟสบุ๊คส่วนตัวให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจัง เนื่องจากมาตรการรับมือและแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ของภาครัฐในปัจจุบันยังขาดความชัดเจนในหลายประเด็น อีกทั้งยังไม่เข้มงวดพอที่จะลดการก่อมลพิษที่ต้นเหตุได้ เป็นเหตุให้สุขภาพอนามัยของประชาชนจึงยังตกอยู่ในความเสี่ยงจากมลพิษฝุ่นเรื้อรัง
โดย สนธิ กล่าวว่า แม้ว่าคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนปฎิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562 หากแต่การปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะแผนตอบโต้สถานการณ์ช่วงวิกฤตตามที่กำหนด ดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยขยับขับเคลื่อนเท่าที่ควร เพราะแม้ว่าที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้แจ้งเตือนหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกิน100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มค.ก/ลบ.ม.) แต่กลับพบว่าผู้ว่ากทม.และผู้ว่าราชการจังหวัด ยังบังคับใช้กฏหมายที่มีอยู่เพื่อเข้าควบคุมพื้นที่หรือควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 หรือ พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพ.ศ.2550 อย่างไม่เข้มงวดเท่าที่ควร
นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนมีความตื่นตัวต่อปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยจะเห็นคนที่เดินริมถนนใส่หน้ากากอนามัยน้อยมาก รวมถึงโรงเรียนหลายแห่งที่ยังปล่อยให้ทั้งเด็กเล็กและเด็กโตทำกิจกรรมวิ่งเล่นอยู่กลางแจ้ง ต่างจากปีที่แล้วที่มีกระแสฝุ่นมาแรง ทำให้ประชาชนตื่นตัวและป้องกันตัวมากกว่านี้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะหลายคนอาจจะเกิดความรู้สึกเคยชินว่าต้องอยู่คู่กับฝุ่นไปตลอดหรือเกิดจากความบกพร่องในการสื่อสารความเสี่ยงของหน่วยราชการ จนคนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงข้อมูล
เขายังวิพากษ์ว่า ภาครัฐยังคงมุ่งเน้นการดำเนินการตามแผนปฎิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ผ่านการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเป็นหลัก เช่น การรณรงค์ลดการเผาในที่โล่งในพื้นที่การเกษตร แต่มาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเมื่อมีปริมาณฝุ่น PM2.5 สูง กลับยังไม่ชัดเจน เช่น ไม่เห็นมาตรการการขอให้ลดค่าโดยสารของรถไฟฟ้าและรถบริการสาธารณะลงในช่วงเกิดวิกฤติฝุ่น เพื่อจูงใจให้ประชาชนลดการขับรถลส่วนตัว อันเป็นหนึ่งต้นกำเนิดมลพิษฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญ ยังไม่เห็นการจัดหาน้ำมัน Euro 5 มาจัดจำหน่ายแก่รถยนต์ในราคาที่ถูกลง ยังไม่มีการแจกหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM2.5 ให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ยังไม่เห็นการพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้าอย่างน้อย 3-5 วัน เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนระวังและป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ร้านค้าหรือสถานประกอบการให้ช่วยลดการก่อมลพิษฝุ่น เป็นต้น
สนธิ คชวัฒน์
สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย //ขอบคุณภาพจาก: Sonthi Kotchawat
“วันที่ 11 มกราคม 2563 เป็นวันเด็กแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจัดงานเพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยมีความสุข แต่อย่าลืมมอบของขวัญด้านสุขภาพให้เด็กด้วย ที่ทำได้ง่ายที่สุดก็คือการคืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติ หากท่านเห็นด้วยท่านต้องรีบ Take Action เพื่อลดฝุ่น PM2.5 โดยเร็ว” สนธิ กล่าว
อนื่ง จากข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษนับตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่า ณ วันที่ 11 มกราคม สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคงอยู่ในเกณฑ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือมีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ราย 24 ชั่วโมง สูงกว่า 50 มค.ก/ลบ.ม. ติดต่อกันเป็นวันที่ 5 แล้ว โดยมีค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงสูงสุดถึง 136 -145 มคก./ลบ.ม.
นอกเหนือจากพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สถานการณ์มลพิษฝุ่น PM2.5 ในหลายจังหวัดพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ยังคงสาหัสต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เช่น พื้นที่อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 ราย 24 ชั่วโมง สูงกว่า 50 มค.ก/ลบ.ม. ติดต่อกันเป็นวันที่ 6 โดยวัดค่าสูงสุดได้ถึง 84 มคก./ลบ.ม. เช่นเดียวกับ อ.เมือง จ.แพร่ มีค่าฝุ่นสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานเป็นเวลากว่า 6 วันแล้วเช่นกัน โดยวัดค่าสูงสุดได้ถึง 92 มคก./ลบ.ม.
ฉีดน้ำ
เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครกำลังฉีดน้ำเพื่อลดค่าฝุ่น PM2.5 ในอากาศ //ขอบคุณภาพจาก: สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.
ขณะที่ทางฝั่งรัฐบาล ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ได้สั่งการหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงคมนาคม ให้ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงเร่งแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง วันเด็กแห่งชาติ ที่ปัญหามลพิษฝุ่น PM2.5 อาจส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่จะมาร่วมงานวันเด็ก
ในการนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ศูนย์ประสานงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองและหมอกควัน (ศปฝ.คพ.) ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ให้เพิ่มความเข้มงวดมาตรการในการควบคุมฝุ่นละอองจากจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ในช่วงระหว่างวันที่ 10 – 11 มกราคม ดังนี้
  • ให้กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ยกระดับความเข้มงวดการตรวจสอบตรวจวัดไอเสียรถยนต์ ห้ามรถบรรทุกเข้าเขตกรุงเทพมหานครตามช่วงเวลาที่กำหนด
  • ให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เข้มงวดไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง /ดำเนินการควบคุมและลดฝุ่น จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการก่อสร้างประเภทอื่นๆ
  • ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม แจ้งกิจการโรงงานให้ลดกำลังการผลิตในช่วงสถานการณ์ฝุ่นละอองสูง และดำเนินการควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด
ส่วนด้านกรุงเทพมหานคร ก็ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางแฟนเพจเฟสบุ๊ค “สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.” เพื่อประชาสัมพันธ์ว่าทางกรุงเทพมหานครก็ได้มีการดำเนินงานตามแผนการรับมือสถานการณ์มลพิษทางอากาศแล้วเช่นกัน ดังนี้
  • ฉีดล้างถนน ต้นไม้ ป้ายรถเมล์ จุดพักขยะ ฯลฯ และฉีดพ่นละอองน้ำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อลดฝุ่นละอองสะสมในอากาศ
  • สร้างเครือข่ายและประสานความร่วมมือกับองค์กร สถานประกอบการ และเขตก่อสร้างในพื้นที่สำนักงานเขตต่างๆ ให้ดำเนินการฉีดล้างบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ล้อรถบรรทุก ฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคาร และปิดคลุมผ้าใบป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง
  • ตรวจจับรถยนต์ควันดำ ตรวจวัดมลพิษรถราชการ รถสาธารณะ และรถยนต์
  • เข้มงวดและควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะ และการเผาในที่โล่งแจ้งทุกประเภท
  • ให้ความรู้แก่ประชาชนในการช่วยกันลดมลพิษทางอากาศ ตลอดจนวิธีป้องกันดูแลรักษาสุขภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ที่มา:GreenNews

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad