PwC คาดปี 63 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ “ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์” - ข่าวเด่นวันนี้ | Today Highlight News

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563

PwC คาดปี 63 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ “ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์”

PwC คาดปี 63 เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ “ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์”

PwC คาดในปี 63 เศรษฐกิจโลกจะเข้าภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ โดยการค้าและการลงทุนทั่วโลกจะดำเนินไปในทิศทางที่ชะลอตัว และคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตประมาณ 3.4% หลังได้รับแรงหนุนจากภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลงและการพึ่งพาการบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทดแทนการส่งออกและการลงทุนที่ชะลอตัว ด้าน PwC ประเทศไทยคาดเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 3% โดยได้ปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ แต่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงเรื่องสงครามระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านว่า จะขยายวงกว้างมาก-น้อยแค่ไหน รวมถึงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงดำเนินต่อไปส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

          นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Global Economy Watch ฉบับล่าสุดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2563 คาดว่า จะเติบโตที่ 3.4% (ตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ หรือ Purchasing Power Parity: PPP) เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวของศตวรรษที่ 21 ที่ 3.8% ต่อปี โดย PwC คาดการณ์ว่า ปี 2563 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ (Slowbalisation) โดยได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดทางการค้าที่ยังคงเป็นความท้าทายต่อการจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานและการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในระยะต่อไป
          อย่างไรก็ตาม PwC คาดการณ์ว่า ภาคบริการจะยังคงเป็นดาวเด่นของการค้าโลก โดยคาดว่า มูลค่าของการบริการส่งออกทั่วโลกจะสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 212.56 ล้านล้านบาท) ในปี 2563 โดยสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกบริการชั้นนำของโลกและคาดว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะสามารถแซงหน้าฝรั่งเศสขึ้นเป็นอันดับที่ 4 ได้ในปีนี้
          แนวโน้มการค้าโลกยังเผชิญกับความไม่แน่นอน
          ทั้งนี้ ภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2563 ยังคงเป็นไปในระดับทรงตัว โดยเศรษฐกิจหลักของโลกจะได้รับแรงหนุนจากภาวะทางการเงินที่ผ่อนคลายลงและการพึ่งพาการบริโภคภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทดแทนการส่งออกและการลงทุน
          นาย บาร์เร็ต คูเพเลียน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ PwC ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า
          "โลกาภิวัตน์ได้เป็นตัวขับเคลื่อนปรากฏการณ์และทิศทางของเศรษฐกิจโลกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่ในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณของสินค้าที่ได้มีการซื้อขายกันทั่วโลกได้มีการชะลอตัวอย่างมากและเกือบเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีที่ผ่านมา ประกอบกับประเด็นเรื่องกลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) ที่ยังคงชะงักงันแม้จะได้มีการหารือไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปของการแก้ปัญหา ทำให้เราคาดว่า นี่จะเป็นประเด็นที่ท้าทายการค้าโลกในระยะต่อไป"
          "เป็นที่แน่ชัดว่า เรากำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ หรือ Slowbalisation โดยการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจและการค้ายังคงดำเนินต่อไปแต่จะเติบโตในอัตราที่ช้าลง โดยเมื่อเชื่อมโยงภาพของปริมาณการค้าและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน ทำให้เราคาดว่า จะเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2563"
          การจ้างงานเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมกัน
          นอกจากนี้ PwC ยังคาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) จะยังคงสร้างงานต่อไป โดยจะมีตำแหน่งงานใหม่เกิดขึ้นราว ๆ 2 ล้านตำแหน่ง โดย 4 ใน 5 ของตำแหน่งงานใหม่ในกลุ่ม G7 จะอยู่ในสหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่น ในขณะที่แหล่งทรัพยากรแรงงานในกลุ่ม G7 ค่อย ๆ ลดลง เราประเมินว่า ผลประกอบการจะยังคงอยู่ในภาวะขาขึ้น แต่การขาดการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตอาจจะทำให้อัตรากำขั้นต้นของบริษัทถูกบีบได้
          เช่นเดียวกัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization หรือ ILO) คาดว่า กลุ่ม E7 จะสร้างงานประมาณ 8 ล้านตำแหน่ง โดยไอแอลโอคาดการณ์ว่า การจ้างงานในกลุ่ม G7 จะมีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมระหว่างผู้ชายและผู้หญิง แต่การจ้างงานภายในกลุ่ม E7 ไอแอลโอคาดว่า การจ้างงานจะมีการกระจายตัวอย่างเท่าเทียมกันน้อยกว่าทั่วทุกเพศ
คาดอินเดียขยับขึ้นติด 1 ใน 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก
          ตามประมาณการล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund หรือ IMF) ระบุว่า ในปี 2562 อินเดียได้แซงหน้าอังกฤษและฝรั่งเศสขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของโลก และมีแนวโน้มว่า ในปี 2568 อินเดียจะแซงหน้าเยอรมนี และญี่ปุ่นก่อนปี 2073 ขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกเป็นอันดับที่ 3 รองจากจีนและสหรัฐฯ ขณะที่ฝรั่งเศสและอังกฤษจะแข่งกันเป็นอันดับที่ 6 โดยมีตัวแปรสำคัญคือ ค่าเงินปอนด์เทียบกับเงินยูโรซึ่งจะยังคงมีความผันผวนอยู่ในปี 2563
          การผลิตน้ำมันของสหรัฐอเมริกาเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตของโอเปก
          PwC ยังคาดการณ์ด้วยว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกจะมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของการใช้พลังงานทั่วโลก ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวและการปรับทัศนคติของภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และภาครัฐ
          ทั้งนี้ คาดว่า จีนจะเป็นผู้ใช้พลังงานประเภทนี้รายใหญ่ที่สุดของโลกตามมาด้วยยุโรป อย่างไรก็ตาม คาดว่า น้ำมันจะยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่มีการบริโภคมากที่สุดในปี 2563 ตามมาด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ โดยสหรัฐฯ และจีนจะยังคงเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้ จำนวนประชากรโลก-ผู้สูงอายุสูงสุดเท่าที่เคยมีมา ในปี 2563 คาดว่า จำนวนประชากรโลกจะสูงถึง 7.7 พันล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา โดย คาดว่าจีน อินเดีย และ แอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราจะช่วยผลักดันการเติบโตของประชากรโลกให้เพิ่มขึ้นกว่าครึ่งหนึ่งในทุก ๆ ปี ในขณะเดียวกันก็คาดว่า จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีทั่วโลกจะมีมากกว่า 1 พันล้านคน โดยจีนจะมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของโลก 6 แห่งรวมกันด้วย
          นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า "สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยปี 2563 ก็เช่นเดียวกัน เรากำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัวของโลกาภิวัตน์ไม่แตกต่างจากเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่า GDP ปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 3% โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว และแรงหนุนจากการลงทุนของภาครัฐ และการบริโภคภายในประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทุกคนต้องติดตามในปีนี้ คือ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านว่า จะยืดเยื้อและขยายผลออกไปในวงกว้างหรือไม่ นี่ยังไม่รวมถึงปัจจัยลบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจไปทั่วโลก และทำให้ค่าเงินบาทผันผวนอยู่ในเวลานี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่องในปีนี้"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad